×

ศาลโลกเริ่มพิจารณาคำร้องคัดค้านเบื้องต้นของเมียนมา กรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจา

21.02.2022
  • LOADING...
Rohingya

วันนี้ (21 กุมภาพันธ์) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) หรือ ศาลโลก ในเนเธอร์แลนด์ เริ่มต้นพิจารณาคำร้องคัดค้านเบื้องต้นของเมียนมา กรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจาซึ่งเป็นชาวมุสลิม เมื่อปี 2017 เป็นเหตุให้เกิดการไหลทะลักของผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ โดยรัฐประหารในเมียนมาส่งผลให้สถานการณ์มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

 

โดยแกมเบีย ประเทศในทวีปแอฟริกาตะวันตก ซึ่งประชากรจำนวนมากล้วนนับถือศาสนาอิสลาม ได้ยื่นฟ้องต่อศาลโลกให้พิจารณาคดีดังกล่าวเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2019 ก่อนที่ ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาประเทศและรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาในขณะนั้น จะขึ้นให้การในชั้นศาล ชี้แจงและแก้ต่างต่อกรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจา พร้อมระบุว่า ข้อมูลที่แกมเบียยื่นเสนอต่อศาลโลกนั้นไม่ครบถ้วนสมบูรณ์และไม่ถูกต้อง อีกทั้งปัญหาความขัดแย้งในรัฐยะไข่ พื้นที่ที่มีชาวโรฮีนจาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ก็เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนและมีประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งยาวนานหลายร้อยปี 

 

ออง ซาน ซูจี ยังระบุอีกว่า หากพบว่ากองทัพหรือทหารเมียนมาก่ออาชญากรรมสงครามจริง พวกเขาจะต้องได้รับโทษทางกฎหมาย โดยคณะสืบสวนของสหประชาชาติระบุว่า การใช้ความรุนแรงประหัตประหารชาวโรฮีนจาเกิดขึ้นด้วยเจตนาของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จึงเสนอแนะให้มีการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย และนายทหารระดับสูงอีก 5 นาย ก่อนที่รัฐบาลพลเรือนของ ออง ซาน ซูจี จะถูกกองทัพก่อรัฐประหารในที่สุด เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ที่ผ่านมา

 

ทางด้าน พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐประหารและนายกรัฐมนตรีเมียนมาคนปัจจุบัน เผยว่า ผู้เเทนคณะใหม่ของเมียนมาจะโต้แย้งคำร้องคัดค้านเบื้องต้นในชั้นศาล ขณะที่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งรวมถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งที่ถูกกองทัพเมียนมาสั่งปลดประกาศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า จะถอดถอนคำคัดค้านดังกล่าว และต้องการให้ศาลโลกดำเนินการตามคาดเหมาะสมของการพิจารณาคดี 

 

โดยรัฐบาล NUG ยังได้เน้นย้ำว่า จ่อ โม ทุน เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติที่ได้รับการแต่งตั้งในสมัยของ ออง ซาน ซูจี ยังคงอยู่ในตำแหน่งดังกล่าว และเป็นเพียงผู้เดียวที่มีสิทธิอันชอบธรรมในการติดต่อกับศาลในนามของประเทศเมียนมา ขณะที่ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติก็เห็นพ้องให้ จ่อ โม ทุน ดำรงตำแหน่งผู้แทนของเมียนมาต่อไป จนกว่าจะตัดสินใจได้ว่าใครคือผู้แทนอันชอบธรรมคนใหม่ของเมียนมา

 

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนชี้ ความไม่สบายใจที่เกิดขึ้นจากการปรากฏตัวของผู้แทนกองทัพในเมียนมา ไม่ควรนำไปสู่การเบนเป้าหมายไปจากการคืนความยุติธรรมให้กับพี่น้องชาวโรฮีนจาทั้งที่เสียชีวิตและต้องพลัดพรากจากครอบครัว รวมถึงถิ่นที่อยู่อาศัย ไม่ควรมีใครต้องตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรง

 

ภาพ: Hafiz Johari / Shutterstock

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X