หลังจากที่มีรายงานศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) พิจารณาออกหมายจับ ยาห์ยา ซินวาร์ ผู้นำกลุ่มฮามาส และ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล จากเหตุโจมตีที่อิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 และสงครามในฉนวนกาซาที่สืบเนื่องกันมานั้น
ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศคืออะไร มีบทบาทและมีอำนาจแค่ไหน หากทั้งสองถูกออกหมายจับแล้วจะถูกจับกุมตัวมาลงโทษได้จริงหรือไม่
ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) คืออะไร
ICC เป็นศาลอาญาระหว่างประเทศถาวรแห่งแรกของโลกที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ ‘ธรรมนูญกรุงโรม’ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2002 ตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยมีเจตนารมณ์เพื่อที่จะนำตัวผู้กระทำผิดทางอาญาระหว่างประเทศมาลงโทษ (No Impunity) ด้วยความร่วมมือกันของประชาคมระหว่างประเทศ
ICC มีอำนาจแค่ไหน
ICC มีอำนาจพิจารณาเฉพาะคดี ‘ปัจเจกบุคคล’ ที่กระทำความผิด ไม่ใช่การกระทำของรัฐ โดยอาชญากรรมในขอบเขตอำนาจของ ICC จะเป็น ‘อาชญากรรมร้ายแรง’ ในสังคมระหว่างประเทศ ได้แก่ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide), อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crimes Against Humanity), อาชญากรรมสงคราม (War Crimes) และอาชญากรรมการรุกราน (Crime of Aggression)
โดย ICC สามารถพิจารณาออกหมายจับและดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดทางอาญาระหว่างประเทศหรืออาชญากรสงครามได้ ซึ่งขณะนี้ ICC มีรัฐภาคี 124 ประเทศที่เป็นสมาชิก
ประเทศใดที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ICC
- 3 ใน 5 ประเทศสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC): สหรัฐอเมริกา, รัสเซีย และจีน
- 9 ประเทศสมาชิก ASEAN รวมทั้งไทย (ยกเว้นกัมพูชา) และประเทศอื่นๆ อีกราว 60 ประเทศ ซึ่งรวมถึงอิสราเอล
หากถูก ICC ออกหมายจับ จะถูกจับจริงหรือไม่
ในกรณีที่ ICC ออกหมายจับบุคคลที่อยู่ในรัฐสมาชิก ICC บุคคลนั้นจะถูกนำตัวไปขึ้นศาล ICC ที่กรุงเฮก เพื่อพิจารณาคดีและตัดสินโทษ
แต่ในบางกรณี ICC มีการออกหมายจับบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในรัฐสมาชิก ICC ยกตัวอย่างเช่น วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ถูก ICC ออกหมายจับเมื่อปี 2023 ในข้อหาก่ออาชญากรรมสงคราม จากกรณีที่สั่งการให้มีการเนรเทศและย้ายถิ่นฐานของเด็กๆ ชาวยูเครนหลายพันคนไปอยู่ที่รัสเซีย
ส่วน เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล กำลังอยู่ในขั้นพิจารณาออกหมายจับในข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามและก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
ซึ่งทั้งรัสเซียและอิสราเอลไม่ได้เป็นสมาชิก ICC แต่ ICC ระบุว่า มีขอบเขตอำนาจครอบคลุมฉนวนกาซา เยรูซาเล็มตะวันออก และเวสต์แบงก์ โดยที่ผู้นำปาเลสไตน์ตกลงที่จะปฏิบัติตามข้อผูกพันของศาลในปี 2015
ขณะที่ในกรณีของยูเครน ที่ถึงแม้จะไม่ได้เป็นรัฐภาคี ICC แต่ก็ได้อนุญาตให้ ICC ดำเนินการสืบสวนเหตุอาชญากรรมสงครามที่อาจเกิดขึ้นในประเทศของตน จน ICC พบหลักฐานที่เชื่อได้ว่าปูตินมีส่วนเกี่ยวข้องในการก่ออาชญากรรมสงคราม
ผลที่จะตามมาคือ หากศาล ICC อนุมัติการออกหมายจับบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในรัฐสมาชิก ICC โดยเฉพาะในกรณีของปูตินและเนทันยาฮู รัฐสมาชิกทั้ง 124 ประเทศมีพันธกรณีที่จะต้องจับกุมตัวพวกเขาตามหมายจับของศาล พร้อมส่งตัวไปขึ้นศาลที่เนเธอร์แลนด์ ด้วยเหตุนี้จึงดูเป็นเรื่องยากที่ผู้ถูกออกหมายจับจะเดินทางเยือนประเทศพันธมิตรที่เป็นสมาชิกของศาล ICC
แต่อย่างไรก็ตาม ศาล ICC ก็ไม่ได้มีกลไกในการบังคับใช้หมายจับ ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประเทศสมาชิกเป็นสำคัญ
ขณะที่ซินวาร์รวมถึงผู้นำฮามาสอีก 2 คนที่ถูกพิจารณาออกหมายจับด้วยนั้น ถูกประกาศเป็นผู้ก่อการร้ายระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งหมายความว่าพวกเขาถูกห้ามเดินทางเข้าสหรัฐฯ รวมถึงถูกอายัดทรัพย์สินและคว่ำบาตร โดยสหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ญี่ปุ่น, แคนาดา และสหภาพยุโรป ยังได้ขึ้นบัญชีกลุ่มฮามาสเป็นกลุ่มก่อการร้ายด้วย
ภาพ: Somkid Thongdee / Shutterstock, Getty Images
อ้างอิง:
- https://asp.icc-cpi.int/states-parties
- https://edition.cnn.com/2024/05/20/middleeast/icc-israel-hamas-arrest-warrant-war-crimes-intl/index.html
- https://www.bbc.com/news/articles/c3ggpe3qj6wo
- https://www.senate.go.th/assets/portals/93/fileups/272/files/S%E0%B9%88ub_Jun/3journal/b9%20jun_1_3.pdf
- https://www.hrw.org/news/2006/03/17/dr-congo-icc-arrest-first-step-justice
- https://www.theguardian.com/world/2023/mar/17/icc-arrest-warrant-vladimir-putin-explainer
- โธมัส ลูบังกา ดยีโล อดีตผู้นำฝ่ายกบฏดีอาร์คองโก (DRC) ซึ่งเป็นประเทศสมาชิก ICC ถูกตั้งข้อหาก่ออาชญากรรมสงคราม ละเมิดสิทธิมนุษยชน และใช้แรงงานเด็ก ก่อนที่จะถูกจับกุมตัวเมื่อปี 2006 โดยลูบังกาถือเป็นบุคคลแรกที่ถูกจับกุมตามหมายจับ ICC และถูก ICC ตัดสินจำคุก 14 ปี ก่อนที่จะถูกปล่อยตัวในปี 2020