องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) และสำนักงานพลังงานทดแทนระหว่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานเอกชน และกองทุนด้านพลังงานสีเขียว เห็นพ้องว่าการผลักดันโลกของเราสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2050 นั้น จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสะสม 44 ล้านล้านดอลลาร์
อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานสามารถพบเห็นได้ทุกที่ ตั้งแต่รถยนต์ไฟฟ้าที่พบเห็นได้ทั่วไปตามท้องถนน ไปจนถึงการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนมากมาย เช่น ฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่ง Hornsea 2
เหล่านี้สะท้อนว่าการเปลี่ยนไปสู่อนาคตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำจนกระทั่งเป็นศูนย์ จะต้องใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยควบคู่ไปกับการลงทุนจำนวนมาก ซึ่งความสำคัญของการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้น ถูกตอกย้ำในระหว่างการอภิปรายที่จัดโดยสำนักข่าว CNBC ซึ่งดูแลโดย Steve Sedgwick เมื่อไม่นานมานี้
Mark Dooley หัวหน้าระดับโลกของ Green Investment Group ของ Macquarie Asset Management กล่าวว่า เขาเห็นสัญญาณบวกที่เกิดขึ้นในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นปีแรกที่บริษัททุ่มเงินมากกว่าล้านล้านดอลลาร์เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน
“ตอนนี้มีหน่วยงานมากมายที่บอกว่า (เพื่อการเปลี่ยนผ่านนี้) จำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนอย่างรวดเร็วเป็น 4 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งเป็นเงินจำนวนมากจนน่าเวียนหัว” Dooley กล่าว
ทั้งนี้ อ้างอิงจากข้อมูลขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) การลงทุนด้านพลังงานสะอาดจะต้องมากกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ภายในปี 2030 เพื่อมุ่งสู่การปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ซึ่งการจะได้มาซึ่งตัวเลขที่มูลค่าสูงเช่นนี้ ต้องใช้ความพยายามอย่างมากจากทั้งภาครัฐและเอกชน นับได้ว่าเป็นการเดิมพันที่สูง
นั่นเป็นเพราะการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์สร้างขึ้นให้เหลือศูนย์ภายในปี 2050 นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งเมื่อต้องบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
ความท้าทายนั้นยิ่งใหญ่มาก และองค์การสหประชาชาติได้ตั้งข้อสังเกตว่ากรอบอุณหภูมิที่ 1.5 องศาเซลเซียสถูกมองว่าเป็น ‘ขีดจำกัดสูงสุด’ ในการหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ IEA ไม่ใช่องค์กรเดียวที่ให้ความสำคัญกับเงินจำนวนมากที่จำเป็นในอนาคต หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างสำนักงานพลังงานทดแทนระหว่างประเทศก็มองว่า การลงทุนสะสมจำเป็นต้องสูงถึง 44 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2050 หากเราต้องการรักษากรอบการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยการลงทุนใน ‘เทคโนโลยีการเปลี่ยนผ่าน’ จะคิดเป็น 80% ของการลงทุน หรือราว 35 ล้านล้านดอลลาร์
Dooley กล่าวลงลึกในรายละเอียดด้านตัวเลขการลงทุนว่า “จริงๆ แล้วมันจะปรากฏผ่านกิจกรรมมากมาย โดยใช้แหล่งเงินทุนต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ของเงินลงทุน 4 ล้านล้านดอลลาร์นั้นจะอยู่ใน Grid และ Transmission Grid นอกนั้นจะเป็นส่วนของการใช้เงินประเภทการเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของคนทั่วๆ ไป และการใช้มาตรการอื่นๆ
“มันเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง แต่จากข้อมูลที่เราได้รับและสัมผัสได้ คือนักลงทุนมีความกระหายที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นอย่างมาก โดยความกระหายหรือความอยากมีส่วนร่วมนั้น มีให้กับทั้งเทคโนโลยีที่เป็นที่ยอมรับแล้ว และเทคโนโลยีใหม่”
ทั้งนี้ ในบรรดาผู้ที่ปรากฏตัวร่วมกับ Dooley คือ Angela Wilkinson เลขาธิการและซีอีโอของ World Energy Council ซึ่งเป็นองค์กรในลอนดอนที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1923
“ไม่มีทางที่คุณจะแยกตลาดออกจากการเมืองและพลังงานได้เลย” Wilkinson กล่าว และเสริมว่า “คุณไม่ได้มีแค่ภูมิรัฐศาสตร์ คุณยังมีสังคม การเมือง รวมไปถึงการเมืองท้องถิ่นด้วย”
Wilkinson กล่าวเพิ่มว่า “ตามความเป็นจริงเราจะต้องผสมผสานระหว่างรัฐและตลาดเข้าด้วยกันเพื่อทำงานร่วมกัน และสิ่งเหล่านี้จะเกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากขึ้นทั่วโลก”
Wilkinson ยังพูดถึงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของมนุษย์ และความสำคัญของการหลีกหนีจากเรื่องเล่าเกี่ยวกับความกลัวในอนาคต ไปสู่การเปิดโอกาสให้ผู้คนจำนวนมากขึ้นมองเห็นโอกาสและผลประโยชน์สำหรับตนเองในทุกระดับของสังคม
“เราได้ใช้เทคโนโลยีในการโต้วาทีนี้ เราได้ให้เงินสนับสนุนการโต้วาทีนี้ แต่เรายังไม่ได้ทำให้มันเป็นมนุษย์” เธอกล่าวเสริม
“และเชื่อฉันเถอะ มันเป็นก้าวเล็กๆ หลายแสนก้าว แทนที่จะเป็นการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่ หรือการก้าวกระโดดทางการเงินที่จะก้าวหน้าจริงๆ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เมื่อ ‘เป้าหมายสีเขียว’ และ ‘เป้ายอดขาย’ ไม่สอดคล้องกัน เปิดช่องโหว่นโยบาย สิ่งแวดล้อม ในอุตสาหกรรมแฟชั่น
- ธปท. เตรียมออก Standard Practice ด้านสิ่งแวดล้อมในไตรมาส 3 พร้อมกำหนดให้แบงก์ส่งแผนและเป้าสีเขียวที่จับต้องได้ต้นปีหน้า
- ‘Bridgewater’ บริษัทจัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ใหญ่ที่สุดในโลก แนะวิธีลงทุนสำหรับนักลงทุนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อหนุนเป้าหมาย Net Zero
อ้างอิง: