เริ่มเปิดม่านขึ้นแล้ว สำหรับงาน Spring Meetings ของธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดย คริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการใหญ่ IMF ได้กล่าวสุนทรพจน์ โดยระบุว่า ความตึงเครียดด้านการค้าที่เพิ่มสูงขึ้นและการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบการค้าโลกจะนำไปสู่ ‘การปรับลด’ คาดการณ์เศรษฐกิจโลกของ IMF อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก (Global Recession) คาดว่าจะไม่เกิดขึ้น
จอร์เจียวายังกล่าวว่า เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ กำลังถูกทดสอบจากการเริ่มระบบการค้าโลกใหม่ ที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จากนโยบายภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ และการตอบโต้จากจีนและสหภาพยุโรป ส่งผลให้ความไม่แน่นอนในนโยบายการค้าและความผันผวนอย่างรุนแรงในตลาดการเงินเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด
ในเดือนมกราคม IMF คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกปี 2025 ไว้ที่ 3.3% และ 3.3% ในปี 2026 โดย IMF มีกำหนดจะเผยแพร่ World Economic Outlook ฉบับปรับปรุงในวันอังคารที่ 22 เมษายนนี้ ในงาน Spring Meetings ของธนาคารโลกและ IMF ที่จะจัดขึ้นในสัปดาห์หน้า
โดยนโยบายภาษีศุลกากรของทรัมป์ และความวุ่นวายในตลาดการเงินคาดว่าจะเป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงในการประชุมฤดูใบไม้ผลินี้ (Spring Meetings) ซึ่งเป็นการประชุมที่ผู้ว่าการธนาคารกลางและรัฐมนตรีกระทรวงการคลังทั่วโลกเข้าร่วมจำนวนมาก
จอร์เจียวากล่าวต่อว่า ความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นยังเพิ่มความเสี่ยงของความเครียดในตลาดการเงินอีกด้วย พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การเคลื่อนไหวล่าสุดในอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ควรถือเป็นสัญญาณเตือนว่า “ทุกคนต้องประสบปัญหา หากสภาพทางการเงินแย่ลง”
จอร์เจียวาระบุอีกว่า ภาคเศรษฐกิจจริง (Real Economy) ของโลกยังทำงานได้ดี โดยมีตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและระบบการเงินที่มั่นคง แต่เตือนว่า การรับรู้และความกังวลเชิงลบที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เช่นกัน
“สิ่งหนึ่งที่ฉันเรียนรู้จากช่วงวิกฤตคือ การรับรู้มีความสำคัญพอๆ กับความเป็นจริง” จอร์เจียวากล่าว “หากการรับรู้เปลี่ยนไปในทางลบ อาจส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพของเศรษฐกิจได้มาก”
เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้พลิกโฉมระบบการค้าโลกด้วยการประกาศภาษีศุลกากรใหม่จำนวนมาก รวมถึงภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) แม้ว่าภาษีศุลกากรเหล่านี้จะถูกระงับเป็นเวลา 90 วันเพื่อการเจรจา แต่จีน สหภาพยุโรป และประเทศอื่นๆ ได้ประกาศมาตรการตอบโต้
จอร์เจียวาไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับประมาณการใหม่ แต่เตือนว่าความไม่แน่นอนในระยะยาวจะมีต้นทุนและผลกระทบสูง นอกจากนี้ยังกล่าวว่า IMF ไม่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง เนื่องจากภาษีศุลกากรอาจผลักดันให้ราคาสินค้าของผู้บริโภคและผู้ผลิตสูงขึ้น หรืออาจทำให้ผู้คนชะลอการใช้จ่าย ซึ่งอาจทำให้เงินเฟ้อลดลงได้
อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ของ IMF ที่จะปรับปรุงใหม่จะแสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อในบางประเทศสูงขึ้น
ผู้นำ IMF ยังเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเงินต่อไป พร้อมยังคงนโยบายการเงินที่คล่องตัวและน่าเชื่อถือ ตลอดจนการกำกับดูแลและการควบคุมตลาดการเงินที่เข้มแข็ง
พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการร่วมมือในโลกที่มีหลายขั้วอำนาจเพิ่มมากขึ้น และร้องขอให้เศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดบรรลุข้อตกลงทางการค้า ที่รักษาความเปิดกว้าง มุ่งลดอัตราภาษีศุลกากรและลดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากรอีกครั้ง
“เราต้องการเศรษฐกิจโลกที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่ใช่การเคลื่อนตัวไปสู่การแบ่งแยก” จอร์เจียวากล่าว “ประเทศต่างๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ก็สามารถและควรมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างเศรษฐกิจโลกในยุคที่เกิด Shock บ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น”
อ้างอิง: