×

กูรูชี้ จีนต้องเร่งดันเศรษฐกิจให้โต 2 เท่า เพื่อบรรลุเป้าหมาย ‘ประเทศรายได้ปานกลาง’ ของ สีจิ้นผิง

17.10.2022
  • LOADING...
สีจิ้นผิง

ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง กล่าวย้ำอีกครั้งว่าจะทำให้จีนกลายเป็น ‘ประเทศรายได้ปานกลาง’ ภายในปี 2035 ซึ่งหมายความว่าจีนต้องเพิ่มขนาดของเศรษฐกิจเป็น 2 เท่าจากระดับปี 2020 ขณะที่นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งที่มองว่าการอยู่ครองอำนาจต่อไปของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ของจีน มีแนวโน้มจะทำให้จีนเผชิญกับปัญหาที่หนักหนาสาหัสมากขึ้น

 

สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนระบุเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (16 ตุลาคม) ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว (Per-Capita GDP) ของจีนจะมีการก้าวกระโดดครั้งใหม่และยิ่งใหญ่ เพื่อไปสู่ระดับของประเทศพัฒนาปานกลาง (Medium-Developed Country) ภายในปี 2035


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


แม้ว่าจะยังไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจนว่ารายได้ระดับใดที่จะเข้าเกณฑ์ประเทศพัฒนาปานกลาง แต่นักเศรษฐศาสตร์จาก UBS และ Macquarie Group กล่าวว่า เป้าหมายดังกล่าวหมายถึงการเพิ่ม GDP และรายได้ต่อหัว 2 เท่า ภายในปี 2035 โดยจีนต้องมีอัตราการเติบโตของ GDP เฉลี่ยประมาณ 4.7% ต่อปี ภายในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ระบุว่าเป็นเรื่องยากที่จีนจะบรรลุได้

 

Tao Wang และ Ning Zhang จาก UBS ระบุเมื่อวันอาทิตย์ (16 ตุลาคม) ว่า การเติบโตของจีนในทศวรรษนี้น่าจะเฉลี่ยที่ 4-4.5% ต่อปี และลดลงหลังจากปี 2030

 

ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์โดย Bloomberg คาดการณ์ว่า GDP จีนในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 3.3% เนื่องจากมาตรการควบคุมโควิดที่เข้มงวด และภาวะตกต่ำอย่างต่อเนื่องของตลาดอสังหาริมทรัพย์

 

ด้านนักวิเคราะห์ของ Morgan Stanley ก็ประมาณการว่า เป้าหมายการก้าวเป็นประเทศพัฒนาปานกลาง หมายความว่า GDP ต่อหัวของจีนจะต้องเพิ่มขึ้นเป็น 20,000 ดอลลาร์ จาก 12,500 ดอลลาร์ ในปี 2021

 

นักวิเคราะห์ของ Macquarie ตั้งข้อสังเกตอีกว่า การประกาศเป้าหมายดังกล่าวระหว่างงานเปิดประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชี้ให้เห็นว่าเป้าหมายนี้จะมีน้ำหนักมากกว่าเดิม และกลายเป็น ‘ข้อผูกมัด’ สำหรับผู้นำจีน ท่ามกลางความท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มขาลงของอสังหาริมทรัพย์ ประชากรสูงอายุ และความตึงเครียดกับสหรัฐฯ ดังนั้นหากผู้นำระดับสูงของจีนให้ความสำคัญกับเป้าหมายนี้อย่างจริงจัง พวกเขาอาจต้องมีจุดยืนเชิงนโยบายที่ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

 

ชี้เศรษฐกิจจีนเจอก้างชิ้นใหญ่ เหตุสีจิ้นผิงครองอำนาจต่อ

สถานีโทรทัศน์ CNN รายงานรวบรวมความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งที่มองว่าการอยู่ครองอำนาจต่อไปของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนมีแนวโน้มจะทำให้จีนเผชิญกับปัญหาที่หนักหนาสาหัสมากขึ้น

 

รายงานชี้ว่า ในช่วง 10 ปีที่แล้ว ที่สีจิ้นผิงก้าวขึ้นเป็นผู้นำจีนคนใหม่ จีนในเวลานั้นกำลังผงาดขึ้นเป็นดาวรุ่ง เห็นได้จากการที่ขนาดเศรษฐกิจเพิ่งจะแซงหน้าญี่ปุ่น และก้าวขึ้นมาเป็นอันดับสองของโลก โดยนับตั้งแต่ปี 2012 เศรษฐกิจจีนโตเฉลี่ย 6.7% กระทั่งผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยับขึ้นเกือบแตะ 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2021 ที่ผ่านมาคิดเป็นสัดส่วนถึง 18.4% ของ GDP

 

เมื่อไม่นานมานี้ นักเศรษฐศาสตร์บางคนคาดการณ์ว่าจีนจะกลายเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกภายในปี 2030 แซงหน้าสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวในเวลานี้ดูมีแนวโน้มความเป็นไปได้ที่น้อยลงมาก

 

นักวิเคราะห์มองว่า ขณะนี้ สีจิ้นผิง เตรียมพร้อมเพื่อครองอำนาจต่อไปเป็นสมัยที่ 3 เจ้าตัวก็ต้องเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ของบรรดาชนชั้นกลางที่จะเป็นตัวแปรสำคัญ หากสีไม่สามารถนำเศรษฐกิจกลับมาสู่เส้นทางเดิมได้ จีนต้องเผชิญกับนวัตกรรมและประสิทธิภาพที่ชะลอตัว พร้อมกับความไม่พอใจทางสังคมที่เพิ่มขึ้น

 

หลายฝ่ายมองว่า ประธานาธิบดีสี จำเป็นต้องมีโมเดลทางเศรษฐกิจใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจจีนเติบโต แต่ว่าความพยายามเปลี่ยนแปลงโมเดลเศรษฐกิจจีนของสีจิ้นผิงในขณะนี้ยังไปไม่ถูกทาง และกำลังเสี่ยงต่ออนาคตของธุรกิจของจีนด้วยการกำหนดกฎระเบียบควบคุมของรัฐที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น

 

สีจิ้นผิงในวัย 69 ปี เริ่มการปราบปรามเพื่อควบคุมธุรกิจเอกชนที่ ‘ไม่เป็นระเบียบ’ ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งเกินไป โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามแสดงความต้องการกระจายความมั่งคั่งในสังคมภายใต้เป้าหมาย ‘ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน’ พร้อมหวังให้เกิด ‘ความปกติใหม่’ ที่การบริโภคและบริการกลายเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของการขยายตัวมากกว่าการลงทุนและการส่งออก

 

แต่จนถึงตอนนี้ มาตรการเหล่านี้ได้ผลักดันให้เศรษฐกิจจีนกลายเป็นหนึ่งในวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 40 ปี

 

กล่าวได้ว่า ภายใต้การบริหารของสีจิ้นผิง ประเทศจีนไม่เพียงแต่มีความโดดเดี่ยวมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ปั่นป่วนมากขึ้นอีกด้วย อีกทั้งการที่ผู้นำจีนปฏิเสธที่จะประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย บวกกับการคุกคามไต้หวันเมื่อไม่นานนี้ อาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจีนกับสหรัฐฯ และพันธมิตรถ่างกว้างมากขึ้นไปอีก

  

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของนักวิเคราะห์มองว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจจีนในอีก 5 ปีข้างหน้า ที่มุ่งเน้นเรื่องของการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เข้มข้นของจีนอาจเป็นไปได้ยากมากขึ้น หากว่าความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ยังคงตึงเครียดอยู่เช่นในเวลานี้ เห็นได้จากสงครามการค้าและความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด บวกกับการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเมืองภายในของจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้เป้าหมายการพัฒนาเทคโนโลยีของจีนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไม่สามารถบรรลุเป้าตามที่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายรวมถึงจีนเองตั้งความหวังไว้

 

แม้ว่าจีนจะทำผลงานทางเทคโนโลยีที่ทำให้รู้สึกถึงได้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้จีนไปต่อได้ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักมองว่าประธานาธิบดีสีจิ้นผิงประเมินความท้าทายที่จีนต้องเผชิญในการก้าวข้ามและไม่พึ่งพาบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ต่ำเกินไป กล่าวคือ จีนในเวลานี้ต้องการความร่วมมือจากผู้ชำนาญการมากกว่าการแข่งขันเพื่อเอาชนะ ขณะเดียวกัน จีนก็ยังจำเป็นต้องพึ่งพากำลังการบริโภคจากตลาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศขับเคลื่อนต่อไปได้

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X