วันนี้ (26 เมษายน) สืบเนื่องจากเฟซบุ๊กของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงาน กกต.) โพสต์ข้อความอ้างว่า ไม่สามารถจูงใจหรือชี้ชวนให้บุคคลมาสมัคร สว. ได้ และการกรอกข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งจุดยืนของตนเองให้เผยแพร่และปรากฏอยู่ในเว็บไซต์หรือสื่อสังคมออนไลน์ใดอาจมีความผิดทางกฎหมาย
ต่อมาโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ได้ศึกษาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 โดยละเอียดแล้ว ไม่พบว่ามีข้อห้ามดังกล่าวอยู่ในมาตราใดหรือบทใด
ส่วนข้อห้ามที่ใกล้เคียงกับเรื่องนี้ คือการวางเงื่อนไขเรื่องการ ‘แนะนำตัว’ ผู้สมัคร สว. ซึ่งกฎหมายเปิดทางให้ กกต. กำหนดเงื่อนไขได้ อย่างไรก็ดีระเบียบเกี่ยวกับการแนะนำตัวของผู้สมัครก็ยังไม่ได้ประกาศใช้และยังไม่มีผลบังคับใช้ แม้ว่า กกต. เคยประกาศว่าสำนักงาน กกต. จะส่งระเบียบดังกล่าวให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 23 เมษายน 2567 ก็ตาม
ทาง iLaw ได้โทรศัพท์ไปสอบถามเจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต. ที่หมายเลข 0 2141 8259 เมื่อเวลา 13.40 น. เจ้าหน้าที่ที่รับสายไม่เคยเห็นโพสต์เฟซบุ๊กดังกล่าวมาก่อน และไม่เข้าใจว่าการกระทำที่โพสต์ถึงนี้จะผิดกฎหมายใด
เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ว่าการชี้ชวนให้ผู้อื่นลงสมัคร สว. เป็นความผิดหรือไม่ เจ้าหน้าที่ตอบว่า ขึ้นอยู่กับว่ามีพฤติการณ์อื่นหรือไม่ เช่น มีการให้ทรัพย์สิน หรือสัญญาว่าจะให้หรือจัดเลี้ยง หรือหลอกลวง ข่มขู่หรือไม่ ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 77
เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ว่า การกรอกข้อมูลเผยแพร่จุดยืนบนเว็บไซต์เป็นความผิดกฎหมายใด เจ้าหน้าที่ก็แจ้งว่ากำลังจะมีการออกระเบียบเกี่ยวกับการแนะนำตัว ต้องสอบถามเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นว่าระเบียบดังกล่าวประกาศใช้หรือยัง ซึ่งน่าจะใกล้แล้ว เมื่อสอบถามให้ยืนยันว่าเมื่อไม่มีระเบียบก็ยังไม่มีกฎหมายใดห้ามใช่หรือไม่ เจ้าหน้าที่รับว่าใช่
ดังนั้น การที่เฟซบุ๊กของสำนักงาน กกต. และสำนักงานประชาสัมพันธ์ของ กกต. นำเสนอข้อมูลเชิงข่มขู่ประชาชนที่ทำกิจกรรมรณรงค์เรื่องการสมัคร สว. ว่าจะเป็นความผิด จึงไม่มีกฎหมายรองรับ และเป็นข้อมูลเท็จ ทุกคนสามารถตรวจสอบว่าในการลงสมัคร สว. ครั้งนี้สิ่งใดทำได้หรือไม่ได้ด้วยตัวเองได้ตามกฎหมายที่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว