×

ผู้นำองค์กรต้องนำร่องชวนพนักงานทำงานคู่ AI หากปรับตัวไม่ได้เตรียมตัว ‘สาบสูญ’

15.10.2023
  • LOADING...
คนยืนดูหุ่นยนต์นั่งทำงานในแลปท็อป

การเกิดขึ้นของ AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ ไม่ได้อยู่ๆ ก็เป็นแรงกระเพื่อมแบบฉับพลันทันด่วนในช่วง 1-2 ปีมานี้ตามความรู้สึกของใครหลายคนในสังคม แต่ค่อยๆ ก่อตัวเป็นคลื่นใต้น้ำมาพักใหญ่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บางคนได้ยินคำว่า ‘AI’ ก็ไม่ได้คิดว่าสิ่งนี้จะเข้ามาส่งผลกับตัวเองมากเท่าไร ไม่ว่าจะเรื่องชีวิตส่วนตัวหรือชีวิตการทำงาน 

 

จนชั่วพริบตาก็ได้ยินคำนี้กันทุกวงสนทนาตั้งแต่ตื่นจนหัวถึงหมอน เพราะ AI ได้เข้าไปมีอิทธิพลกับทุกสิ่งในโลกยุคดิจิทัล ต่อให้ไม่อยากทำความรู้จักก็ถูกบังคับให้รู้จักอยู่ดี ไม่ว่าคุณจะอยู่มุมไหนของโลก ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไร ก็ไม่มีวันหนีพ้น 

 

จนปฏิเสธไม่ได้ว่าวันนี้เราต้องปรับตัว ขยับลู่ทางไม่ให้ถูกกลืนกิน โดยต้องสามารถทำงานคู่กับ AI ให้ได้ 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้ง SEAC อธิบายว่า จากข้อมูลของ 2023 Work Trend Index: Annual Report พบว่า ผู้นำองค์กร 82% คาดหวังให้พนักงานมีทักษะใหม่ๆ สำหรับตั้งรับการเติบโตขึ้นของ AI แต่สิ่งสำคัญคือ ผู้นำองค์กรเองจำเป็นต้องเป็นผู้ที่กระตุ้นให้บุคลากรตระหนักและเปิดรับประโยชน์จากการใช้ AI ให้ได้ เพื่อรักษาศักยภาพในการแข่งขัน 

 

ยกตัวอย่างงานสายการตลาด หลายบริษัทชั้นนำในต่างประเทศเลือกที่จะทำโฆษณาเองแล้วค่อยส่งให้บริษัทเอเจนซีนำไปเผยแพร่ เพราะ AI ทำได้เก่งและเจ๋งกว่า ส่วนสายงานด้านการขายเองก็ต้องรีบปรับตัว เพราะ AI สามารถวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำกว่าพนักงานขายที่มีประสบการณ์เป็นสิบปี

 

เมื่อไม่นานมานี้ลูกน้องของอริญญาที่ทำงานฝ่ายไอทีเดินมาบอกตรงๆ ว่า เขากับทีมคุยกันว่า หากวันนี้เด็กจบใหม่นำ AI มาเขียน Coding ก็จะมีคุณสมบัติเท่ากับตัวเขาที่ทำงานด้านนี้มา 12 ปี หลังได้ฟังก็รู้สึกดีที่เขากล้ามาพูดแบบนี้ หมายความว่าเขาเริ่มรู้แล้วว่าเขาใช้ AI ไม่เก่ง และเกิดมายด์เซ็ตว่าการเขียน Coding ไม่จำเป็นต้องเอาคนมีประสบการณ์มากก็ได้ แต่จ้างเด็กที่เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัยที่ใช้ AI เป็นเข้ามาทำงานก็ได้ 

 

ตอกย้ำข้อดีของ AI ด้วยงานวิจัยของ McKinsey Global Institute ที่ระบุว่า องค์กรที่นำ AI มาใช้ในการทำงานจะสามารถเพิ่มผลผลิตได้ถึง 20%, งานวิจัยของ IBM ระบุว่า องค์กรที่นำ AI มาใช้ในการทำงานจะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 30% และงานวิจัยของ Gartner ระบุว่า องค์กรที่นำ AI มาใช้ในการทำงานจะสามารถเพิ่มรายได้ได้ถึง 25% 

 

นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างขององค์กรที่ประสบความสำเร็จจากการให้พนักงานทำงานคู่กับ AI เช่น บริษัท Amazon ได้นำ AI มาใช้ในกระบวนการจัดส่งสินค้า ทำให้สามารถจัดส่งสินค้าได้รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น, บริษัท Netflix ได้นำ AI มาใช้ในระบบแนะนำภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ ทำให้สามารถแนะนำภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ที่ตรงกับความสนใจของผู้ใช้มากขึ้น และบริษัท Tesla ได้นำ AI มาใช้ในระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ทำให้รถยนต์สามารถขับขี่ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

จากสถิติและงานวิจัยข้างต้นแสดงให้เห็นว่า องค์กรที่ให้พนักงานทำงานคู่กับ AI จะสามารถเกิดผลลัพธ์ที่ดีทั้งด้านประสิทธิภาพในการทำงาน ค่าใช้จ่าย และรายได้

 

นอกจากผลลัพธ์ด้านประสิทธิภาพในการทำงาน ค่าใช้จ่าย และรายได้แล้ว องค์กรที่ให้พนักงานทำงานคู่กับ AI ยังสามารถเกิดผลลัพธ์ที่ดีในด้านอื่นๆ เช่น พนักงานมีทักษะและความรู้ที่เพิ่มขึ้น พนักงานมีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น และองค์กรมีวัฒนธรรมการทำงานที่ดีขึ้น

 

จากประสบการณ์ของอริญญาและองค์กรชั้นนำ สามารถสรุปแนวทางในการพาองค์กรปรับตัวทำงานร่วมกับ AI ได้ 5 ข้อ ดังนี้

 

  1. ตั้งกติกาแรกเริ่ม พร้อมให้ตัวอย่างเครื่องมือและคำแนะนำ: เริ่มต้นจากการให้คำแนะนำกับพนักงานว่าเครื่องมือชนิดใดที่ควรลองนำไปใช้ ควรใช้กับเรื่องใด และไม่ควรใช้กับเรื่องใด ทั้งนี้ ต้องยกตัวอย่างประกอบเพื่อให้เห็นภาพจากการที่มีผู้ใช้ AI ชนิดนั้นแล้วประสบความสำเร็จ 
  2. สร้างพื้นที่การทดลองใช้และช่องทางแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน: ไม่มีองค์กรใดที่จะผันเปลี่ยนตัวเองให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในงานใดงานหนึ่งได้ภายในข้ามคืน หมายความว่าความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นจากการลงมือทำเพียงครั้งเดียว ผู้นำองค์กรจำเป็นต้องสร้างโอกาสการเรียนรู้และการแบ่งปันลงในกระบวนการทำงาน สร้างสภาพแวดล้อมให้คนอยากทำสิ่งที่สนใจที่สุดคู่กับ AI เพื่อนำไปแบ่งปันเส้นทางการลองผิดลองถูกกับคนอื่นต่อ และส่งเสริมให้พนักงานรู้สึกสะดวกใจที่จะแสวงหาเครื่องมือจากกันและกัน
  3. กำหนดแผนหลวมๆ แต่มีเป้าหมายที่ชัดเจน: เราทุกคนเริ่มต้นจับพลัดจับผลู งมหาเครื่องมือต่างๆ เพื่อเรียนรู้ว่าอะไรเป็นไปได้ และสิ่งไหนคือโอกาสที่ควรรีบคว้าเอาไว้ ผ่านการเริ่มใช้เครื่องมือฟรีก่อนที่จะเลือกตัดสินใจลงทุนใช้งบประมาณซื้อเครื่องมือที่เข้ากับการทำงานนั้นๆ สิ่งสำคัญคือ ผู้นำต้องมีความตั้งใจที่แน่วแน่ในการเลือกสิ่งที่ดีที่สุด หรือการทำโครงการนำร่องเพื่อให้วิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้บรรลุผลได้ 
  4. สื่อสารความคาดหวังและประโยชน์ที่จะได้: ผู้นำองค์กรต้องอธิบายประโยชน์และผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นต่อการทำงานรายบุคคลและทั้งองค์กรจากการใช้ AI เน้นย้ำว่า AI สามารถยกระดับผลิตผลของงานได้อย่างไร ทั้งยังต้องให้พนักงานฝึกฝนซ้ำๆ ป้อนข้อมูลเชิงลึก และสร้างโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ
  5. ใช้ตัวอย่างกรณีศึกษาเป็นตัวนำ: ผู้นำจำเป็นต้องแบ่งปันประสบการณ์ และระบุถึงคุณค่าของการใช้ AI อย่างไร พร้อมอธิบายถึงการผนวกเอาเครื่องมือ AI มาใช้ในกระบวนการทำงานของตัวเอง แบ่งปันเรื่องราวที่ทำสำเร็จ และเน้นย้ำถึงผลลัพธ์เชิงบวกที่ได้รับ 

 

ช่วงเริ่มต้นของการใช้เครื่องมือ AI อาจจะเป็นไปด้วยความทุลักทุเล หรือยังจับต้นชนปลายไม่ถูก แต่เชื่อว่าหากลองเปิดใจและลองสร้างความคุ้นเคยกับมันไปเรื่อยๆ ในจุดหนึ่งจะเกิดความสมดุลในการทำงานได้เองอย่างเป็นธรรมชาติ เหมือนกับการที่ต้องปรับตัวรับเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่เกิดมาก่อนหน้านี้หลายระลอก เพราะองค์กรที่จะก้าวไกลคือองค์กรที่สามารถทำงานร่วมกับ AI ได้ ส่วนองค์กรที่ใช้ AI ในการทำงานไม่เป็นก็จะหายสาบสูญไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X