×

เกย์ทุกคนไม่ใช่ ‘ซิส’ ของคุณ เมื่อคำเรียกที่ถูกปากผู้พูดอาจไม่ถูกใจผู้ฟัง

11.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • คำว่า ‘ซิส’ ที่ย่อมาจากคำว่า sister อันแปลว่า น้องสาวหรือพี่สาว นั้นถูกใช้อย่างแพร่หลายพ่วงกับข้อความอื่นๆ เพื่อการพูดคุยอย่างออกรส เช่น ดีมากเลยค่ะซิส ชอบมากเลยค่ะซิส
  • ครั้งที่เราจำคำว่า ‘ซิส’ ได้ขึ้นใจคือการที่ตัวละครอย่าง ‘แหนด’ (รับบทโดย พีค-ภัทรศยา เครือสุวรรณศิริ) ในซีรีส์ ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ ซีซัน 2 เรียกตัวละคร ป๋อมแป๋ม (รับบทโดย ป๋อมแป๋ม-นิติ ชัยชิตาทร ซึ่งเขาเล่นเป็นตัวเองอีกที) ว่า ‘ซิส’ ก่อนที่แหนดจะโดนตวาดกลับหน้าหงายด้วยประโยคที่ค่อนข้างรุนแรง
  • ถึงแม้เกย์จะถูกนำเอากรอบความคิดเรื่องเพศแบบกลุ่มคนรักชอบเพศตรงข้าม (Heterosexual) มาครอบไว้จนทำให้ความสัมพันธ์ของเกย์ก็ยังตกอยู่ภายใต้แนวคิดแบบผู้ชาย-ผู้หญิงอยู่ดี ฝ่ายหนึ่งต้องเป็นชาย (รุก) และฝ่ายหนึ่งต้องเป็นหญิง (รับ) แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาจะต้องแสดงออกทางเพศให้ถูกต้องตามคอนเซปต์ของเพศนั้นๆ เสมอไป

“ฮายยยย ซิส”

 

คำพูดทักทายที่มักไม่เข้าหูทุกครั้งเวลาได้ยินใครก็ตามเดินมาทักทายเกย์คนใดคนหนึ่งประดุจเป็นพี่น้องร่วมบุพการี และมันเป็นประโยคที่ประหลาดมากเวลาพูด เพราะผู้พูดหลายคนจะต้องลากเสียงยาวคำว่า ‘ฮายยยย’ (Hi) ก่อนเสมอ แล้วแทนตัวเราด้วยคำว่า ‘ซิส’ ที่ย่อมาจากคำว่า sister อันแปลว่า น้องสาวหรือพี่สาว ก่อนจะนำไปพ่วงกับข้อความอื่นๆ ที่นำมาพูดคุยอย่างออกรส เช่น ซิสอย่างนั้น ซิสอย่างนี้ ดีมากเลยค่ะซิส ชอบมากเลยค่ะซิส – พอก่อน เวียนหัว

 

คำว่า ‘ซิส’ มักส่งเสียงออกมาบ่อยครั้งจากเพื่อนรอบตัวก็ดี จากคนทั้งที่สนิทหรือไม่สนิทก็ดี จากในสื่อก็ดี และบ่อยครั้งเช่นกันที่เกย์หลายๆ คนต้องน้อมรับสรรพนามทับศัพท์แสนเก๋นี้ไว้แต่โดยดี แต่ถ้าจะถามว่าซิสมาจากไหน เราก็ไม่อาจทราบได้อย่างถ่องแท้นัก แต่ครั้งที่เราจำคำว่า ‘ซิส’ ได้ขึ้นใจคือการที่ตัวละครอย่าง ‘แหนด’ (รับบทโดย พีค-ภัทรศยา เครือสุวรรณศิริ) ในซีรีส์ ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ ซีซัน 2 ขณะที่เอพิโสดแรกของซีรีส์ภาคต่อยอดฮิตกำลังออกอากาศ เราชมซีนที่เธอเรียกตัวละคร ป๋อมแป๋ม (รับบทโดย ป๋อมแป๋ม-นิติ ชัยชิตาทร ซึ่งเขาเล่นเป็นตัวเองอีกที) ว่า ‘ซิส’ ก่อนที่แหนดจะโดนตวาดกลับหน้าหงายด้วยประโยคที่ค่อนข้างรุนแรงจนบางทีก็อยากจะนำประโยคเดียวกันกับที่คุณป๋อมแป๋มพูดมาใช้บ้างในสถานการณ์จริงเวลาใครทะเล่อทะล่าเรียกซิสไม่ดูตาม้าตาเรือ แต่คุณจะกลายเป็นคนขี้โวยวายไปสักนิด

 

Photo: giphy.com

 

หากมีเจตนาที่ไม่ได้เคลือบแฝงด้วยอคติทางเพศผ่านคำเรียกนั้นก็ต้องแล้วแต่ใจของผู้พูดและผู้ฟังว่าจะยินยอมกับความหมายของมันในรูปแบบไหน เขาอาจเคารพคุณเหมือนพี่สาวคนหนึ่ง (ทั้งๆ ที่คุณมีจู๋อยู่) เขาอาจจะสนุกปากเพราะใครๆ ก็เรียกกัน หรือคิดว่าซิสก็คงใช้แทนเกย์ได้ทุกคนล่ะมั้ง แต่สิ่งหนึ่งที่คุณควรเข้าใจไว้ก็คือ ‘เกย์ทุกคนไม่ใช่ซิสของคุณ’

 

Photo: giphy.com

 

นอกเหนือจากคำว่า ‘ซิส’ คำเรียกต่างๆ ที่เกย์ไทยต้องพบเจออยู่บ่อยๆ จากผู้หลักผู้ใหญ่ก็ดี จากเพื่อนฝูงก็ดี หรือจากบุคคลทั่วไปที่พยายามจะเข้าหาเราอย่างเป็นมิตรก็ดี เรามักเจอคำเรียกคุ้นหูอย่างเช่น ‘ตัวเธอ’ ‘ตัวเอง’ หรือแม้แต่การเรียกกันอย่างสนุกปากว่า ‘เจ๊’ ก็ด้วย มองในมุมคนคิดบวก แน่นอนว่าผู้ที่ใช้คำเรียกเหล่านั้นไม่ได้ปนเปื้อนความคิดเชิงลบกับเกย์ไปทั้งหมดหรอก เพียงแต่พวกเขาต้องการให้ผู้ฟังของเขารู้สึกใกล้ชิด เป็นกันเอง และพยายามเข้าใจความแตกต่างของเพศด้วยการไม่ปฏิบัติต่อเกย์เหมือนผู้ชายทั่วไป ยกเว้นก็แต่ว่าพวกเขาจะตั้งใจล้อเลียนโดยตรง เช่น ยกมือขึ้นมาทำท่าดีดดิ้น สะบัดมือด้วยท่าเหมือนตบลูกวอลเลย์บอล ยกสูงขึ้นมาเหนือไหล่นิดหน่อย แล้วบีบเสียงเล็กตบวลี ‘จะบ้าเหรอตัวเอง’ ใส่หัวคุณ ถึงตรงนั้นคุณสามารถเบือนหน้าหนีได้ทันที เพราะเดี๋ยวพวกเขาจะรีบลูบประโยค ‘ล้อเล่นน่า’ ที่หลังของคุณทันควัน

 

หลายต่อหลายครั้งที่เราพบเจอผู้หญิงแปลกหน้าผู้ซึ่งไม่เคยรู้จักมักจี่กันมาก่อนใช้คำว่า ‘ซิส’ ‘ลูกสาว’ หรือคำไหนก็ตามที่เจ้าหล่อนแสดงให้เรารู้ว่า ‘ฉันรู้นะ เธอเป็นเกย์’ ในครั้งแรกๆ ที่เจอกันอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย เราทำทีสงสัยเสมอว่าทำไมสตรีเหล่านั้นถึงกล้าสร้างความสัมพันธ์กับเกย์ทันทีที่เจอ และทำไมจึงเชื่อว่าเราจะเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันได้จากการทักทายอย่าง(ค่อนข้าง)เป็นกันเองเกินไป หรือทำไมพวกเธอถึงเข้าใจว่าเกย์ออกสาวทุกคนต้องเป็นลูกสาว เพราะชีวิตจริงนี้ไม่ใช่ซีรีส์ Will & Grace ที่คุณจะมีเพื่อนเป็นเกย์และแชร์ห้องกันอยู่อย่างง่ายดาย หรือจะเกิดความสัมพันธ์แบบคู่เพื่อนซี้อย่าง แคร์รี แบรดชอว์ และสแตนฟอร์ด แบลตช์ จากซีรีส์ Sex and the City เสมอไป

 

Photo: giphy.com

 

จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งในหัวข้อ ‘Women Interact More Comfortably and Intimately With Gay Men – But Not Straight Men – After Learning Their Sexual Orientation’ โดย อีริก เอ็ม. รัซเซลล์, วิลเลียม อิกิส์ และวิเวียน พี. จาก Association for Psychological Science ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาเปิดเผยถึงเหตุผลว่าทำไมผู้หญิงถึงรู้สึกเข้ากันได้ดีกับเกย์นัก โดยเขาให้ผู้หญิงจำนวน 66 คนนั้นพูดคุยกับผู้ชายจำนวน 66 คนเท่ากัน แต่ 34 คนในนั้นเป็นคนรักชอบเพศเดียวกัน (Homosexual) โดยที่ผู้วิจัยจะยังไม่เปิดเผยเพศวิถีของคู่สนทนาในครั้งแรกที่คุย ผลการศึกษาพบว่าผู้หญิงจะรู้สึกสบายใจเมื่อพบว่าเธอมีปฏิสัมพันธ์กับเกย์ นั่นก็เพราะพวกเธอไม่รู้สึกกังวลว่าผู้ชายที่เธออยู่ด้วยจะมีนัยเรื่องความต้องการทางเพศแอบแฝง และพวกเธอต้องการเพื่อนที่มีพื้นที่ปลอดภัยให้แก่กัน สนุกสนานด้วยกันได้ สามารถเป็นตัวของตัวเอง และไม่กลัวการถูกตัดสิน หรือกลัวความคาดหวังจากการเล่าเรื่องอะไรสักอย่างให้กันฟัง รวมไปถึงการแอบรักข้างเดียวก็ด้วย ฉะนั้นวลีคลาสสิกที่ว่า Gay is a woman’s best friend. (เกย์คือเพื่อนที่ดีที่สุดของผู้หญิง) ก็น่าจะยังใช้ได้อยู่ถึงปัจจุบัน

 

คำถามคือการที่ผู้หญิงใช้คำเรียกเหล่านั้นกับเกย์เป็นสิ่งที่ผิดหรือไม่ หากพวกเธอมองว่าเกย์เองก็เป็นเหมือนเพื่อนผู้หญิงของพวกเธอคนหนึ่ง เราจะว่าผิดก็ได้ หากเราไม่ได้มีความสัมพันธ์ฉันมิตรกันมาก่อน การเดินเข้ามาทักทายและรีบตราหน้าเราว่าเป็นเกย์ดูจะเป็นสิ่งที่ไม่น่ารักเอาเสียเลย ต่อให้เราจะกรีดกรายแค่ไหนก็ตาม แต่จะว่าไม่ผิดก็ได้ เพราะแนวคิดเรื่องเพศในหัวทุกคนนั้นเป็นเรื่องที่ถูกปลูกฝังหยั่งลึกตั้งแต่วัยเยาว์ อย่างที่ทราบและเข้าใจทั่วกัน เพศ (Sex) มีเพียงแค่สองเพศคือชายกับหญิง เราต่างมีเพศที่สามารถระบุได้ในสูติบัตรตามสิ่งที่อยู่ด้านในกางเกงเท่านั้น หรือการที่ผู้ชายต้องคู่กับผู้หญิงเท่านั้นตามหลักกฎหมายของการครองคู่ตามธรรมชาติของการสืบพันธุ์ จึงไม่ผิดหากคนในสังคมจะยังมีมุมมองเกี่ยวกับเกย์ว่า การที่พวกเขาชอบผู้ชาย พวกเขาจะต้องมีความเป็นผู้หญิง (Feminine) อยู่ในตัว จึงไม่แปลกใจหากการที่เกย์จะถูกเหมารวม (Stereotype) และถูกเรียกว่า ‘ซิส’ นั้นเป็นเรื่องปกติ ทั้งนี้ก็อาจมาจากการผลิตซ้ำภาพจำของเกย์ในสังคมไทยด้วยส่วนหนึ่ง จากสื่อที่ยังคงวนเวียนกับการสร้างคาแรกเตอร์ให้เกย์เป็นตัวละครที่แสดงถึงการเป็น ‘เกย์สาว’ สะดีดสะดิ้ง แต่งตัวสีสันจัดจ้าน ปากจัด บ้าผู้ชาย ที่สุดท้ายก็ต้องโดนเหมารวมกันไปว่า ‘นี่ไง เกย์เป็นแบบนี้’

 

Photo: giphy.com

 

หนทางไปสีลมไม่ได้มีแค่ถนนพระราม 4 เส้นเดียวฉันใด หนทางของการเป็นเกย์ก็ไม่จำเป็นต้องเบ่งบานสาวสะพรั่งเพียงอย่างเดียวฉันนั้น เพราะความเป็นเกย์ถูกกรอบความคิดเรื่องเพศแบบกลุ่มคนรักชอบเพศตรงข้าม (Heterosexual) ครอบไว้ส่วนหนึ่ง จึงทำให้ความสัมพันธ์ของเกย์นั้นตกอยู่ภายใต้แนวคิดแบบผู้ชาย-ผู้หญิง ฝ่ายหนึ่งต้องเป็นชาย (รุก) และฝ่ายหนึ่งต้องเป็นหญิง (รับ) แต่ก็ไม่ใช่ว่าการแสดงออกทางเพศที่สาวกว่าจะต้องเป็นรับ หรือแมนมากกว่าจะต้องเป็นรุก เพราะความจริงแล้ว รุกหรือรับมันเป็นเพียงรสนิยมหรือความรื่นรมย์ของเซ็กซ์ที่เราต่างชอบไม่เหมือนกัน มันไม่ใช่ตัวกำหนดการแสดงออกทางเพศเสมอไป ลองสมมติว่าคุณรู้จักเกย์คนหนึ่งที่เต้น คุกกี้เสี่ยงทาย ได้ถูกต้องทุกท่า หรือดัดแปลงผ้าห่มมาเป็นชุดโอกูตูร์ ในขณะที่ตำแหน่งในเรื่องเซ็กซ์ของเขาเป็นฝ่ายรุก แล้วอย่างนี้เขาจะยังเป็น ‘ซิส’ ของคุณอยู่หรือเปล่าล่ะ

 

สิ่งที่เราต้องการจะบอกคือ คุณๆ ควรมองเกย์ทุกคนให้เป็นเพื่อนเกย์คนหนึ่ง ไม่ใช่เป็นน้องสาว พี่สาว หรือลูกสาวของคุณ โดยใช้ภาพจำที่เกี่ยวข้องเข้ามาตัดสินว่าการเป็นเกย์ต้องแสดงออกหรือมีวิธีการคิดรูปแบบเดียว เราเข้าใจว่า ‘ซิส’ ไม่ใช่คำเรียกที่มีเจตนาจะทำร้ายจิตใจหรือเหยียดเพศแต่อย่างใด แต่เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดี คุณอาจต้องรู้ไว้ว่าไม่ใช่เกย์ทุกคนที่สะดวกใจให้คุณเรียกเขาเช่นนั้น…นะคะซิส

 

ภาพประกอบ: Thiencharas.w

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X