ไอซ์แลนด์ประเทศเล็กๆ ในทวีปยุโรปกำลังทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งน่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวัฒนธรรมองค์กรและการจ้างงานทั่วโลกได้ไม่น้อย เมื่อกลายเป็นประเทศแรกของโลกที่บังคับใช้กฎหมายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศในการจ้างงาน
กฎหมายจ้างงานของไอซ์แลนด์ฉบับล่าสุดที่เพิ่งประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันจันทร์ที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา เกิดขึ้นเพราะรัฐบาลไอซ์แลนด์ต้องการให้ประชาชนเพศหญิงและเพศชายมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน กล่าวคือพนักงานเพศหญิงจะต้องไม่ถูกเอาเปรียบด้วยการได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานน้อยกว่าพนักงานเพศชาย โดยเฉพาะในกรณีที่ทั้งคู่ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งงานเดียวกัน
ภายหลังการประกาศใช้กฎหมายใหม่นี้ บริษัทเอกชนและหน่วยงานสังกัดรัฐบาลที่มีพนักงานในองค์กรไม่ต่ำกว่า 25 คนจะต้องได้การรับรองจากรัฐบาลไอซ์แลนด์ว่ามีนโยบายการว่าจ้างที่เสมอภาคกัน ส่วนบริษัทที่เลี่ยงการตรวจสอบหรือไม่ผ่านเกณฑ์การรองรับจะต้องถูกสั่งปรับตามอัตราที่รัฐบาลกำหนด และเล็งจะกำจัดช่องว่างในการจ้างงานของประชากรเพศหญิงและชายให้หมดไปภายในปี 2020
Dagny Osk Aradottir Pind สมาชิกสมาคมสิทธิสตรีไอซ์แลนด์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Al Jazeera ว่า “การออกกฎหมายนี้จะเป็นกลไกที่ทำให้บริษัทและองค์กรต่างๆ ประเมินทุกๆ สิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่ หลังจากนั้นพวกเขาก็จะได้รับการรับรองหากยืนยันได้ว่าจ่ายเงินค่าจ้างให้พนักงานชายและหญิงเท่าเทียมกันจริง มันคือกลไกเพื่อทำให้มั่นใจว่าผู้หญิงและผู้ชายจะต้องได้รับเงินจากการทำงานที่เสมอภาค ซึ่งแม้ว่าเราจะเคยมีกฎหมายในลักษณะนี้มาหลายช่วงทศวรรษ แต่ที่สุดแล้วมันก็ยังมีช่องว่างระหว่างการว่าจ้างพนักงานทั้ง 2 เพศอยู่ดี
“ผู้หญิงทั่วโลกต่างก็พูดคุยในประเด็นนี้มาเป็นระยะเวลาหลายทศวรรษ และฉันก็รู้สึกว่าเราต้องจัดการอะไรบางอย่างเพื่อสร้างความตระหนักรู้ ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ผู้คนเข้าใจว่ากฎหมายที่เรามีอยู่ก่อนแล้วมันไม่ได้ช่วยอะไรเลย เราต้องทำอะไรที่มากกว่านั้น”
จากการจัดอันดับประเทศที่มีความเท่าเทียมทางเพศมากที่สุดในโลกตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมาโดย World Economic Forum พบว่า ไอซ์แลนด์นำเป็นอันดับ 1 มาโดยตลอด ขณะที่ปี 2016 ไอซ์แลนด์ก็ครองแชมป์อีกเช่นเคย ด้วยคะแนน 87.8% ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 75 ของโลกด้วยคะแนน 69.4% ตามหลังเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนอย่าง ฟิลิปปินส์ (อันดับ 10, 79.0%), สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (อันดับ 64, 70.3%), สิงคโปร์ (อันดับ 65, 70.2%) และเวียดนาม (อันดับ 69, 69.8%)
อ้างอิง: