Gita Gopinath รองกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่า ธนาคารกลางรายใหญ่มีแนวโน้มที่จะต้องคงอัตราดอกเบี้ยไว้สูงนานกว่าที่นักลงทุนบางคนคาดไว้มาก ก่อนเสริมว่า แม้ธนาคารกลางทั้งหลายจะดำเนินมาตรการสกัดเงินเฟ้อไปไม่น้อยแล้ว แต่จากมุมมองของ IMF ธนาคารกลางเหล่านี้ยังจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดต่อไป ซึ่งหมายรวมถึงการคงอัตราดอกเบี้ยระดับสูงอีกสักระยะหนึ่ง
ความเป็นไปได้ดังกล่าวจะสวนทางกับสิ่งที่บรรดานักลงทุนในตลาดคาดหวังไว้ก่อนหน้าที่ธนาคารกลางน่าจะเริ่มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ภายในสิ้นปี 2023
ความเห็นของรองกรรมการผู้จัดการ IMF มีขึ้นหลังจากที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพิ่งจะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมล่าสุดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ECB ในขณะนี้อยู่ที่ 3.5% ขณะที่ทางด้านธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) แม้จะระงับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินในเดือนนี้ ซึ่งแตกต่างจากท่าทีของ ECB อย่างไรก็ตาม Jerome Powell ประธาน Fed ก็ส่งสัญญาณชัดเจนว่า อาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 2 ครั้งภายในปีนี้
กระนั้น ผลสำรวจความเห็นของบรรดานักเศรษฐศาสตร์สหรัฐฯ ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นความคาดหวังที่ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ไปจนถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2024 ขณะที่นักวิเคราะห์ของโนมูระประเมินว่า ECB และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) น่าจะประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยประมาณ 1 ปีนับจากนี้
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ IMF กลับเห็นต่างออกไป เมื่อพิจารณาจากตัวเลขเงินเฟ้อในปัจจุบันที่บ่งชี้ชัดเจนว่า การลดอัตราเงินเฟ้อยังคงจำเป็นต้องได้รับความสำคัญสูงสุด โดย Gopinath กล่าวว่า น่าจะใช้เวลานานกว่าที่คาดการณ์กันไว้ กว่าที่อัตราเงินเฟ้อจะกลับสู่เป้าหมาย ซึ่งหมายความว่าธนาคารกลางจะต้องยังคงมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับเงินเฟ้อ ต่อให้จะต้องหมายถึงความเสี่ยงต่อการเติบโตที่อ่อนแอลง หรือตลาดแรงงานชะลอตัวลงมากก็ตาม
Gopinath ยังชี้ให้เห็นภาพของเศรษฐกิจมหภาคในปัจจุบันว่า เต็มไปด้วย ‘ความไม่แน่นอนอย่างมาก’ ซึ่งมีแนวโน้มที่เงินเฟ้อจะอยู่ในอัตราสูง และยากที่จะปรับตัวลดลงตามที่หลายฝ่ายคาดหวัง
ทั้งนี้ ในกรณีของ ECB ธนาคารกลางแห่งนี้เพิ่งจะปรับขึ้นคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศยูโรโซนในการประชุมครั้งล่าสุดในเดือนมิถุนายน โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 5.4% ในปีนี้ ก่อนลดลงมาอยู่ที่ 3% ในปี 2024 และ 2.2% ในปี 2025
ขณะที่นักวิเคราะห์ของ Goldman มองว่า Fed น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในไตรมาสที่สองของปี 2024 ส่วน ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสสุดท้ายของปีเดียวกัน
Frederik Ducrozet หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของ Pictet Wealth Management ชี้ว่า ปัญหาในขณะนี้ก็คือ ไม่มีใครรู้ว่าต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงเมื่อไรถึงจะเพียงพอต่อการปรับลดอัตราเงินเฟ้อ
ขณะเดียวกัน Mārtiņš Kazāks สมาชิกสภา ECB แสดงความเห็นว่า ตลาดกำลังคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไป และตลาดกำลังคิดผิดที่คิดว่าอัตราจะลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเจ้าตัวย้ำชัดว่าปีหน้ายังเร็วเกินไป และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะเป็นสิ่งที่จำเป็นก็ต่อเมื่อเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อลดลงต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางที่ 2% อย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่อง
วันเดียวกัน Christine Lagarde ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อยังคงสูง ดังนั้นจึงเร็วเกินไปที่ ECB จะประกาศชัยชนะเหนือเงินเฟ้อ
ความเห็นดังกล่าวมีขึ้นระหว่างที่ Lagarde เข้าร่วมงานของธนาคารกลางโปรตุเกส โดยประธาน ECB เชื่อว่า อัตราเงินเฟ้อในเขตยูโรสูงเกินไป และคาดว่าจะยังคงอยู่ระดับสูงนานกว่าที่คาดไว้ ท่ามกลางธรรมชาติของความท้าทายด้านเงินเฟ้อในเขตยูโรที่กำลังเปลี่ยนไป
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของยูโรโซนในเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 6.1% ลดลงจาก 7% ในเดือนเมษายนก่อนหน้า แต่ยังคงห่างไกลจากเป้าหมายของ ECB ที่ 2%
สถานการณ์เงินเฟ้อของยูโรโซนส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ซึ่งทำให้ต้นทุนพลังงานสูงขึ้นทั่วทั้งกลุ่ม อย่างไรก็ตาม แม้ต่อมาภายหลังราคาพลังงานจะลดลง แต่ราคาอาหารกลับปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก
Lagarde ชี้ว่า การจัดการเงินเฟ้อมีความคืบหน้าอย่างมาก แต่โดยรวมแล้วยังคงต้องเผชิญกับกระบวนการเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อมากขึ้น กระนั้น ECB ต้องหนักแน่นไม่หวั่นไหว และยังคงต้องเดินหน้าจัดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป
นอกจากนี้ Lagarde ยังระบุอีกว่า ขณะนี้ยังคงเร็วเกินไปที่จะกล่าวถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ตามที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งคาดหวัง เนื่องจากเกรงว่านโยบายที่เข้มงวดมากเกินไปอาจจะทำให้เศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวอย่างมาก พร้อมชี้ว่า ECB จำเป็นต้องสื่อสารให้ชัดเจนว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยระดับสูงตราบเท่าที่จำเป็น เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าความเคลื่อนไหวของ ECB จะไม่กระตุ้นให้เกิดความคาดหวังต่อการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายที่รวดเร็วเกินไป
ขณะเดียวกัน Lagarde ย้ำว่า ยังเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ที่ ECB จะสามารถระบุได้อย่างมั่นใจเต็มเปี่ยมว่า อัตราดอกเบี้ยถึงจุดสูงสุดแล้วในอนาคตอันใกล้นี้ ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่นโยบายของ ECB จำเป็นต้องได้รับการตัดสินใจ โดยขึ้นอยู่กับข้อมูลล่าสุดในช่วงเวลานั้นๆ
อ้างอิง: