ในหลายเหตุการณ์ที่น่ากังวลตั้งแต่ช่วงต้นปี 2568 อีกประเด็นที่กลายเป็นภัยใกล้ตัวประชาชน เมื่อพบว่ามีแอปพลิเคชันกู้เงินนอกระบบติดตั้งมาในสมาร์ทโฟนบางแบรนด์ โดยไม่สามารถลบหรือถอนการติดตั้งออกได้ กลายเป็นข่าวใหญ่ ร้อนถึงหน่วยงานรัฐต้องยื่นมือเข้ามาสืบหาความจริง
THE STANDARD ชวนย้อนที่มาที่ไปของเรื่องราว เพื่อร่วมกันติดตามและทำความเข้าใจภัยทางเทคโนโลยีครั้งใหม่นี้
- เพจ ‘คุณลุงไอที’ ประกาศแจ้งเตือนภัยผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ OPPO และ realme หลังพบความผิดปกติ เมื่อในโทรศัพท์มือถือ 2 แบรนด์นี้มีการติดตั้งแอปเงินกู้นอกระบบ ชื่อว่า ‘Fineasy’ และ ‘สินเชื่อความสุข’ ที่ติดตั้งมาเป็นซอฟต์แวร์ขั้นพื้นฐานพร้อมกับสมาร์ทโฟน
เพจคุณลุงไอทีตรวจสอบยืนยันด้วยการเปิดสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่แกะกล่องและพบว่ามีแอปดังกล่าวติดตั้งไว้แล้ว แอปถูกตั้งค่าให้เข้าถึงกล้องถ่ายรูปและข้อมูลติดต่อของโทรศัพท์เครื่องนั้นโดยไม่ได้ขออนุญาต
การตั้งข้อสังเกตดังกล่าวนำมาสู่ความกังวลของผู้ใช้เป็นวงกว้าง เพราะแอปมักติดตั้งมากับมือถือราคาถูกหรือมือถือเครื่องเก่า และอาจเป็นช่องทางของมิจฉาชีพในการเก็บข้อมูลของผู้ใช้งาน โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือของทั้ง 2 แบรนด์ที่มียอดขายจำนวนมากในประเทศไทย
- Fineasy เป็นแอปบริการทางการเงิน อำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมต่างๆ รวมถึงบริการสินเชื่อ เป็นของบริษัทเทคโนโลยีในสิงคโปร์ และมีบริษัทสัญชาติจีนถือหุ้นอยู่
ขณะที่แอปสินเชื่อความสุข เน้นบริการกู้ยืมเงินและสินเชื่อ โดยส่งแจ้งเตือนเชิญชวนผู้ใช้เข้ามาใช้งาน
ปัญหาสำคัญคือผู้ใช้ไม่สามารถถอนการติดตั้งแอปดังกล่าวได้ แม้ถอนการติดตั้งไปแล้ว เมื่ออัปเดตซอฟต์แวร์ แอปก็จะกลับมาอีก
ทางเพจคุณลุงไอทีทำคลิปแนะนำวิธีหยุดใช้งานแอปดังต่อไปนี้
- กดค้างที่แอป เลือก ‘ข้อมูลแอป’
- เลือก ‘สิทธิ’ และกดยกเลิกการเข้าถึงทั้งหมดของแอป
- กลับมาที่หน้าข้อมูลแอป กดเลือก ‘บังคับหยุด’ เพื่อหยุดใช้งานแอป
นอกจากนี้ สำหรับวิธีตัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของแอปมีดังนี้
- จากหน้าหลักของโทรศัพท์ ไปที่ ‘ตั้งค่า’ เลือก ‘การเข้าถึงเครือข่าย’
- ค้นหาชื่อแอปดังกล่าว แล้วเลือก ‘ปิดการเข้าถึงเครือข่าย’
- วันที่ 12 มกราคม 2568 สภาองค์กรของผู้บริโภคเรียกร้องให้ OPPO และ realme ชี้แจงว่าแอป Fineasy และสินเชื่อความสุข ติดตั้งมาบนอุปกรณ์ได้อย่างไร ภายในเวลา 3 วัน พร้อมขอให้ถอนแอปเถื่อนออกจากโทรศัพท์ในทันที เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคต้องตกเป็นเหยื่อซ้ำ และต้องไม่ให้เป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภคต้องเดินทางไปที่ศูนย์บริการ นอกจากนี้ ยังเรียกร้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการ
- ในวันเดียวกัน (12 มกราคม) ทั้ง OPPO และ realme ออกแถลงการณ์ผ่านสื่อโซเชียลต่อกรณีดังกล่าว
แถลงการณ์ของ OPPO สรุปได้ว่า OPPO ขออภัยในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับแอปที่ติดตั้งมาพร้อมกับสมาร์ทโฟน โดยทางบริษัทกำลังเร่งแก้ไขปัญหาและดำเนินการถอนแอปดังกล่าวออกจากระบบแล้ว นอกจากนี้ OPPO ยังได้หยุดการติดตั้งและแนะนำแอปประเภทสินเชื่อทั้งหมด เพื่อความปลอดภัยและความพึงพอใจของผู้ใช้งานทุกท่าน
ด้านแถลงการณ์ของ realme มีใจความสำคัญว่า ขออภัยในความไม่สะดวกที่เกิดขึ้น ยืนยันว่าบริษัทให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน โดยได้ลบข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อออกจากแอป Fineasy แล้ว และกำลังพัฒนาให้ผู้ใช้งานสามารถลบแอปนี้ได้เองในเร็วๆ นี้
- อย่างไรก็ตาม ล่าสุดวันนี้ (13 มกราคม) สภาองค์กรของผู้บริโภคเรียกร้องให้ OPPO และ realme เปิดเผยตัวจริงเบื้องหลังแอปกู้เงินเถื่อน Fineasy และสินเชื่อความสุข ที่ติดตั้งมาในสมาร์ทโฟน และแนะนำให้ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบชำระเฉพาะเงินต้น หากถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินหรือมีการทวงหนี้ที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งร้องเรียนผ่านสภาองค์กรของผู้บริโภค สายด่วน 1502 หรือเว็บไซต์ https://www.tcc.or.th/ เพื่อขอคำปรึกษาและความช่วยเหลือทางกฎหมาย
- ช่วงเช้าวันนี้ (13 มกราคม) ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น แอปเงินกู้ดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ต้องขอคำยืนยันจาก ธปท. อีกครั้งว่าจะเอาผิดได้หรือไม่
- ต่อมาในช่วงบ่าย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เชิญทั้ง 2 บริษัทคือ บริษัท โพสเซฟี่ กรุ๊ป จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ OPPO และบริษัท โปรทา จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ realme เข้าชี้แจง
ล่าสุดรักษาการเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ตัวแทนจากทั้ง 2 บริษัทกล่าวยอมรับไปในทิศทางเดียวกันว่า แอป Fineasy มีการติดตั้งมาจากโรงงาน ก่อนผ่านการอนุมัติมาตรฐานมือถือจาก กสทช. เพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้งานระบบแตะจ่ายอัตโนมัติ (NFC)
นอกจากนี้ ยังยอมรับด้วยว่า Fineasy เป็นแอปที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อผู้ได้รับใบอนุญาตให้สินเชื่อส่วนบุคคลอิเล็กทรอนิกส์จาก ธปท. เนื่องจากแอปไม่ได้มีลักษณะของแอปทางการเงิน ทำให้ไม่ทราบว่าต้องขออนุญาต
- หน่วยงานรัฐเดินหน้าสืบหาความจริงต่อเนื่อง โดย จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เรียกบริษัทสมาร์ทโฟนทั้ง 2 รายเข้าชี้แจงในวันพรุ่งนี้ (14 มกราคม) ร่วมกับผู้ประกอบการรายอื่น และอีกหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงการคลัง, กระทรวงดีอี, ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ กสทช. เพื่อหามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการถูกละเมิดสิทธิของผู้บริโภค
จากสถานการณ์ทั้งหมดที่ THE STANDARD รวบรวมมา เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการสืบหาความจริง ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าจะมีคำตอบให้กับคำถามต่างๆ หรือไม่ ทั้งเรื่องผู้ที่อาจอยู่เบื้องหลัง เรื่องการเก็บข้อมูลของผู้ใช้ ตลอดจนความวิตกกังวลของสังคมไทย จนเชื่อมโยงกรณีนี้เข้ากับขบวนการคอลเซ็นเตอร์ อันเป็นภัยร้ายคุกคามความปลอดภัยที่ใกล้ตัวประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