×

ผู้บริหาร IMD เตือนโลกกำลังเข้าสู่ยุคแห่งความไม่แน่นอน ชี้โจทย์ท้าทายของไทยคือ การเพิ่มผลผลิต และยกระดับการศึกษา

07.07.2022
  • LOADING...
IMD

Arturo Bris ผู้อำนวยการของศูนย์ IMD World Competitiveness Center ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวในงานสัมมนา Thailand Competitiveness Conference 2022 หัวข้อ ‘The World is Changing: What about Competitiveness’ โดยระบุว่า โลกในปัจจุบันกำลังอยู่ในยุคแห่งความไม่แน่นอน หรือ Era of Uncertainty ซึ่งต่างจากในอดีตที่ความเสี่ยงต่างๆ จะถูกพูดถึงในระยะ 3-5 ปี แต่ปัจจุบันอาจต้องดูกันเป็นหลักเดือน โดยการสำรวจล่าสุดของ IMD พบว่า ปัญหาในระยะข้างหน้าที่ผู้บริหารส่วนใหญ่มีความกังวลในขณะนี้คือ เงินเฟ้อ ภาวะสงคราม และภูมิรัฐศาสตร์

 

“มันเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาความเสี่ยงล่วงหน้าได้ในยุคปัจจุบัน มีปัญหาใหม่ที่พร้อมจะเกิดขึ้นเสมอ หากย้อนกลับไปดูผลสำรวจในช่วงปี 2019 จะพบว่าปัญหาที่คนส่วนใหญ่กังวลคือภูมิอากาศและภัยธรรมชาติ ไม่มีใครพูดถึงโรคระบาดและภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังเป็นเรื่องใหญ่ในปัจจุบันเลย” Bris กล่าว

 

Bris ระบุว่า ภายใต้ภาวะปัจจุบันสิ่งที่ผู้บริหารควรทำไม่ใช่การวางกลยุทธ์หรือกำหนดวิสัยทัศน์ล่วงหน้าหลายปี แต่ควรหันไปโฟกัสที่แท็กติกสำหรับรับมือกับปัญหาต่างๆ ในระยะสั้น มีการตอบสนองต่อวิกฤตที่รวดเร็ว อ่านสัญญาณเตือนต่างๆ ให้ออก และเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต 

 

นอกจากนี้ Bris ยังพูดถึงผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ทั่วโลกในปีนี้ของ IMD ซึ่งประเทศไทยมีอันดับลดลงถึง 5 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 33 จาก 63 เขตเศรษฐกิจ 

 

โดยในการจัดอันดับดังกล่าว ไทยมีอันดับลดลงในทั้ง 4 ปัจจัยชี้วัด ได้แก่ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ (Economic Performance) มีอันดับลดลงถึง 13 อันดับ อันเนื่องมาจากประเด็นการค้าระหว่างประเทศและเศรษฐกิจภายในประเทศ ในขณะที่ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) มีอันดับลดลง 11 อันดับจากอันดับที่ 20 ในปี 2021 เป็นอันดับที่ 31 ในปี 2022 เนื่องจากประเด็นด้านการคลังและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ ซึ่งลดลง 15 และ 8 อันดับตามลำดับ ส่วนด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ก็มีอันดับที่ลดลงเช่นกัน จากอันดับที่ 21 มาอยู่ที่อันดับ 30 โดยประเด็นด้านผลิตภาพและประสิทธิภาพยังคงเป็นปัญหาหลัก และมีอันดับลดลงถึง 7 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 47 ในปีนี้ ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) มีอันดับลดลง 1 อันดับ จากอันดับที่ 43 มาอยู่ที่อันดับ 44

 

Bris กล่าวว่า อันดับที่ลดลงของไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เนื่องจากในภาพรวมประเทศในเอเชียยังมีการฟื้นตัวที่ล่าช้ากว่าประเทศในยุโรป และสหรัฐฯ ที่เปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดก่อน 

 

“ในการจัดอันดับล่าสุด ฝรั่งเศสและสเปนมีอันดับที่ดีขึ้น แต่เมื่อมองไปข้างหน้าเชื่อว่าประเทศในยุโรปจะได้รับผลกระทบจากสงครามในยุโรป ทำให้มีโอกาสที่อันดับจะลดลงในการวัดผลครั้งต่อไป ตรงข้ามกับประเทศในเอเชียที่จะฟื้นตัวดีขึ้น โดยในส่วนของไทยเศรษฐกิจมีความเชื่อมโยงกับจีนอยู่พอสมควร หากจีนฟื้นตัวได้เร็วก็จะเป็นผลบวกต่อไทยไปด้วย” Bris ระบุ

 

Bris กล่าวอีกว่า ความท้าทายสำคัญของประเทศไทยในเวลานี้คือ การเพิ่มผลผลิต (Productivity) และการยกระดับการศึกษาให้สามารถผลิตคนที่มีทักษะตรงกับความต้องการของตลาด โดยการเพิ่มผลผลิตสามารถทำได้ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล การนำระบบออโตเมชันมาใช้งาน ขณะที่การศึกษาก็จำเป็นต้องพัฒนาหลักสูตรที่สอนทักษะซึ่งตอบโจทย์ของโลกสมัยใหม่

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising