×

‘IMF’ แนะจีนอัดฉีดเศรษฐกิจเพิ่ม! เน้นกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ขณะที่ สีจิ้นผิง ยันใช้นโยบาย ‘Zero-COVID’

16.10.2022
  • LOADING...
สีจิ้นผิง

ท่ามกลางการเตือนให้นานาประเทศใช้นโยบายรัดเข็มขัดทางการคลัง เฝ้าระวังเงินทุนเคลื่อนย้าย แต่สำหรับจีนแล้ว กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กลับมีคำแนะนำที่ต่างออกไป โดย IMF แนะนำให้จีนออกมาตรการทางการเงินและการคลังเพิ่ม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคในประเทศ ชี้ยังมีพื้นที่ทางการเงินและการคลังเหลืออยู่ ขณะที่สีจิ้นผิงยืนยันในที่ประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ว่า จีนจะเดินหน้าใช้นโยบาย ‘Zero-COVID’ ต่อไป แม้จะส่งผลกระทบเศรษฐกิจก็ตาม

 

สตีเวน บาร์เน็ตต์ ผู้แทนอาวุโสของ IMF ประจำจีน กล่าวในวันศุกร์ที่ผ่านมา (14 ตุลาคม) ว่าจีนยังคงมีพื้นที่ให้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่าธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้วก่อนหน้านี้ และรัฐบาลได้เพิ่มการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ไม่สูงมาก โดยดัชนีผู้บริโภค (CPI) ของจีนในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้น 2.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากเพิ่มขึ้น 2.5% ในเดือนสิงหาคม 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


“ผู้กำหนดนโยบายจีนควรให้ความสำคัญกับมาตรการสนับสนุนการบริโภคมากกว่าการลงทุน ซึ่งช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศแบบมีประสิทธิภาพกว่า และแม้ว่าจีนจะมีพื้นที่สำหรับนโยบายการเงินเหลืออยู่ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ แต่นโยบายการคลังคือกุญแจสำคัญมากกว่า” บาร์เน็ตต์กล่าวย้ำ

 

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 ซึ่งเริ่มต้นวันนี้ (16 ตุลาคม) สีจิ้นผิงได้อ่านรายงานฉบับยาว ทบทวนนโยบายรัฐบาลที่ผ่านมา พร้อมปกป้องยุทธศาสตร์โควิดเป็นศูนย์ (Zero-COVID Policy) ยืนยันว่าเป็นนโยบายที่ช่วยรักษาชีวิตประชาชน แม้ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ 

 

เจ้าหน้าที่ IMF กล่าวอีกว่า จีนน่าจะยกเลิกนโยบาย Zero-COVID ในครึ่งหลังของปี 2023 แม้กลยุทธ์ดังกล่าวจะกระทบเศรษฐกิจอย่างหนัก

 

“นโยบาย Zero-COVID ใช้ได้ผลดีกับจีนในปี 2020 และ 2021 แต่กลับทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างหนักในปีนี้ เนื่องจากธรรมชาติของสายพันธุ์โอมิครอนซึ่งแพร่เชื่อได้สูงมาก ทำให้เมืองใหญ่ๆ หลายแห่งรวมถึงเซี่ยงไฮ้ต้องตกอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์” บาร์เน็ตต์กล่าว

 

โดยตามประมาณการของ IMF ระบุว่า กลยุทธ์ Zero-COVID ของจีน ซึ่งประกอบไปด้วยการตรวจหาจำนวนผู้ติดเชื้อ คำสั่งกักตัวผู้ติดเชื้อและผู้ใกล้ชิด และมาตรการล็อกดาวน์ทั่วทั้งเมือง ได้ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ และเป็นส่วนให้การเติบโตของเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวเหลือเพียง 3.2% ในปีนี้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising