สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) เปิดเผยว่านักลงทุนต่างชาติยังคงลดการถือครองพันธบัตรจีนในเดือนมิถุนายน แต่ได้เพิ่มสถานะในการถือครองหุ้นและตราสารทุน สวนทางกับทิศทางทั่วไปของหุ้นในตลาดกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่เดินหน้าซบเซาตามตลาดหุ้นในสหรัฐฯ และยุโรป
IIF ได้ทำการประเมินในรายงานพบว่า ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีกระแสทุนมูลค่าถึง 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐไหลออกจากตลาดพันธบัตรและตราสารหนี้ของจีน ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ มีเงินไหลเข้าตลาดพันธบัตรรวมกันถึง 9.1 พันล้านดอลลาร์
หากได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ ความเคลื่อนไหวข้างต้นจะเป็นเดือนที่ 5 ที่มีทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ของจีนที่มีมูลค่า 20 ล้านล้านดอลลาร์
ขณะเดียวกันทาง IIF ยังพบว่า ตลาดหุ้นจีนเห็นการไหลเข้าของทุนจากต่างประเทศถึง 9.1 พันล้านดอลลาร์ เทียบกับการไหลออกจากตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ ที่มูลค่า 1.96 หมื่นล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจีนดีดตัวขึ้นมากกว่า 6% โดยได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการคลายล็อกดาวน์มาตรการสกัดโรคโควิดระบาดของรัฐบาลจีน
รายงานของ IIF ยังคาดการณ์ว่า ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ปัจจัยหลายประการจะส่งผลต่อพลวัตของทิศทางกระแสทุนในช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงสุด และแนวโน้มเศรษฐกิจจีนจะกลับมาอยู่ในแวดวงความสนใจของนักลงทุนทั่วโลกอีกครั้ง
รายงานระบุว่า นักลงทุนต่างชาติเริ่มส่งสัญญาณลดการถือครองพันธบัตรจีนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากนโยบายการเงินที่ผันผวน ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของจีนต่ำกว่าคู่สัญญาในสหรัฐฯ
ขณะเดียวกัน ด้วยนโยบายของธนาคารกลางจีน (PBoC) ที่ยังคงเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวจากการระบาดของโรคโควิด ทำให้ต้องรักษาอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ สวนทางกับแนวทางของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่มุ่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ มีความน่าสนใจมากกว่าจีน
อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่แล้วจีนได้ดำเนินการขั้นใหม่เพื่อดึงดูดนักลงทุนในตลาดพันธบัตรต่างประเทศ โดยให้คำมั่นว่าจะลดค่าบริการ ปรับปรุงการเข้าถึงการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในต่างประเทศ และปรับปรุงกระบวนการเปิดบัญชี
ยิ่งไปกว่านั้น จีนยังประกาศแผนสำหรับ ‘Swap Connect’ กับเขตปกครองพิเศษฮ่องกงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา อนุญาตให้สองฝ่ายเข้าถึงการซื้อขายแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยซึ่งกันและกัน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงแบบใหม่สำหรับนักลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ของจีน
ขณะเดียวกัน ทางด้านเว็บไซต์ Global Times ของทางการจีน รายงานอ้างแหล่งข่าวนิรนามวงในภาคการเงินอินเดียที่ออกมาเปิดเผยว่า สถาบันการเงินบางส่วนวางแผนที่จะขยายช่องทางการชำระเงิน ที่จะเปิดทางให้สามารถใช้สกุลเงินหยวนของจีนเป็นตัวกลางในการชำระเงินระหว่างอินเดียกับรัสเซียได้โดยตรง หลังจากที่มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะด้านพลังงานปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา
