×

IMF เตือน โลกกำลังเข้าสู่ยุคแห่งความไร้เสถียรภาพครั้งใหญ่ เตรียมหั่นคาดการณ์ GDP โลกอีกครั้ง

07.10.2022
  • LOADING...
GDP โลก

ผู้อำนวย IMF เตือนว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุคแห่งความไร้เสถียรภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในเชิงปัจจัยพื้นฐาน เนื่องจากความกลมเกลียวระดับโลกเปราะบางและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ขณะเดียวกันยังได้เตือนแบงก์ชาติทั่วโลกว่าการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยนานขึ้น เผยอาจหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจโลกอีกครั้ง แม้จะปรับลดไปแล้ว 3 ครั้งในปีนี้

 

คริสตาลินา จอร์จีวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ส่งสัญญาณเตือนว่า โลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากภาวะถดถอยที่เพิ่มขึ้นและการเปลี่ยนแปลงเชิงปัจจัยพื้นฐาน จากที่เคยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อัตราดอกเบี้ยต่ำ และอัตราเงินเฟ้อต่ำ ไปสู่ยุคใหม่ของความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นจากความเปราะบางทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


“นี่จะหมายถึงความไม่แน่นอนที่มากขึ้น ความผันผวนทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น การเผชิญหน้าทางการเมือง และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่บ่อยครั้งและร้ายแรงขึ้น ซึ่งเป็นโลกที่ประเทศใดๆ ก็อาจถูกละทิ้งได้ง่ายและบ่อยขึ้น” จอร์จีวากล่าว

 

ทั้งนี้ ในมุมมองของผู้อำนวยการ IMF กล่าวว่า สถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกโดยรวมในขณะนี้ยังคงมืดมน และความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ IMF จำเป็นที่จะต้องตัดลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ 

 

ความเห็นดังกล่าวมีขึ้นระหว่างที่จอร์จีวาขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ โดยคาดว่าประเทศต่างๆ ที่มีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก จะประสบกับภาวะหดตัวอย่างน้อย 2 ไตรมาสติดต่อกันในปี 2022 หรือ 2023 ขณะเดียวกันแม้ว่าตัวเลขการเติบโตจะขยับไปในทิศทางบวก แต่ผู้คนก็อาจรู้สึกเหมือนอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากรายได้จริงที่ลดลงท่ามกลางราคาสินค้าและบริการที่แพงขึ้น 

 

นอกจากนี้ IMF ยังคาดการณ์ว่าโลกอาจสูญเสียผลผลิตทางเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ระหว่างปัจจุบันถึงปี 2026 โดยมูลค่า 4 ล้านล้านดอลลาร์นี้มีขนาดเทียบเท่ากับเศรษฐกิจของเยอรมนี นับเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจโลก 

 

รายงานระบุว่า หลังจากที่เศรษฐกิจทั่วโลกขยายตัวเติบโตได้ที่ระดับ 6.0% ในเดือนตุลาคม ปี 2021 ท่ามกลางการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งจากการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด นับตั้งแต่นั้น IMF ก็ปรับลดประมาณการลงอย่างต่อเนื่อง โดยสถาบันการเงินระดับโลกแห่งนี้ในปัจจุบันคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตที่ 3.2% ในปีนี้ และ 2.9% ในปี 2023

 

โดยจอร์จีวากล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวอาจปรับตัวลดลงอีกในรายงาน World Economic Outlook ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์หน้า

 

ทั้งนี้จอร์จีวากล่าวอย่างชัดเจนว่า เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ทั่วโลกต่างกำลังเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดเจน และกลายเป็นปัจจัยฉุดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตพลังงานในยุโรปท่ามกลางความตึงเครียดของสงครามในยูเครน วิกฤตหนี้ในอสังหาริมทรัพย์ของจีน และเงินเฟ้อสูงทุบสถิติของสหรัฐอเมริกา 

 

จอร์จีวาอธิบายว่า เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังอยู่ในความเปราะบางทางประวัติศาสตร์ที่ต้องฝ่าฟันวิกฤตต่างๆ ซึ่งรวมถึงโรคระบาดใหญ่ สงครามที่ยืดเยื้อในยูเครนเป็นเวลาหลายเดือน และคลื่นพายุที่รุนแรงของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ซึ่งทั้งหมดรวมกันเป็นเหตุให้ราคาสินค้าและบริการพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงจนน่าตกใจภายในเวลาไม่ถึง 3 ปี

 

ในขณะเดียวกันจอร์จีวายังเตือนถึงบรรดาธนาคารกลางทั่วโลกด้วยว่า การใช้นโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งสูงในเวลานี้ หากเร่งรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากเกินไป อาจส่งให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยลากยาวกว่าที่ควรจะเป็น 

 

โดยการเข้มงวดไม่เพียงพอจะทำให้อัตราเงินเฟ้อไม่ขยับและดื้อดึงอยู่ในระดับสูง  บีบให้จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตให้สูงขึ้นและใช้ดอกเบี้ยสูงให้ยาวนานมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะก่อให้เกิดอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อการเติบโตและความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อผู้คน

 

แต่ในทางกลับกัน ความเข้มงวดเชิงนโยบายการเงินที่มากเกินไปและเร็วเกินไป ก็อาจผลักดันให้เศรษฐกิจหลายประเทศทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยที่ลากยาวได้ 

 

โดยจอร์จีวายืนยันว่า โดยส่วนตัวแล้วเธอยังสนับสนุนให้รัฐบาลตอบสนองด้วยนโยบายการคลังแบบกำหนดเป้าหมายและชั่วคราว เพื่อช่วยสนับสนุนพลเมืองในประเทศที่เปราะบางที่สุด โดยไม่เพิ่มอัตราเงินเฟ้อโดยรวม และควรขยายไปสู่ตลาดเกิดใหม่และประเทศที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งเสี่ยงต่อการประสบปัญหาหนี้สินและความอดอยาก

 

จอร์จีวาให้มุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกว่า โดยรวมยังคงมีแนวโน้มที่จะแย่ลงมากกว่าที่จะดีขึ้น เนื่องจากปัจจัยไม่แน่นอนต่างๆ ยังมีสูงมากในบริบทของสงครามและการระบาดใหญ่ของโควิด ที่อาจทำให้เกิดภาวะช็อกอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising