นับถอยหลังสู่เส้นตายที่รัฐบาลขีดเส้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดสะสาง-ปิดจบขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนสู่ประเทศไทย ซึ่งต้นตอเท่าที่สืบได้เรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2564
ส่งผลให้มีเนื้อหมูมากถึง 42,000 ตัน กระจายทั่วประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ช่วงที่มีโรคระบาดในหมู
THE STANDARD รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง ‘หมูเถื่อน’ ตั้งแต่ต้นสายถึงปลายเหตุมานำเสนอไว้ดังต่อไปนี้
มกราคม 2564
- กรมศุลกากรพบคอนเทนเนอร์บรรทุกเนื้อหมูเข้าประเทศไทยผ่านการสั่งซื้อ 10 บริษัท 18 สายเรือ รวม 2,385 ตู้ น้ำหนัก 76,000 ตัน
NOTE:
- เนื้อหมู 1,685 ตู้ น้ำหนัก 42,000 ตัน ถูกกระจายทั่วประเทศแล้ว
- ปี 2564 คือช่วงที่มีการแพร่ระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) เนื้อหมูในประเทศขาดตลาด
มิถุนายน 2566
- DSI รับคดีหมูเถื่อนจากกรมศุลกากรเป็นคดีพิเศษ
กรกฎาคม 2566
- DSI ลงตรวจท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี พบคอนเทนเนอร์ 161 ตู้ ภายในบรรทุกเนื้อหมู ไม่มีเจ้าของมาแสดงตัว แต่เป็นคำสั่งนำเข้าจากบริษัทในไทย
กันยายน 2566
- ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งปราบหมูเถื่อนภายใน 2 เดือน
ตุลาคม 2566
- เจ้าหน้าที่เริ่มตรวจห้องเย็นทั่วประเทศ 2,210 แห่ง ประกอบด้วย ห้องเย็นที่ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์, ห้องเย็นที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม, ห้องเย็นที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการค้าภายใน, ห้องเย็นที่ขึ้นทะเบียนกับกรมประมง และห้องเย็นที่ไม่ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานใด
พฤศจิกายน 2566
- เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมด่วนก่อนไปประชุม APEC ทาง DSI แบ่งกลุ่มผู้ทำผิด
- บริษัทนำเข้า (จับกุมแล้ว 10 ราย)
- นายทุนสั่งหมูเถื่อน (จับกุมแล้ว 2 ราย)
- บริษัทห้องเย็น
- วันที่ 14 พฤศจิกายน นายทุน 2 รายให้การว่าขายหมูเถื่อนให้บริษัทรายใหญ่
- วันที่ 27 พฤศจิกายน DSI เข้าตรวจค้นโกดังของบริษัทแม็คโคร
- พบเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง 10 ราย
- วันที่ 28 พฤศจิกายน โยกย้าย พ.ต.ต. สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงยุติธรรม
- วันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ท่าเรือแหลมฉบัง พบคอนเทนเนอร์ 16 ตู้ ภายในบรรทุกเนื้อหมูตกค้างที่ท่าเรือ
ธันวาคม 2566
- วันที่ 1 ธันวาคม กรรมการบริษัทชิปปิ้งพบ DSI แสดงความบริสุทธิ์ใจ
- วันที่ 6 ธันวาคม ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และ สส. พรรคเป็นธรรม ยื่นข้อมูลเกี่ยวกับการปกปิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่ระบาดในปี 2564 อาจเกี่ยวพันกับหน่วยงานภาครัฐ อีกทั้งพบว่าช่วงที่ไทยประสบปัญหาเนื้อหมูหน้าเขียงขาดตลาด แต่กลับมีวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าใหญ่ และบริษัทส่งออกรายใหญ่ส่งออกเนื้อหมูเพิ่มขึ้น 400%
- วันที่ 7 ธันวาคม DSI ตรวจห้องเย็นในพื้นที่จังหวัดนครปฐม พบว่าเจ้าของโอนเงิน 220 ล้านบาทให้ผู้ต้องหากลุ่มนายทุน พบหมูเถื่อน 7 ตัน
- วันที่ 8 ธันวาคม DSI แถลงความคืบหน้าคดีแบ่งเป็น 2 ช่วง 10 คดี
ช่วงที่ 1 คดีหมูเถื่อน 161 ตู้
ช่วงที่ 2 คดีที่เอกชนสั่งหมูเข้าประเทศ มี 9 บริษัท
- วันที่ 17 ธันวาคม ตรวจสอบห้องเย็น 2 จุด เกี่ยวพัน 9 บริษัท เชื่อมโยงหมูเถื่อนอีก 10,000 ตู้ เมื่อปี 2564 วิเคราะห์ว่าขบวนการนี้คือ ‘องค์กรอาชญากรรมกลุ่มใหญ่’
- วันที่ 19 ธันวาคม ร.อ. ธรรมนัส ขีดเส้น DSI ต้องสรุปจบคดีหมูเถื่อนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566
- วันที่ 20 ธันวาคม ตัวแทนบริษัท เว้ลท์ซี่ แอนด์ เฮ็ลธ์ซี ฟูดส์ จำกัด เข้าพบ DSI ยืนยันการนำเข้าชิ้นส่วนสุกรถูกต้อง มีเอกสารครบถ้วน สินค้าที่ส่งให้กับแม็คโครไม่ใช่ชิ้นส่วนสุกรแช่แข็งเถื่อน และไม่ใช่นายทุนหมูเถื่อน
หมูเถื่อนในตู้คอนเทนเนอร์ 161 ตู้
- กรมศุลกากรพบคอนเทนเนอร์ปริศนา 161 ตู้ ไม่มีเจ้าของแสดงตัว แต่ทราบว่าคำสั่งนำเข้าจากประเทศไทย
- DSI ลงตรวจท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี พบข้อสงสัย 11 สายเรือ
สืบพบว่า: เรือบรรทุกเนื้อหมูจากต้นทางเมื่อถึงท่าเรือแจ้งว่าเป็นเนื้อปลาเพื่อผ่าน Green Line มีรถจากบริษัทห้องเย็นมารับส่งต่อผู้ค้าคนกลาง ขายต่อรายย่อยผ่านกลุ่มโซเชียล
- DSI รับเป็นคดีพิเศษ ‘คดีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นคดีพิเศษที่ 59/2566’
- มูลค่าสินค้ารวม 460,105,947.38 บาท
- มีบริษัทนำเข้าสินค้า (ชิปปิ้ง) เกี่ยวข้อง 11 บริษัท มี 4-5 แห่งเป็นบริษัทระดับประเทศ ออกหมายจับ 12 หมาย 8 บริษัท ยึดอายัดทรัพย์ 53 ล้านบาท
ห้างแม็คโครเกี่ยวอะไร?
- ชื่อเดิมคือบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ชื่อปัจจุบันคือบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน)
- 14 พฤศจิกายน 2 ผู้ต้องหากลุ่มนายทุนให้การว่าขายเนื้อหมูให้บริษัทรายใหญ่แห่งหนึ่ง
- 27 พฤศจิกายน DSI ตรวจค้นโกดังที่จังหวัดสมุทรสาครและพระนครศรีอยุธยา หาหลักฐานเชื่อมโยงหมู 161 ตู้ และขอเอกสารการซื้อขายหมูระหว่างบริษัท เว้ลท์ซี่ แอนด์ เฮ็ลธ์ซี ฟูดส์ จำกัด และบริษัท เดอะ กู๊ด ช็อป จำกัด 2 บริษัทที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีหมูเถื่อน
- แม็คโครชี้แจงว่าที่ทำการซื้อขายกับ 2 บริษัทเพราะเครื่องในหมู (ตับ) ไม่พอขาย รวมทั้งเนื้อชนิดอื่น รวมเวลาประมาณ 10 ปี มูลค่า 390 ล้านบาท แต่เลิกซื้อเมื่อปี 2566 เพราะพบว่าเนื้อหมูไม่ได้มาตรฐาน
- 4 ธันวาคม แม็คโครขอเลื่อนส่งเอกสารชี้แจงต่อ DSI
ผลกระทบจากขบวนการหมูเถื่อน
- สะท้อนเจ้าหน้าที่ละเลยการตรวจสอบ เอื้อประโยชน์มิจฉาชีพ
- กระทบระบบเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมสุกรในประเทศ
- แทรกแซงตลาด-ทุ่มตลาด
- ประชาชนบริโภคหมูไม่มีคุณภาพ
เรื่องนี้พาดพิงถึง
- นักการเมืองอักษรย่อ ป. / ผ. / ช.
- ผู้มีอิทธิพลในจังหวัดนครปฐม, สุพรรณบุรี, ราชบุรี, สมุทรสาคร และสมุทรปราการ
เรื่องนี้ขยายผลถึง
- การตรวจสอบเนื้อวัวภาคใต้ ลักลอบนำเข้าผ่าน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
อ้างอิง:
- THE STANDARD รวบรวมข้อมูล ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2566