แหล่งข่าวระบุว่า สถาบันการเงินหลายแห่งในอินเดียกำลังดำเนินการตามแผนที่จะตรวจสอบการทำธุรกรรมเงินหยวนข้ามพรมแดนโดยตรงระหว่างบริษัทอินเดียและรัสเซีย ทำให้สามารถคาดการณ์ความเป็นไปได้ของการใช้เงินหยวนเพื่อการค้าระหว่างประเทศ ที่จะเติบโตอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาอันสั้น หากว่าสามารถใช้เงินหยวนเป็นสกุลเงินในการทำธุรกรรมระหว่างอินเดียและรัสเซียได้โดยตรง
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวคนดังกล่าวยอมรับว่า เนื่องจากไม่เคยมีการทำธุรกรรมทางการเงินด้วยเงินหยวนโดยตรงระหว่างบริษัทอินเดียและรัสเซียมาก่อน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาหาช่องทางใหม่ที่จะทำให้การทำธุรกรรมระหว่างประเทศด้วยเงินหยวนจากประเทศที่ไม่ใช่เจ้าของสกุลเงินดังกล่าวอย่างราบรื่น
ก่อนหน้านี้ ในช่วงวันที่ 29 มิถุนายน สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ทาง UltraTech Cement ผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ที่สุดของอินเดีย ได้ดำเนินการใช้เงินหยวนในการชำระเงินค่าการขนส่งถ่านหินจากผู้ผลิต SUEK ของรัสเซีย ผ่านสำนักงานสาขาในนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ด้านบรรดานักวิเคราะห์อุตสาหกรรมกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณถึงแนวโน้มความเป็นไปได้ที่สกุลเงินหยวนของจีนจะได้รับความนิยม และเป็นทางเลือกที่เชื่อถือวางใจได้นอกเหนือจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
คนวงในของสถาบันการเงินธนาคารอินเดีย กล่าวว่า สิ่งที่ภาคธนาคารอินเดียกำลังทำอยู่นั้นเป็นสิ่งใหม่ เป็นการทำธุรกรรมโดยตรงในสกุลเงินหยวนระหว่างบริษัทอินเดียและรัสเซียโดยไม่ต้องผ่านบุคคลที่สามหรือประเทศใดๆ ซึ่งอาจจะมีประสิทธิภาพมากกว่า
ทั้งนี้ ตามรายงานของ Center for Research on Energy and Clean Air (ศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศบริสุทธิ์) พบว่า หลังจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน การนำเข้าน้ำมันดิบของอินเดียจากรัสเซียเพิ่มขึ้นจากประมาณ 1% เป็น 18%
Dong Dengxin (ตงเติงซิน) ผู้อำนวยการสถาบันการเงินและหลักทรัพย์แห่งมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหวู่ฮั่น กล่าวกับ Global Times เมื่อวันพุธ (6 มิถุนายน) ที่ผ่านมาว่า ไม่มีปัญหาทางเทคนิคใดๆ กับการตั้งเงินหยวนสำหรับการค้าข้ามพรมแดนระหว่างรัสเซียและอินเดีย ซึ่งนอกจากจะเอื้อต่อการทำให้เงินหยวนเป็นสากลเท่านั้น แต่ยังช่วยสนับสนุนความยั่งยืนและความราบรื่นของการค้า ซึ่งเป็นวิธีการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงสำหรับองค์กร ในช่วงเวลาที่รัฐบาลสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะใช้สถานะและอิทธิพลของสกุลเงินดอลลาร์เป็นเครื่องมือเพื่อคว่ำบาตรผู้อื่นด้วยจุดประสงค์ทางการเมือง
ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งกล่าวว่า สกุลเงินดอลลาร์ของสหรัฐเป็นสกุลเงินผูกขาดของระบบการชำระบัญชีระหว่างประเทศทั้งหมด ทำให้สหรัฐฯ สามารถตรึงสินทรัพย์ขององค์กรได้ทุกเวลา โดยตงเติงซินระบุว่า ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว จีน รัสเซีย และประเทศอื่นๆ ต้องหาทางหลีกเลี่ยงความเสี่ยง พร้อมๆ กับหาวิธีการชำระเงินที่สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น หยวน เพื่อรักษาห่วงโซ่อุปทานและการค้าระหว่างประเทศ
อ้างอิง:
- https://www.channelnewsasia.com/business/foreigners-cut-china-debt-buy-equities-june-iif-2793001
- https://www.globaltimes.cn/page/202207/1269936.shtml
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP