×

เมื่อตระกูลมาร์กอส หวังแก้ประวัติศาสตร์ของอดีตผู้นำเผด็จการ คนฟิลิปปินส์คิดอะไรอยู่?

25.08.2020
  • LOADING...
The Kingmakerอิเมลดา มาร์กอส ภรรยาม่ายของจอมเผด็จการโหดร้ายในตำนานของฟิลิปปินส์

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • ขณะที่ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ถูกตราหน้าบนหน้าประวัติศาสตร์ว่าเป็นปีศาจร้าย คนฟิลิปปินส์จำนวนหนึ่งกลับไม่คิดเช่นนั้น
  • เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงแรกๆ เขามุ่งพัฒนาพื้นที่ชนบทและการเกษตร จนมีฐานสนับสนุนที่แข็งแรงในกลุ่มคนต่างจังหวัดและเกษตรกร ก่อนที่เศรษฐกิจจะทรุดหนักในช่วงปลายของเขาแต่ผู้สนับสนุนยังปกป้องว่าเขาไม่ใช่ต้นเหตุ
  • คนที่สนับสนุน เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ส่วนหนึ่งคือคนที่ไม่ได้ตกเป็นเหยื่อหรือไม่มีคนใกล้ตัวถูกละเมิดสิทธิ พวกเขามองว่ากฎอัยการศึกจำเป็นเพื่อให้บ้านเมืองสงบ คิดว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว และเป็นเรื่องอดีตที่ไม่จำเป็นต้องพูดถึง
  • หลังระบอบมาร์กอสสิ้นสุด บ้านเมืองฟิลิปปินส์ยังคงสิ้นหวัง พวกเขาเชื่อว่านาทีนี้ผู้นำเผด็จการถึงจะแก้สารพันปัญหาได้อยู่หมัด จึงหวนหาผู้นำแบบ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส อีกครั้ง จึงได้ผู้นำอย่าง โรดริโก ดูเตร์เต ขึ้นมา แต่จนถึงตอนนี้ ดูเตร์เตก็ยังคงแก้ปัญหาหลายอย่างไม่ได้
  • ตระกูลมาร์กอสกำลังพยายามแก้ไขประวัติศาสตร์ไม่ให้คนมองพวกเขาเป็นตัวร้ายอีกต่อไป เพื่อเปิดทางให้ตัวเองกลับมาครองอำนาจอย่างสง่างาม ความพยายามนี้ดูเหมือนว่าสามารถโน้มน้าวคนฟิลิปปินส์ได้จำนวนไม่น้อย

หลายคนที่ได้ชมภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Kingmaker ที่บอกเล่าเรื่องราวของ อิเมลดา มาร์กอส ภรรยาม่ายของจอมเผด็จการโหดร้ายในตำนานของฟิลิปปินส์อย่าง เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส อาจจะแปลกใจกับฉากหนึ่งที่เด็กนักเรียนฟิลิปปินส์บอกเล่าจินตนาการสังคมในยุคมาร์กอสที่พวกเขาเกิดไม่ทัน บ้างก็ว่ายุคนั้นบ้านเมืองคงสงบเรียบร้อย บ้างก็ว่าผู้คนคงมีระเบียบวินัยดี บ้างก็ว่าประชาชนน่าจะอยู่ดีกินดี

 

เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส คืออดีตประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ที่ครองอำนาจยาวนานที่สุดตั้งแต่ปี 2508 จนถึงปี 2529 ในภาพจำของใครหลายคน มาร์กอสก็คือทรราชผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนและเข่นฆ่าประชาชนผู้เห็นต่างอย่างโหดร้ายภายใต้การประกาศใช้กฎอัยการศึกอันลือลั่นยาวนานเกือบทศวรรษ เขาถูกจดจำในฐานะนักคอร์รัปชันตัวพ่อผู้มีความสุขบนกองเงินกองทองที่คดโกงมาขณะที่ประชาชนอยู่อย่างแร้นแค้น

 

ภาพของรองเท้าแบรนด์เนมนับพันคู่ของภรรยาของเขาที่ถูกตรวจค้นเจอในบ้านพักยังคงแทงใจชาวฟิลิปปินส์อยู่ตลอดมา ว่านี่มาจากเงินของชาติบ้านเมือง มหกรรมการโกงบันลือโลกของเขาและครอบครัว บวกกับการบริหารประเทศที่ผิดพลาดยังกัดเซาะประเทศแบบมโหฬาร จนฟิลิปปินส์กลายร่างจากเสือเศรษฐกิจสู่เสือขี้โรคแห่งเอเชียอย่างที่รักษาไม่หายมาจนถึงตอนนี้ นี่เป็นบทเรียนที่มักจะถูกหยิบยกมาเตือนใจสังคมไทยอยู่บ่อยครั้ง

 

แต่ทว่า เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ผู้ที่โลกจารึกว่าเป็นหนึ่งในทรราชตัวพ่อ กลับดูเหมือนจะเป็นที่ชื่นชอบของคนฟิลิปปินส์จำนวนไม่น้อย แม้ตัวเขาจะล่วงลับไปตั้งแต่ปี 2533 แต่เครือญาติวงศ์วานของเขายังคงมีบทบาทและได้รับการสนับสนุนจากมวลชนจำนวนหนึ่งอยู่ อย่างในภาพยนตร์ The Kingmaker เราได้เห็นภาพของประชาชนต้อนรับคนในตระกูลมาร์กอสอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง พร้อมส่งเสียงเชียร์ดังกึกก้องเมื่อพวกเขาลงพื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการหาเสียงเลือกตั้ง 

 

 

 

สมาชิกตระกูลมาร์กอสได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นในการเลือกตั้งหลายครั้ง จนได้เข้าไปมีตำแหน่งแห่งหนบนเวทีการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ แม้หลายคนจะยังชำระสะสางคดีความของตัวเองไม่เสร็จสิ้นก็ตาม อีเมลดา มาร์กอส เคยชนะเลือกตั้งจนได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่หลายสมัย ไอมี มาร์กอส ลูกสาวของ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ก็เพิ่งจะได้รับเลือกตั้งให้เป็นวุฒิสมาชิกเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ บองบอง มาร์กอส ลูกชายคนเดียวของ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ก็เคยชนะเก้าอี้ผู้ว่าราชการจังหวัดอิโลคอส นอร์เต และยังเคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิกอยู่หลายสมัย เมื่อปี 2559 บองบองขยับสูงขึ้นไปชิงเก้าอี้รองประธานาธิบดี ถึงแม้เขาจะไปไม่ถึงฝั่งฝันเพราะพ่ายแพ้ให้กับ เลนี โรเบรโด แต่ก็แพ้เฉียดฉิวไปเพียงแค่ 2 แสนกว่าคะแนน เขาได้รับคะแนนเสียงครั้งนั้นถึงเกือบ 14 ล้านเสียง คิดเป็นร้อยละ 32 ของคะแนนเสียงทั้งหมด ถึงเขาจะแพ้แต่การได้คะแนนเสียงมากขนาดนี้บนสนามการเมืองระดับชาติ ก็บ่งบอกว่าคนฟิลิปปินส์ที่ชื่นชอบตระกูลมาร์กอสมีจำนวนอยู่ไม่ใช่น้อย  

 

ขณะที่ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ถูกตราหน้าบนหน้าประวัติศาสตร์ว่าเป็นปีศาจร้าย คนฟิลิปปินส์จำนวนมากกลับสวนกระแสเชิดชูเขาเป็นวีรบุรุษ ยิ่งไปกว่านั้นหลายคนทั้งที่เคยมีชีวิตอยู่ในยุคมาร์กอส และที่เกิดไม่ทันกำลังโหยหาอยากจะไปมีชีวิตใต้เงาเผด็จการแบบมาร์กอสอีกครั้ง เพราะอะไรชาวฟิลิปปินส์จำนวนไม่น้อยถึงคิดเช่นนี้ อะไรอยู่ในความทรงจำของพวกเขาที่มีต่อระบอบมาร์กอส

 

ยุคมาร์กอสคือยุคทองของเศรษฐกิจฟิลิปปินส์?

 

ระหว่างที่ศึกษาระดับปริญญาโทอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางในสิงคโปร์เมื่อปีที่แล้ว ผู้เขียนได้ลงเรียนวิชาสังคมและการเมืองของฟิลิปปินส์ ในบรรดาเพื่อนร่วมห้องที่มาจากหลายชาติ มีชาวฟิลิปปินส์ร่วมเรียนด้วยอยู่หนึ่งคน สัปดาห์หนึ่งเราเรียนกันมาจนถึงยุคของ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ในช่วงเวลาพักระหว่างคาบเรียน ผมได้คุยกับหญิงชาวฟิลิปปินส์คนนั้นที่นั่งอยู่ข้างกัน ช่วงหนึ่งในบทสนทนา เธอพูดขึ้นมาว่าเธอเกิดทันเห็นช่วงปลายๆ ของมาร์กอส บ้านเมืองตอนนั้นดีมาก เศรษฐกิจดีสุดๆ มาร์กอสเองก็พัฒนาฟิลิปปินส์ไว้เยอะ พอเขาไม่อยู่แล้วทุกอย่างมันก็แย่ลง นี่เป็นคำพูดที่สร้างความประหลาดใจให้ผู้เขียนไม่น้อย เพราะขัดกับความเข้าใจส่วนตัวแต่เดิมว่าคนฟิลิปปินส์น่าจะเกลียดมาร์กอสเข้ากระดูกดำ นั่นเป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนรับรู้ว่าคนฟิลิปปินส์ที่ชื่นชมมาร์กอสก็มีเหมือนกัน

 

หลังเรียนจบ ต่างฝ่ายต่างแยกย้ายกลับบ้านเกิด แต่ไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้โทรพูดคุยกับเพื่อนฟิลิปปินส์คนนั้นอีกครั้ง เราได้สนทนากันถึงเรื่องของ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส อีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้เธอลงรายละเอียดให้ฟังมา ปัจจุบันเธอมีอายุ 42 ปี กำลังรับราชการตำรวจ ในช่วงที่มาร์กอสครองอำนาจ เธอยังเป็นเด็กประถมฯ แต่เธอก็จำได้ดีว่าเธอมีชีวิตที่ดีและเรียบง่ายในตอนนั้น ครอบครัวของเธอก็เชียร์มาร์กอสกันทั้งบ้าน เธอบอกสิ่งที่เธอประทับใจในตัวมาร์กอสมากที่สุดก็คือความเป็นเจ้าพ่อโปรเจกต์ของเขา มาร์กอสริเริ่มโครงการพัฒนาที่สร้างประโยชน์มากมายโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกล เขาทำให้เกิดถนนหนทาง สาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ หลายพื้นที่ เธอบอกด้วยว่าในสมัยนั้นเกษตรกรเจริญรุ่งเรืองกันมาก เขาทำโครงการหลายอย่างที่ทำให้ข้าวมีราคาดี ชาวนาฟิลิปปินส์ปลูกข้าวได้เพิ่มขึ้นมากจนเลี้ยงคนได้ทั้งประเทศแถมยังส่งออกได้เยอะด้วย แต่เมื่อนึกถึงปัจจุบัน เธอพูดด้วยความสลดว่าทุกวันนี้กลับกลายเป็นว่าเราต้องนำเข้าข้าวจากไทยจากเวียดนามมากิน เธอบอกว่าเพราะอย่างนี้ มาร์กอสถึงได้เป็นที่รักมากในกลุ่มคนต่างจังหวัดและเกษตรกรที่ได้ประโยชน์จากนโยบายของมาร์กอส

 

ถึงเธอจะเป็นชาวมะนิลา แต่เธอบอกว่าเธอก็ได้ประโยชน์จากมาร์กอสเหมือนกัน ที่เธอจำได้ดีคือในตอนนั้นเธอมีอาหารโรงเรียนให้กินฟรีด้วยนโยบายของมาร์กอส เธอบอกด้วยว่าเธอชื่นชมอดีตสตรีหมายเลขหนึ่ง อิเมลดา มาร์กอส ที่ถูกสามีส่งไปเยือนประเทศต่างๆ เพราะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ฟิลิปปินส์ จนทำให้ประเทศของเธอมีตัวตนอยู่บนเวทีโลก นักลงทุนหลั่งไหลเข้ามา เธอไม่ได้ใส่ใจเรื่องราวฉาวโฉ่ของอิเมลดา อย่างรองเท้า กระเป๋าแบรนด์เนมจำนวนมหึมาจากภาษีประชาชนที่ถูกพบในบ้านพักของตระกูลมาร์กอส อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่าหลายคนในมะนิลาตอนนั้นดูจะไม่ชอบมาร์กอสนัก และสุดท้ายคนมะนิลาก็โค่นล้มมาร์กอส ที่คนต่างจังหวัดเลือกมา เข้าตำราสองนคราประชาธิปไตยในเวอร์ชันฟิลิปปินส์

 

คำพูดของเธอไม่ใช่คำพูดลอยๆ แต่ถือว่าสอดคล้องกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ เมื่อเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ประกาศนโยบาย ‘สังคมใหม่’ (New Society) ซึ่งมุ่งหวังจะพลิกโฉมฟิลิปปินส์จากประเทศที่มีความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และคอร์รัปชันสูง ไปสู่การเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้า ภายใต้วิสัยทัศน์สังคมใหม่ มาร์กอสทุ่มงบประมาณทำโครงการพัฒนาพื้นที่ชนบทมากมายจนได้ใจคนรากหญ้า เขายังโดดเด่นในเรื่องการพัฒนาภาคการเกษตร จนช่วงเวลานั้นขึ้นชื่อว่าคือการปฏิวัติเขียว (Green Revolution) ที่สำคัญครั้งหนึ่งของฟิลิปปินส์ เขามุ่งเน้นผลิตเพื่อให้คนฟิลิปปินส์ยังชีพและส่งออกได้ดี ราคาและผลผลิตการเกษตรงอกงาม เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ เศรษฐกิจยุคมาร์กอสนับว่าไปได้ดีโดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ของการครองอำนาจ

 

 

ชาวฟิลิปปินส์ที่สนับสนุน เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส อย่างเช่นเพื่อนผู้เขียนคนนี้มักจะบอกว่าเศรษฐกิจในยุคนั้นคือยุคทอง อย่างเพื่อนผู้เขียนในตอนนั้น เธอบอกว่าถ้าจะเรียกว่าฟิลิปปินส์ตอนนั้นคือมหาอำนาจของเอเชียก็ไม่ผิด บุคคลที่ดูจะเยินยอมาร์กอสหนักที่สุดหนีไม่พ้น บองบอง ลูกชายของเขา บองบองบอกว่าสมัยที่พ่อเขายังเป็นผู้นำอยู่ฟิลิปปินส์มีถนนเพิ่มขึ้นตั้งหลายไมล์ สิ่งก่อสร้างอะไรต่างๆ เกิดขึ้นเยอะมาก อัตราการอ่านออกเขียนได้ในตอนนั้นก็สูงสุดในเอเชีย ประเทศไปไกลมากในตอนนั้น เขาบอกด้วยว่าถ้าพ่อเขาไม่โดนไล่ไปเสียก่อน ป่านนี้ฟิลิปปินส์ก็เจริญเหมือนสิงคโปร์ไปแล้ว

 

ตรงกันข้าม ฝ่ายต่อต้านมาร์กอสบอกว่าเขาคือตัวทำลายเศรษฐกิจ ความเจริญที่เกิดขึ้นในช่วงแรกของระบอบมาร์กอสเริ่มถดถอยลงในช่วงหลังเพราะข้อบกพร่องในนโยบายของเขาเริ่มแผลงฤทธิ์ ฝั่งนี้มองว่าหลายๆ โครงการของมาร์กอสไม่ได้สร้างประโยชน์แบบยั่งยืน ทำเพื่อเอื้อต่อการคอร์รัปชัน และยังมาจากเงินกู้ยืมจำนวนมหาศาลจนทำให้ประเทศมีหนี้สาธารณะพุ่งบานตะไท ฝ่ายไม่เอามาร์กอสยังเอาตัวเลขเศรษฐกิจหลายๆ ตัวมากางโชว์ให้ดูว่าเศรษฐกิจย่ำแย่ลงขนาดไหนในยุคมาร์กอส พร้อมตอกย้ำว่าตัวเขาไม่สามารถแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ความเหลื่อมล้ำ หรือปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ ตามที่โฆษณาเอาไว้ได้เลย แต่ฝ่ายที่เอามาร์กอสก็มักจะเอาตัวเลขเศรษฐกิจชุดอื่นๆ มากางสู้ และมีการโต้ว่าที่เศรษฐกิจแย่ลงในช่วงบั้นปลายของยุคมาร์กอสเป็นเพราะเศรษฐกิจแย่กันทั่วโลกในตอนนั้น บ้างก็โทษไปว่าเป็นเพราะการเมืองวุ่นวาย ไม่ใช่เพราะมาร์กอสไม่มีความสามารถหรือบริหารผิดพลาดแต่อย่างใด

 

การทุจริตคอร์รัปชันมโหฬารของตระกูลมาร์กอสยังเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ฝ่ายตรงข้ามมาร์กอสหยิบยกขึ้นมาว่าเป็นต้นเหตุบ่อนทำลายเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ให้พินาศย่อยยับ ขณะที่คนเชียร์มาร์กอสหลายคนที่แม้จะยอมรับว่าการทุจริตมีจริง แต่ก็มีความคิดที่ว่ามันเป็นเรื่องที่ให้อภัยได้และอาจไม่จำเป็นต้องให้ความสนใจมากขนาดนั้น เพราะมาร์กอสก็ทำอะไรให้คนฟิลิปปินส์ไว้เยอะ บางคนพูดถึงขั้นว่าถือว่าเป็นรางวัลที่เขาทำให้ประเทศของเราก็แล้วกัน

 

 

กฎอัยการศึกคือความจำเป็น?

 

เมื่อพูดถึง เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ประเด็นที่มักจะถูกยกขึ้นมาพูดคู่กันหนีไม่พ้นการประกาศกฎอัยการศึกในช่วงปี 2515 ถึง 2524 กฎอัยการศึกให้อำนาจมาร์กอสล้นฟ้าล้นแผ่นดิน ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ตัวเขาขึ้นชื่อว่าเป็นเผด็จการเต็มรูปแบบ เขายกเหตุผลเรื่องภัยคอมมิวนิสต์และภัยก่อการร้ายจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทางตอนใต้ของประเทศ แต่หลายคนมองว่ามันคือข้ออ้างในการรวบอำนาจ ต่ออายุให้ตัวเองและใช้จัดการฝ่ายตรงข้ามเสียมากกว่า แต่อีกด้าน ฝ่ายที่เชียร์มาร์กอสบอกว่ากฎอัยการศึกตอนนั้นเป็นเรื่องจำเป็น เพราะฟิลิปปินส์กำลังมีภัยรอบตัว อย่างเช่นเพื่อนของผู้เขียน เธอบอกว่าเธอเห็นด้วยกับกฎอัยการศึก เพราะบ้านเมืองตอนนั้นกำลังวุ่นวาย แต่เธอก็เห็นว่าเอาเข้าจริงมาร์กอสก็ทำเกินไปหลายอย่างเพราะไปเล่นงานประชาชนแบบเกินเหตุ ซึ่งตรงนี้เธอก็ไม่ได้เห็นด้วยเท่าไรนัก เธอมองว่านี่ทำให้รัฐบาลมาร์กอสเข้าสู่ช่วงขาลงเต็มรูปแบบ

 

ภายใต้ช่วงเวลากฎอัยการศึก ประชาชนผู้เห็นต่างถูกเล่นงานจำนวนมาก กว่า 70,000 คนถูกจับกุม กว่า 30,000 คนถูกทำร้ายร่างกาย และกว่า 3,000 คนเสียชีวิต แต่คนฟิลิปปินส์ที่เชียร์ ฟอร์ดินานด์ มาร์กอส บางคนก็คิดว่าตัวเลขพวกนี้ถูกแต่งให้สูงเกินจริงเพื่อใส่ร้ายมาร์กอส ซ้ำร้ายกว่านั้นบางคนบอกว่าที่จริงแล้วไม่มีใครถูกสังหารด้วยกฎอัยการศึกเลย ขณะที่จำนวนมากก็ยอมรับว่าผู้ตกเป็นเหยื่อของกฎอัยการศึกมีอยู่จริงและเห็นใจเหยื่อเหล่านั้น แต่เพราะพวกเขาหรือญาติพี่น้องของพวกเขาไม่ได้ตกเป็นเหยื่อ พวกเขาจึงไม่ได้มองว่ามันเป็นเรื่องที่น่ากังวล และยังมองว่ามันเป็นเรื่องของอดีตที่น่าจะปล่อยผ่านมันไป

 

 

ชีวิตที่สิ้นหวังชวนให้หวนหาเผด็จการมาร์กอส

 

ความอดทนอดกลั้นของชาวฟิลิปปินส์หมดไป ประชาชนเรือนแสนรวมตัวกันขับไล่ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส เต็มถนน Epifanio de los Santos Avenue (EDSA) ถนนสายหลักกลางกรุงมะนิลาในปี 2529 การปฏิวัติด้วยพลังประชาชนครั้งนั้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อ EDSA Revolution ตระกูลมาร์กอสหนีระเห็จไปเกาะฮาวายของสหรัฐอเมริกา นับเป็นการปิดฉากระบอบมาร์กอสที่ครองประเทศยาวนานถึง 21 ปี ชาวฟิลิปปินส์หลายคนต่างวาดหวังถึงประเทศที่กำลังจะเจริญรุดหน้าอีกครั้งหลังหลุดพ้นเงื้อมมือทรราช แต่กลับกลายเป็นว่าฟิลิปปินส์ยังคงดำดิ่งในก้นเหว

 

ทุกวันนี้ฟิลิปปินส์ยังคงถูกเรียกขานว่าเป็นคนป่วยแห่งเอเชีย หลังมาร์กอสถูกโค่นลงไป ปัญหาหลายอย่างของฟิลิปปินส์ก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข หลายปัญหาก็ดูท่าจะทรุดหนักลงกว่าเดิม ความยากจนยังคงอยู่ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนยังคงถ่างกว้าง จากที่เคยปลูกข้าวยังชีพและส่งออกได้มหาศาล ทุกวันนี้ฟิลิปปินส์ต้องนำเข้าข้าว อาชญากรรมและยาเสพติดพุ่งสูง การก่อความไม่สงบในประเทศทั้งจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนและกลุ่มฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ก็ยังดำเนินอยู่ ผู้มีอิทธิพลและตระกูลการเมืองดั้งเดิมยังผูกขาดอำนาจหลายท้องถิ่น และคอร์รัปชันก็ยังแก้ไม่หาย

 

ชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากกล่าวโทษรัฐบาลยุคหลังมาร์กอสที่ทำงานไม่เอาถ่าน โทษว่าระบอบประชาธิปไตยแก้ปัญหาบ้านเมืองไม่ได้ ลามไปถึงการโทษ EDSA Revolution ที่ได้รับการยกย่องมาตลอดว่าเป็นชัยชนะของประชาชนว่านำมาสู่หายนะ ขณะเดียวกันพวกเขาก็เริ่มมองว่าผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาที่รุมเร้าชาติบ้านเมืองได้ 

 

จากผลสำรวจของ Pew Research ในปี 2560 พบว่าคนฟิลิปปินส์ถึงร้อยละ 50 สนับสนุนให้ชาติมีผู้นำลักษณะเผด็จการ ชาวฟิลิปปินส์จำนวนไม่น้อยจึงหวนหาอยากให้มีผู้นำแบบ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส อีกครั้ง สำหรับคนรุ่นหลังที่เกิดไม่ทันยุคมาร์กอส เมื่อพวกเขาเห็นสภาพบ้านเมืองที่สิ้นหวังมาตั้งแต่เกิด พวกเขาจึงหนีไม่พ้นการกล่าวโทษผู้นำยุคหลังจากมาร์กอสที่พวกเขาได้ทันเห็น และจินตนาการไปว่ายุคมาร์กอสน่าจะดีกว่านี้ ข้อความ ภาพ อินโฟกราฟิก และคลิปวิดีโอที่มีเนื้อหาเปรียบเทียบความเจริญและความสงบเรียบร้อยในยุคมาร์กอสเทียบกับความย่ำแย่ในยุคปัจจุบันเต็มว่อนอินเทอร์เน็ต ข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจถูกกางมาข่มเทียบให้เห็นว่ารัฐบาลมาร์กอสทำผลงานได้ดีกว่ารัฐบาลชุดไหนๆ ขณะที่ฝ่ายต่อต้านมาร์กอสก็จะโต้ว่าที่บ้านเมืองทุกวันนี้เป็นแบบนี้ไม่ใช่เพราะมรดกบาปที่มาร์กอสทำทิ้งไว้ให้รัฐบาลชุดหลังๆ ต้องมาตามล้างตามเช็ดหรอกหรือ

 

เพื่อนชาวฟิลิปปินส์ของผมคนนั้นยืนยันในความคิดตัวเองว่ามาร์กอส ไม่ใช่ต้นเหตุที่ทำให้ฟิลิปปินส์ตกต่ำ เธอชี้ความผิดไปที่ คอราซอน อากีโน หนึ่งในแกนนำของ EDSA Revolution ผู้ได้ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีหลังจากที่มาร์กอสถูกไล่ เธอบอกว่าอากีโนเป็นแม่บ้านที่ไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองเลย แต่กลับถูกยกขึ้นมาเป็นผู้นำเพียงเพราะบารมีของ เบนิกโน อากีโน สามีของเธอที่ถูกสังหารอย่างปริศนาโดยที่หลายคนเชื่อว่ามาร์กอสอยู่เบื้องหลัง เธอบอกว่าอากีโนบริหารประเทศไม่ได้เรื่องเลย ห่างชั้นกับมาร์กอสหลายขุม เธอบอกด้วยว่าที่ฟิลิปปินส์ถดถอยถึงทุกวันนี้ก็เป็นเพราะอากีโน ไม่ใช่เพราะมาร์กอส เธอยืนยันว่ามาร์กอสคือผู้นำที่ดีที่สุดที่ฟิลิปปินส์เคยมีมา

 

แม้คนฟิลิปปินส์จะปลุกผี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส กลับมาบริหารบ้านเมืองไม่ได้ แต่ก็ได้แสดงความใคร่หาผู้นำที่ค่อนไปทางเผด็จการด้วยการเลือกอดีตนายกเทศมนตรีขาโหดแห่งเมืองดาเวา โรดริโก ดูเตร์เต ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีด้วยคะแนนท่วมท้น ด้วยชื่อชั้นความสามารถที่เคยเปลี่ยนดาเวาจากเมืองอันตรายสู่เมืองที่ปลอดภัยที่สุดในประเทศได้สำเร็จ ดูเตร์เตได้รับการคาดหวังว่าจะเป็นวีรบุรุษขี่ม้าขาวมาฉุดฟิลิปปินส์ให้หลุดพ้นจากปัญหาต่างๆ ได้ แม้กระทั่งชาวกรุงมะนิลาที่เคยเป็นศูนย์กลางโค่นล้มระบอบมาร์กอสก็ยังเทคะแนนให้ดูเตร์เต แถมยังโหวตให้ บองบอง มาร์กอส เป็นรองประธานาธิบดีสูงกว่าคู่ชิงคนอื่นๆ เหตุเพราะคนมะนิลาเองก็ทนไม่ไหวกับสภาพในเมืองหลวงที่ย่ำแย่ ทั้งรถติด บ้านเมืองแออัดเสื่อมโทรม มลพิษรุนแรง และอาชญากรรมเต็มบ้านเต็มเมือง พวกเขาคิดถึงชีวิตเมืองหลวงในสมัยมาร์กอสที่ไม่มีรถติดและผู้คนก็มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมายกันดี อาชญากรรมก็ไม่ได้เยอะมาก จึงวาดหวังว่าดูเตร์เตจะเรียกเวลานั้นกลับคืนมาได้

 

ดูเตร์เตนับว่าเป็นผู้นำที่นำพาฟิลิปปินส์เข้าใกล้คำว่าเผด็จการที่สุดนับตั้งแต่มาร์กอส ลงจากตำแหน่ง ประธานาธิบดีภูธรคนนี้ใช้นโยบายแข็งกร้าวกำราบปัญหาบ้านเมืองทั้งการประกาศสงครามยาเสพติด และยังประกาศกฎอัยการศึกคล้ายกับสมัยมาร์กอส ต่างกันตรงที่ใช้ในพื้นที่เกาะมินดาเนาเท่านั้นด้วยเหตุผลเรื่องการก่อความไม่สงบของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน แต่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนก็พบว่ามีประชาชนในพื้นที่กว่า 8 แสนคนถูกละเมิดสิทธิ ดูเตร์เตเคยแง้มมาว่าอาจจะประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่เกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตาม คนฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่กลับสนับสนุนทั้งสงครามยาเสพติดและกฎอัยการศึก และคะแนนนิยมของดูเตร์เตก็ยังคงท่วมท้นอยู่ อย่างเพื่อนของผู้เขียน เธอบอกว่าเธอกาบัตรให้ดูเตร์เต และก็ชอบดูเตร์เตบริหารประเทศ เพราะเขาทำอะไรหลายอย่างคล้ายกับมาร์กอสมาก ดูเตร์เตทำให้เธอคิดถึงมาร์กอส

 

อย่างไรก็ตาม ดูเตร์เตก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาหลายอย่างในฟิลิปปินส์ได้หมดจด สงครามยาเสพติดยังไม่ช่วยให้ยาเสพติดหมดไป คอร์รัปชันก็ยังฝังรากลึกอยู่ ปัญหาสังคมหลายๆ อย่างยังไม่ได้ดีขึ้นตามที่เขาได้สัญญาไว้ นอกจากนี้รัฐบาลดูเตร์เตยังจัดว่าล้มเหลวในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 จนทำให้ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุดในกลุ่มชาติอาเซียน แม้เขาจะใช้มาตรการรุนแรงจนไปลิดรอนสิทธิมนุษยชนของชาวฟิลิปปินส์หลายคนก็ตาม ดูเตอร์เตเคยแสดงความท้อแท้โดยเปรยออกมาว่าเขาอยากจะลงจากตำแหน่งก่อนครบวาระ แต่ก็ไม่วายพูดว่า “มันคงจะดีถ้าคนที่รับไม้ต่อจากเขาเป็นเผด็จการเหมือนอย่าง เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ถึงจะเอาอยู่” จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนจำนวนมาก

 

 

ตระกูลมาร์กอสพยายามเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาขณะที่สื่อโซเชียลมีเดียกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในฟิลิปปินส์ ชาวเน็ตฟิลิปปินส์ก็ได้เห็นข้อความ รูปภาพ คลิปวิดีโอที่โน้มน้าวให้ชื่นชมอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส โฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ที่เคยถูกจัดสร้างขึ้นในยุคมาร์กอสได้กลับมาโลดแล่นแพร่หลายอีกครั้งบนโลกอินเทอร์เน็ต บัญชีผู้ใช้ทั้งในนามบุคคลและนามกลุ่มบนช่องทางโซเชียลต่างๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด บัญชีเหล่านี้พยายามแก้ต่างให้ระบอบมาร์กอส โยนบาปให้ขั้วการเมืองฝั่งตรงข้าม และต่อล้อต่อเถียงกับชาวโซเชียลฝ่ายตรงข้าม หลายบัญชีถูกพบว่าเป็นบัญชีอวตารที่ถูกสร้างขึ้นมาปั่นข้อมูลพวกนี้โดยเฉพาะ และดูจะทำกันอย่างเป็นระบบ จนเกิดข้อสงสัยกันว่าตระกูลมาร์กอสคือผู้อยู่เบื้องหลังกิจกรรมเหล่านี้หรือไม่

 

ความสงสัยนี้ได้รับการยืนยันโดย บริททานีย์ ไกเซอร์ อดีตพนักงานของ Cambridge Analytica บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลสุดอื้อฉาวระดับโลกที่โดนเปิดโปงเมื่อปี 2561 ว่าได้ช่วยเหลือบรรดานักการเมือง พรรคการเมืองและองค์กรการเมืองหลายแห่งเพื่อจูงใจหรือเปลี่ยนใจประชาชนให้สนับสนุนหรือเทคะแนนเสียงให้กับลูกค้า หนึ่งในนั้นก็คือทีมหาเสียงของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในการชิงชัยเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2559 ไกเซอร์เพิ่งออกมาแฉเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า บองบอง มาร์กอส ก็เป็นหนึ่งในลูกค้าของ Cambridge Analytica โดยเขาร้องขอให้บริษัทช่วยปรับภาพลักษณ์ของตระกูลมาร์กอสผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย นี่จึงสอดคล้องกับการเกิดขึ้นของบรรดาไอโอเชียร์มาร์กอสที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วบนโลกอินเทอร์เน็ต 

 

ขณะเดียวกัน Rappler สำนักข่าวออนไลน์ดังของฟิลิปปินส์ก็ได้สอบสวนปรากฏการณ์นี้ โดยพบว่าบัญชีผู้ใช้หรือแฟนเพจอวตารเชียร์มาร์กอสต่างๆ นานา เริ่มเกิดเป็นรูปเป็นร่างตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเวลาที่ตระกูลมาร์กอสเริ่มเคลื่อนไหวที่จะส่งบองบอง ลงชิงชัยเก้าอี้รองประธานาธิบดีในปี 2559 นี่จึงเดาได้ไม่ยากนักว่าตระกูลมาร์กอสทำอย่างนี้ขึ้นมาเพื่อจะเปลี่ยนให้คนฟิลิปปินส์ไม่จดจำว่าพวกเขาเป็นตัวร้ายอีกต่อไป ซึ่งจะช่วยกรุยทางให้พวกเขากลับสู่อำนาจอย่างสง่าผ่าเผยได้อีกครั้ง แน่นอนว่าตระกูลมาร์กอสออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดทันควัน

ถึงแม้บองบองจะชวดเก้าอี้ในการเลือกตั้งครั้งนั้น แต่หนทางสู่อำนาจของเขายังคงเปิดแง้มอยู่ เพราะยังคงมีดูเตร์เตที่กำชัยคว้าที่นั่งประธานาธิบดีได้ ดูเตร์เตได้รับการหนุนหลังจากตระกูลมาร์กอสให้นั่งเก้าอี้ผู้นำฟิลิปปินส์ หากบองบองได้รับเลือกเป็นรองประธานาธิบดีพร้อมกันในตอนนั้น ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าดูเตร์เตจะลาออกก่อนหมดวาระเพื่อส่งเก้าอี้ต่อให้เขา แต่กลับผิดแผนไปเสียก่อน หลายคนจึงมองว่าดูเตร์เตก็เป็นเหมือนคนปูทางให้ตระกูลมาร์กอสกลับสู่อำนาจ แต่ถึงดูเตร์เตจะยังส่งผ่านอำนาจให้บองบองไม่ได้ เขาก็ได้พยายามช่วยแก้ไขประวัติศาสตร์ให้กับตระกูลมาร์กอส เขาเคยประกาศให้วันที่ 11 กันยายน 2560 เป็นวันหยุดพิเศษของจังหวัดอิโลคอส นอร์เต บ้านเกิดของสมาชิกครอบครัวมาร์กอส เนื่องในโอกาสฉลอง 100 ปีชาตกาลของ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส พร้อมกับออกแสตมป์ที่ระลึกให้ด้วย และที่ฮือฮาที่สุดก็คือการอนุมัติให้ย้ายร่างของมาร์กอสไปฝังในสุสานวีรชน โดยไม่แยแสเสียงคัดค้านของคนฟิลิปปินส์จำนวนมาก ซึ่งเท่ากับว่าดูเตร์เตกำลังพยายามเปลี่ยนแปลงความทรงจำของชาวฟิลิปปินส์ให้รู้จัก เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ในฐานะวีรบุรุษของชาติ

 

ขณะเดียวกันสมาชิกตระกูลมาร์กอสเองก็แสดงความพยายามอย่างเปิดเผยที่จะเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา บองบองออกมาพูดอย่างไม่อ้อมค้อมว่าเขาต้องการให้ทบทวนแก้ไขตำราเรียนที่ฉายภาพพ่อของเขาเป็นผู้ร้าย เขาอ้างว่าข้อกล่าวหาหลายอย่างที่มีต่อพ่อและครอบครัวของเขาในช่วงเวลาที่ครองอำนาจอยู่ไม่เป็นความจริง หลายประเด็นไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ เขาทิ้งท้ายด้วยว่าครอบครัวเขาตกเป็นเหยื่อ และตำราเรียนเหล่านั้นก็กำลังโกหกเด็กๆ คำพูดของบองบอง ทำให้เกิดกระแสโต้กลับอย่างรุนแรงในหมู่ประชาชนฟิลิปปินส์หลายคนรวมไปถึงองค์กรต่างๆ 

 

(เฟอร์ดินานด์ เอ็มมานูเอล เอดราลิน มาร์กอส)

 

นอกจากนี้ บองบองยังเคยพูดว่าให้คนฟิลิปปินส์มูฟออนออกจากอดีต พร้อมบอกว่าเรื่องราวสมัยกฎอัยการศึกไม่น่าเอามาเป็นประเด็นแล้ว แต่ควรสนใจปัญหาในปัจจุบันอย่างเรื่องการจราจรติดขัดหรือการว่างงานดีกว่า สอดคล้องกับคำพูดของไอมี พี่สาวของเขาว่าขอให้คนที่โจมตีครอบครัวเธอก้าวข้ามเรื่องกฎอัยการศึกไปได้แล้ว นี่จึงเท่ากับว่าตระกูลมาร์กอสพยายามลบเลือนความทรงจำของคนที่มีต่อความโหดร้ายในช่วงเวลานั้น โดยที่ไม่เคยมีคำขอโทษใดๆ บองบองยังพูดย้ำหลายครั้งว่า “จะให้ผมขอโทษแทนพ่อเรื่องอะไรหรือ?”

 

ความพยายามเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ของตระกูลมาร์กอสยังคงดำเนินไปอย่างเข้มข้น และดูท่าจะประสบความสำเร็จได้ง่ายดายกว่าที่คิด ทุกวันนี้คนฟิลิปปินส์จำนวนไม่น้อยกำลังตกเป็นเหยื่อของประวัติศาสตร์แบบฉบับมาร์กอสที่เห็นได้ดาษดื่นบนโลกอินเทอร์เน็ต พวกเขาเริ่มเชื่อว่ามาร์กอส ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เคยเข้าใจมาตลอด

 

ถึงแม้หลักสูตรการศึกษาฟิลิปปินส์จะมีการสอนประวัติศาสตร์ในยุคมาร์กอส แต่ดูเหมือนว่าคนฟิลิปปินส์หลายคนกลับไม่ได้เรียนรู้ความผิดพลาดของชาติบ้านเมืองในช่วงเวลานั้น อันโตนิโอ คาลิปโค โก ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาของฟิลิปปินส์สำรวจหลักสูตรการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของฟิลิปปินส์แล้วพบว่าระยะเวลาเรียนเนื้อหาประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์รวบรัดมากจนไม่สามารถลงรายละเอียดได้ลึก รูปแบบการสอนมักเป็นเพียงพูดถึงเนื้อหาแบบผิวๆ เน้นท่องจำ แต่ไม่มีการอภิปรายถกเถียง หลักสูตรจึงไม่ได้เอื้อให้เกิดการถอดบทเรียนจากประวัติศาสตร์ ส่วนตำราเรียนหลายเล่มก็พูดถึงยุคมาร์กอสเพียงกะปริบกะปรอยหรือไม่ก็ไม่พูดถึงเลย โกให้ความเห็นว่าการให้ความรู้ประวัติศาสตร์ที่หละหลวมแบบนี้เป็นการเปิดช่องให้ประวัติศาสตร์ถูกเข้ามาแก้ไขหรือบิดเบือนอย่างง่ายดายเหมือนที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ตอนนี้

 

หากตระกูลมาร์กอสได้รับชัยชนะในการเปลี่ยนแปลงความทรงจำของคนฟิลิปปินส์ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาอาจไม่ใช่แค่ว่า เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส กลายเป็นวีรบุรุษ หรือตระกูลมาร์กอสได้กลับมาครองอำนาจสมใจอยาก แต่ที่น่ากลัวที่สุดคือความผิดที่ระบอบมาร์กอสไม่ว่าจะเรื่องคอร์รัปชันหรือการละเมิดสิทธิประชาชนอาจถูกฟอกขาวโดยสมบูรณ์  

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X