×

ส.ว. ต้องมาจากเลือกตั้ง-นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. ไอลอว์และเครือข่าย ยื่นร่างแก้รัฐธรรมนูญ นัด 22 ก.ย. ยื่น 7 หมื่นรายชื่อ

16.09.2020
  • LOADING...

วันนี้ (16 กันยายน) จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และคณะ เดินทางมายังรัฐสภา เพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พร้อมแจ้งการรวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้สามารถรวบรวมได้จำนวนมากกว่า 70,000 ชื่อ เพื่อขอให้สภาผู้แทนราษฎร นำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว พิจารณาร่วมกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ที่ได้บรรจุในระเบียบวาระแล้ว โดยมี สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร มารับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

 

สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน มีสาระสำคัญคือยกเลิกและแก้ไขในประเด็นดังนี้ 

 

  1. ยกเลิกช่องทางในการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีคนนอก 
  2. ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ
  3. ยกเลิกแผนปฏิรูปประเทศ
  4. ยกเลิกที่มาของผู้บริหารท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และ
  5. ยกเลิกการรับรองอำนาจและการละเว้นความรับผิดของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 

 

สำหรับประเด็นที่เสนอให้แก้ไข คือ 

  1. ที่มาของนายกรัฐมนตรี ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น 
  2. ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน
  3. เปลี่ยนแปลงองค์กรอิสระเพื่อให้มีการสรรหาใหม่
  4. เปลี่ยนวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น โดยใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภาให้ความเห็นชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
  5. ในส่วนของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เสนอให้มีสมาชิกสภาร่างรับธรรมนูญ (สสร.) 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะสมัครแบบคนเดียวหรือแบบกลุ่มก็ได้ แต่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกได้เพียงกลุ่มเดียวเบอร์เดียว จากนั้นเอาคะแนนมาคำนวณที่นั่ง สสร. คล้ายกับการเลือกตั้งแบบระบบบัญชีรายชื่อ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

 

ขณะที่จอนกล่าวว่า นี่เป็นการแสดงเจตนารมณ์ครั้งสำคัญของประชาชนไทย รายชื่อหลายหมื่นชื่อหลั่งไหลมาอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 1 เดือนเศษ แสดงให้เห็นถึงความต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ โดยร่างของประชาชนฉบับนี้เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะรื้อถอนอำนาจเผด็จการออกไปอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิก ส.ว. แต่งตั้ง ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ รีเซตองค์กรอิสระทั้งหมด และกำหนดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของประชาชน 100% ที่ร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน 

 

“เราหวังว่ารัฐบาลและรัฐสภาจะมีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เพียงแก้ครึ่งๆ กลางๆ หวังลดแรงกดดันแต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญที่ล็อกการเมืองไทยทั้งหมดไว้ ดังนั้น เพื่อพิสูจน์ความจริงใจก็ควรนำร่างนี้หรือเจตนารมณ์ของประชาชนในการถอนพิษ คสช. อย่างถึงรากเข้าไปพิจารณาควบคู่กับร่างอื่นๆ ด้วย” จอน กล่าว

 

ด้าน จีรนุช เปรมชัยพร ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (รรธ.) ซึ่งประกอบด้วยองค์กรพัฒนาเอกชนหลายหน่วยงานที่ต้องการร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กล่าวว่า การยื่นรายชื่อประชาชนผู้ต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ครั้งนี้เป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น ยังมีบันไดอีกหลายขั้นกว่าจะผลักดันให้เรื่องนี้เป็นจริง ประชาชนจำเป็นต้องติดตามการทำงานของรัฐสภาอย่างใกล้ชิด และส่งเสียงดังๆ ตลอดเส้นทางเพื่อให้พวกเขาได้ยิน 

 

“เราเชื่อว่าประชาชนอดทนมามากเกินพอ และมีความต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ การเมืองใหม่อย่างยิ่งยวด ดูจากกระแสความตื่นตัวในการชุมนุมที่เกิดขึ้นทั่วประเทศยาวนานหลายเดือน การไม่ฟังเสียงประชาชนจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง ซึ่งจะสร้างความสูญเสียให้กับทุกฝ่าย” จีรนุช กล่าว 

 

ทั้งนี้ ไอลอว์แจ้งว่าจะมีการยื่นรายชื่อทั้งหมดแก่ประธานรัฐสภาในวันที่ 22 กันยายนนี้ โดยนัดหมายประชาชนที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT เตาปูน ทางออก 4 ในเวลา 13.00 น. แล้วเดินเท้าเป็นระยะทางราว 2.2 กิโลเมตรมายังรัฐสภา 

 

ด้าน สมบูรณ์ กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจาก ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้มารับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะรับร่างดังกล่าวเพื่อนำไปตรวจสอบความถูกต้องตามมาตรา 255 ต่อไป หากตรวจสอบแล้วมีความถูกต้อง จะส่งเรื่องกลับไปให้ผู้ริเริ่มเสนอกฎหมาย นำรายชื่อมาเสนอต่อสภาอีกครั้ง ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าสภายินดีให้บริการประชาชน และจะดำเนินการทุกอย่างตามกฎหมายและกระบวนการความถูกต้อง

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising