IMF ระบุว่า ตลาด คริปโตเคอร์เรนซี และตลาดหุ้นเอเชียมีการเคลื่อนไหวสัมพันธ์กันมากขึ้น ทั้งผลตอบแทนและความผันผวน ย้ำรัฐบาลในเอเชียควรเร่งการกำกับดูแลคริปโต พร้อมเตือน หากทั้ง 2 ตลาดช็อก อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า ‘เอเชีย’ ถือเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เปิดรับสินทรัพย์คริปโต เนื่องจากมีผู้ให้การยอมรับเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็น นักลงทุนรายย่อย และนักลงทุนสถาบัน ทั้งจากอินเดีย เวียดนาม และไทย โดยสิ่งนี้ทำให้การบูรณาการคริปโตเข้ากับระบบการเงินของเอเชีย กลายเป็นประเด็นที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
แม้ว่าคริปโตช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการชำระเงินที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environmentally-conscious Payment System) และการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) ที่มากขึ้น แต่คริปโตก็อาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินได้เช่นกัน
การระบาดใหญ่ทำให้การยอมรับคริปโตเพิ่มขึ้น
ก่อนเกิดการระบาดใหญ่ ตลาดคริปโตดูเหมือนยังถูกปิดกั้นจากระบบการเงิน โดยจะเห็นได้ว่า บิทคอยน์และสินทรัพย์อื่นๆ มีความสัมพันธ์กับตลาดทุนในเอเชียเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การซื้อขายคริปโตได้เพิ่มสูงขึ้น เมื่อผู้คนนับล้านต้องกักตัวอยู่บ้าน และได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย
มูลค่าตลาดโดยรวมของสินทรัพย์คริปโตทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 20 เท่า ในเวลาเกือบ 2 ปีแตะระดับ 3 ล้านล้านดอลลาร์ ในเดือนธันวาคม ปี 2021 ก่อนจะร่วงลงเหลือน้อยกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือนมิถุนายน ปี 2022 เนื่องจากธนาคารกลางหลายประเทศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ
โดยการขาดทุนอย่างหนักในตลาดคริปโตอาจผลักดันให้นักลงทุนปรับสมดุลพอร์ตการลงทุน และอาจทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงิน หรือแม้กระทั่งเกิดการผิดนัดชำระหนี้แบบดั้งเดิมได้
ตลาดคริปโต-ตลาดหุ้นเอเชียมีความสัมพันธ์มากขึ้นหลังโควิด
ขณะที่นักลงทุนเอเชียแห่ลงทุนในคริปโต ความสัมพันธ์ระหว่างตลาดหุ้นในเอชียและสินทรัพย์คริปโตก็เพิ่มขึ้น โดยจะเห็นได้ว่าก่อนเกิดการระบาดใหญ่ ความสัมพันธ์ระหว่างผลตอบแทนและความผันผวนระหว่างบิทคอยน์และตลาดหุ้นเอเชียอยู่ในระดับต่ำ แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 2020
โดยปัจจัยที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างตลาดคริปโตและตลาดทุนเอเชียเพิ่มขึ้นอาจมาจากการยอมรับแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเพิ่มขึ้น และเครื่องมือการลงทุนในตลาดหุ้น การซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ และการยอมรับคริปโตที่เพิ่มขึ้น
IMF ยังพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างตลาดคริปโตและตลาดหุ้นเอเชียนั้น มาพร้อมกับการกระจายความผันผวน (Volatility Spillovers) ระหว่างตลาดคริปโตและตลาดหุ้นซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในอินเดีย เวียดนาม และไทย ซึ่งสะท้อนว่าสินทรัพย์ทั้ง 2 ประเภทนี้สามารถส่งต่อผลกระทบไปยังตลาดการเงินได้
ความจำเป็นในการกำกับดูแลคริปโต
IMF กล่าวอีกว่า รัฐบาลในเอเชียกำลังมีความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงจากตลาดคริปโตมากขึ้น เนื่องจากการยอมรับคริปโตยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นรัฐบาลในเอเชียจึงจำเป็นต้องพยายามแก้ไขช่องว่างด้านข้อมูล ซึ่งกีดกันไม่ให้หน่วยงานกำกับดูแลในประเทศและต่างประเทศเข้าใจถึงความเป็นเจ้าของการใช้ และส่วนร่วม (Intersection) ระหว่างคริปโตและภาคส่วนทางการเงินดั้งเดิม
โดยกรอบการกำกับดูแลคริปโตในเอเชียควรปรับให้เข้ากับการใช้งานหลักของสินทรัพย์ดังกล่าว และควรกำหนดแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับสถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแล รวมถึงพยายามให้ข้อมูลและปกป้องผู้ลงทุนรายย่อย
นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ กฎระเบียบและการกำกับดูแลคริปโตควรได้รับการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างเขตอำนาจของรัฐ (Jurisdictions)
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP