×

IAEA เผยข้อบ่งชี้ว่าเกาหลีเหนืออาจเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ผลิต ‘พลูโตเนียม’ อีกครั้ง

31.08.2021
  • LOADING...
เกาหลีเหนือ

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) ระบุในรายงานประจำปีว่า ดูเหมือนว่าเกาหลีเหนือจะเริ่มเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ถูกเชื่ออย่างกว้างขวางว่าใช้สำหรับผลิตพลูโตเนียมสำหรับอาวุธนิวเคลียร์ โดยสัญญาณของการเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ขนาด 5 เมกะวัตต์ถูกตรวจพบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปลายปี 2561 ซึ่งเตาปฏิกรณ์ดังกล่าวถูกมองว่ามีความสามารถในการผลิตพลูโทเนียมเกรดอาวุธได้

 

“มีหลายข้อบ่งชี้ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม 2564 ที่สอดคล้องกับการเดินเครื่อง ซึ่งรวมถึงการปล่อยน้ำหล่อเย็น” รายงานของ IAEA ระบุ โดยกล่าวถึงเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ ‘ยังบยอน’ ศูนย์ด้านนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

 

IAEA ไม่สามารถเข้าถึงเกาหลีเหนือได้ตั้งแต่เกาหลีเหนือขับไล่ผู้ตรวจสอบของ IAEA ออกจากประเทศในปี 2552 ต่อมาเกาหลีเหนือยังคงเดินหน้าโครงการอาวุธนิวเคลียร์และดำเนินการทดสอบนิวเคลียร์อีกครั้งในเวลาไม่นานนัก และการทดสอบนิวเคลียร์ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2560 ปัจจุบัน IAEA กำลังติดตามเกาหลีเหนือจากระยะไกล โดยส่วนใหญ่เป็นการติดตามผ่านภาพถ่ายดาวเทียม

 

ขณะที่ เจนนี ทาวน์ ผู้อำนวยการโครงการ 38 North ซึ่งเป็นโครงการติดตามเกาหลีเหนือของ The Henry L. Stimson Center ศูนย์วิจัยเชิงนโยบายในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ภาพจากดาวเทียมเชิงพาณิชย์แสดงให้เห็นถึงการปล่อยน้ำซึ่งสนับสนุนข้อสรุปว่า เตาปฏิกรณ์นั้นมีการทำงานอีกครั้ง เธอบอกว่าไม่มีทางรู้ได้ว่าเพราะเหตุใดเตาปฏิกรณ์จึงไม่ทำงานก่อนหน้านี้ แม้ว่าจะมีการทำงานที่ดำเนินอยู่ในแหล่งเก็บน้ำตลอดปีที่ผ่านมาเพื่อให้มั่นใจว่ามีน้ำเพียงพอสำหรับระบบทำความเย็น

 

“จังหวะเวลานั้นดูแปลกสำหรับฉันเล็กน้อย เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะเกิดน้ำท่วมในอีกไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งอาจส่งผลต่อการทำงานของเตาปฏิกรณ์” เธอระบุ โดยเมื่อปีที่แล้วมีการเปิดเผยจากโครงการ 38 North ว่าเหตุน้ำท่วมในเดือนสิงหาคมอาจสร้างความเสียหายต่อโรงสูบน้ำที่เชื่อมกับยังบยอน ซึ่งเน้นย้ำถึงความเสี่ยงของเหตุการณ์สภาพอากาศที่สุดขั้วต่อระบบทำความเย็นของเตาปฏิกรณ์ สื่อของรัฐบาลเกาหลีเหนือชี้ว่าปีนี้มีฝนตกตามฤดูกาลที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ แต่ยังไม่มีรายงานผลกระทบต่อศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ยังบยอน

 

ย้อนกลับไปในการประชุมสุดยอดระหว่าง คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ และ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2019 ที่เวียดนาม คิมได้เสนอให้มีการรื้อถอนยังบยอนเพื่อแลกกับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรจากนานาประเทศอันเนื่องมาจากอาวุธนิวเคลียร์และโครงการขีปนาวุธ แต่ทรัมป์ปฏิเสธดีลดังกล่าวโดยระบุว่ายังบยอนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเท่านั้น และเป็นการยอมให้ที่ไม่เพียงพอต่อการทำให้การผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรเป็นสิ่งจำเป็น ขณะที่รัฐบาลของ โจ ไบเดน บอกว่าได้ติดต่อไปยังเกาหลีเหนือเพื่อเสนอการพูดคุย แต่เกาหลีเหนือระบุว่าไม่มีความสนใจในการเจรจาที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากสหรัฐฯ

 

ก่อนหน้านี้ในเดือนมิถุนายน IAEA ได้แจ้งถึงสัญญาณบ่งชี้ว่ามี ‘งานแปรสภาพที่เป็นไปได้’ ที่ยังบยอนในการแยกพลูโตเนียมออกจากเชื้อเพลิงเตาปฏิกรณ์ที่ใช้แล้ว ซึ่งสามารถใช้ในอาวุธนิวเคลียร์ได้

 

ในรายงานฉบับดังกล่าว IAEA ยังระบุว่ามีข้อบ่งชี้ถึงการดำเนินงานของป้องปฏิบัติการเคมีรังสีที่เกิดขึ้นเป็นเวลาราว 5 เดือนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงต้นเดือนกรกฎาคม ช่วงระยะเวลาการดำเนินการดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับโครงการแปรสภาพเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วที่ออกมาจากเตาปฏิกรณ์ขนาด 5 เมกะวัตต์ ระยะเวลาดังกล่าวยังยาวนานกว่าเวลาที่สังเกตได้ในอดีตในการจัดการขยะหรือการบำรุงรักษา รายงานของ IAEA ยังระบุด้วยว่า ข้อบ่งชี้ใหม่ถึงการดำเนินการของเตาปฏิกรณ์ขนาด 5 เมกะวัตต์และห้องปฏิบัติการเคมีรังสีในการแปรสภาพนั้นเป็นเรื่องที่น่าหนักใจอย่างยิ่ง

 

ทั้งนี้ผู้อำนวยการใหญ่ของ IAEA ยังคงเรียกร้องให้เกาหลีเหนือปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้มติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ ให้ความร่วมมือโดยทันทีกับ IAEA ในการดำเนินการตามความตกลงเพื่อพิทักษ์ความปลอดภัยวัสดุนิวเคลียร์ที่เกี่ยวเนื่องกับสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์อย่างเต็มรูปแบบและมีประสิทธิภาพ และให้แก้ไขปัญหาที่ค้างอยู่ทั้งหมด โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการไม่มีผู้ตรวจสอบในเกาหลีเหนือ

 

ภาพ: Es sarawuth via ShutterStock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising