กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า มองเห็นสัญญาณเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของจีนแล้วจากข้อมูลล่าสุด และเชื่อว่าจีนจะสามารถเร่งการเติบโตในระยะกลางได้ หากดำเนินขั้นตอนในการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อปรับสมดุลจากการลงทุนไปสู่การใช้จ่ายของผู้บริโภคตามที่ได้มีการวางแนวทางไว้
Julie Kozack หัวหน้าโฆษก IMF กล่าวในการแถลงข่าวเป็นประจำวันว่า ทาง IMF ยังคงเชื่อมั่นว่าจีนจะสามารถเติบโตได้ประมาณ 5% ในปีนี้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลจีนได้ตั้งไว้ และการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จีนจะชะลอตัวลงประมาณ 3.5% ในระยะกลาง แต่จีนจะสามารถเร่งการเติบโตขึ้นมาได้ด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจ
ในส่วนของรายละเอียดการคาดการณ์ที่จะเกิดขึ้น โฆษกกล่าวว่า กองทุนจะเผยแพร่ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในระหว่างการประชุมประจำปีระหว่าง IMF กับธนาคารโลก (World Bank) ที่เมืองมาร์ราเกช ประเทศโมร็อกโก ในวันที่ 10 ตุลาคมนี้
ทั้งนี้ มุมมองล่าสุดของ IMF ที่มีต่อเศรษฐกิจค่อนข้างสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์จากหลายสำนัก ท่ามกลางความกังวลในเรื่องความสามารถในการฟื้นตัวของจีนจากการล็อกดาวน์ และการชะลอตัวครั้งใหญ่ของภาคอสังหาริมทรัพย์ส่งผลกระทบต่อความต้องการของผู้บริโภค
นอกจากนี้ จีนยังเผชิญปัจจัยท้าทายการเติบโตอย่างหนี้ค้างชำระจากโครงสร้างพื้นฐานที่กินเวลานานหลายทศวรรษ และบริษัทเอกชนที่อยู่ในภาวะตกต่ำก็ไม่เต็มใจที่จะลงทุน โดยนักวิเคราะห์บางรายมองเห็นว่า ความเสี่ยงที่จีนจะเข้าสู่ยุคที่ซบเซาเหมือนญี่ปุ่น เนื่องจากจำนวนประชากรสูงวัยและการเติบโตของผลผลิตที่ชะลอตัวกำลังเพิ่มขึ้น
การชะลอตัวของจีนทำให้ที่ปรึกษารัฐบาลบางคนในกรุงปักกิ่งเรียกร้องให้ทางการจีนมีการปฏิรูปเชิงลึก ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งสนับสนุนการใช้จ่ายของภาครัฐให้แข็งแกร่งมากขึ้นเพื่อสนับสนุนการเติบโต
Kozack ชี้ว่า หลังจากการชะลอตัวครั้งใหญ่นับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2023 “ข้อมูลล่าสุดมีการปะปนกันเล็กน้อย แต่มีสัญญาณของเสถียรภาพ” ทำให้ IMF คาดว่าการเติบโตของจีนจะชะลอตัวลงประมาณ 3-3.5% ท่ามกลางปัญหาด้านประชากรและการเติบโตของผลผลิตที่ชะลอตัว กระนั้น IMF ก็ยังมองว่าจีนจะมีการเติบโตที่สูงขึ้นในระยะกลางในอนาคตอันใกล้นี้ และจีนควรคว้าโอกาสในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัวจัดการปรับสมดุลเศรษฐกิจผ่านการสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจมหภาคระยะสั้นและการปฏิรูประยะกลาง
อ้างอิง: