“เรากำลังเป็นสักขีพยานในช่วงชีวิตบทสุดท้ายของดาวฤกษ์ และดวงอาทิตย์เราก็จะพบกับชะตากรรมเช่นนี้ในอนาคตอันไกลโพ้น” เป็นคำอธิบายของศาสตราจารย์ไมค์ บาร์โลว์ ผู้นำทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติ ที่ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ บันทึกภาพเนบิวลาวงแหวนในย่านอินฟราเรดแบบคมชัด
เนบิวลาวงแหวน หรือวัตถุ Messier 57 ตั้งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 2,500 ปีแสง ในกลุ่มดาวพิณ เป็นหนึ่งในวัตถุท้องฟ้าที่ได้รับความนิยมจากนักดาราศาสตร์และผู้ที่มีความสนใจ เนื่องจากสามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ทั่วไปบนพื้นโลก โดยปรากฏเป็นวงแหวนของฝุ่นก๊าซ อันเป็นที่มาของชื่อวัตถุดังกล่าวทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ (Ring Nebula)
วัตถุดังกล่าวเป็นเนบิวลาดาวเคราะห์ หรือ Planetary Nebula ซึ่งเป็นจุดจบของดาวฤกษ์มวลปานกลาง ที่ได้ยุบตัวลงเป็นดาวแคระขาว ณ ตรงกลางภาพ หลังจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันของดาวหยุดลง มีอุณหภูมิที่สูงกว่า 100,000 องศาเซลเซียส ส่วนเปลือกนอกและมวลสารที่หลงเหลือได้แผ่ขยายออกไปในอวกาศจนมีลักษณะคล้ายวงแหวนที่ล้อมรอบเช่นนี้
สำหรับภาพถ่ายล่าสุดจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ได้บันทึกรูปในย่านอินฟราเรดใกล้ และแสดงให้เห็นรายละเอียดที่ไม่เคยถูกสำรวจมาก่อน เช่น โครงสร้างของฝุ่นก๊าซที่แผ่ขยายออกไป และรายละเอียดพื้นที่โดยรอบของดาวแคระขาวที่ใจกลาง โดย อัลเบิร์ต ซิลส์ตรา อาจารย์ด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ระบุว่า “พวกเราตื่นตะลึงกับรายละเอียดของภาพถ่ายนี้ มันดีกว่าสิ่งที่เราเคยเห็นมาก่อน แม้เราจะทราบดีว่าเนบิวลาดาวเคราะห์นั้นสวยงามอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราเห็นในตอนนี้มันน่าทึ่งอย่างยิ่ง”
นอกจากความสวยงามของภาพถ่าย เนบิวลาวงแหวนยังเป็นแบบอย่างที่ชี้ให้เห็นชะตากรรมของดวงอาทิตย์ในอนาคตอันไกลโพ้น และ ดร.บาร์โลว์ เสริมว่า “การศึกษาโดยกล้องเจมส์ เว็บบ์ เปิดประตูให้เราทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าทึ่งเหล่านี้ และเราสามารถใช้เนบิวลาวงแหวนเป็นห้องแล็บสำหรับศึกษาวิวัฒนาการของเหล่าเนบิวลาดาวเคราะห์ได้เช่นกัน”
ปัจจุบันนักดาราศาสตร์ยังไม่เข้าใจกระบวนการและรูปแบบการแผ่ขยายของเนบิวลาดาวเคราะห์ได้มากนัก โดย ดร.นิค ค็อกซ์ หนึ่งในผู้นำทีมนักดาราศาสตร์ เปิดเผยว่า “ภาพถ่ายเหล่านี้ให้อะไรมากกว่าแค่ความสวยงาม คุณค่าทางข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์จากการศึกษาวิวัฒนาการดาวฤกษ์ผ่านเนบิวลาวงแหวนนี้ เราหวังว่าจะเข้าใจวัฏจักรชีวิตดาวฤกษ์และธาตุต่างๆ ที่ถูกปล่อยออกมาสู่เอกภพได้ดียิ่งขึ้น”
ส่วนดวงอาทิตย์เราในอนาคตอีก 5 พันล้านปีข้างหน้า จะเกิดการแผ่ขยายที่ส่วนนอกออกเป็นดาวยักษ์แดง ที่อาจกลืนกินโลกเข้าไปทั้งใบ ก่อนจะค่อยๆ เย็นลงและกลายเป็นฝุ่นก๊าซห้อมล้อม ส่วนแกนกลางที่ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันของดาวหยุดลง จะยุบตัวลงเป็นดาวแคระขาว คล้ายกันกับเนบิวลาวงแหวน
แต่น่าเสียดายที่ผู้อ่านใน ค.ศ. 2023 จะมีชีวิตอยู่ไม่ทันเห็นปรากฏการณ์สุดยิ่งใหญ่ในระบบสุริยะด้วยตนเอง
ภาพ: NASA / ESA / CSA
อ้างอิง: