×

มูฮัมหมัด อาลี นักชกผู้ยิ่งใหญ่ และประกายไฟแห่งการต่อสู้จาก ‘โรม 1960’

17.07.2021
  • LOADING...
มูฮัมหมัด อาลี

ก่อนจะเป็น มูฮัมหมัด อาลี ยอดนักชกผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล เขาเคยเป็น แคสเชียส เคลย์ มาก่อน

 

แต่ถึงในสังเวียนเขาจะโบยบินเหมือนผีเสื้อ ต่อยเจ็บเหมือนผึ้ง (Float like a butterfly, Sting like a bee) ในชีวิตจริงแล้วการเดินทางด้วยเครื่องบินสำหรับเด็กหนุ่มผิวสีวัย 18 ปี ไม่ใช่เรื่องที่น่าพิสมัยนัก และการเดินทางไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโรมเมื่อปี 1960 ก็ไม่ต่างอะไรจากเด็กที่โดนบังคับให้กินยาขม

 

ความกลัวนั้นเกิดขึ้นจากเรื่องฝังใจสมัยที่เขายังเป็นนักชกสมัครเล่นหน้าใหม่ และมันทำให้ไม่ว่าใครจะพูดอย่างไร เคลย์ก็ไม่ขอเดินทางด้วยเครื่องบินเด็ดขาด ถึงขนาดที่เขาไม่ยอมขึ้นเครื่องบินกลับหลังจากเดินทางมาคัดตัวไปแข่งโอลิมปิกที่ซานฟรานซิสโก และเลือกที่จะนั่งรถบัสกลับบ้านที่หลุยส์วิลล์ เคนทักกี แทน

 

จนโค้ชต้องพยายามโน้มน้าวเขาอย่างหนักว่า เขามีโอกาสสูงมากที่จะคว้าเหรียญทองได้ ซึ่งสุดท้ายเคลย์ที่เปลี่ยนชื่อเป็น มูฮัมหมัด อาลี ในปี 1974 ก็ยอมที่จะเดินทางด้วยเครื่องบินจนได้ ท่ามกลางข่าวลือว่าเขาขอซื้อ​ ‘ร่มชูชีพ’ จากกองทัพ เพื่อสวมใส่ตอนอยู่บนเครื่องบิน ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีการยืนยัน 

 

สิ่งที่มีการยืนยันได้คือ เรื่องที่อาลีกรีดร้องตลอดทั้งการเดินทาง! และพยายามชวนคนอื่นคุยตลอดทาง เพื่อข่มความกลัวของตัวเอง

มูฮัมหมัด อาลี

 

เรื่องตำนานการกลัวเครื่องบินของอาลีจึงเป็นหนึ่งในเรื่องเล่าระดับตำนานของตัวเขาเองและโอลิมปิก 1960 ซึ่งที่ตลกร้ายคือ เพิ่งจะมีการใช้ชื่อของเขาเป็นชื่อสนามบินไปเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา!

 

เมื่อเครื่องบินลงจอดที่กรุงโรม อาลีก็ยังพูดไม่หยุด ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวกับความกลัวแล้ว แต่เป็นเพราะอุปนิสัยส่วนตัวที่เป็นคนคุยโวของเขา และความตื่นเต้นของเด็กหนุ่มวัย 18 ปีที่ได้เดินทางข้ามครึ่งโลกมาเปิดหูเปิดตาในมหกรรมกีฬาที่รวบรวมผู้คนมากมาย

 

อาลีกลายเป็นขวัญใจในหมู่บ้านนักกีฬาอย่างง่ายดาย ใครบางคนเรียกเขาว่า ‘ท่านผู้ว่าแห่งหมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิก’

 

อีกแง่คือ เขาเองก็ดูอยากเป็นคนที่มีชื่อเสียงด้วยชนิดที่หากมีการถ่ายภาพ เขาก็อยากจะมีหน้าตัวเองติดในภาพด้วย ซึ่งตัวเขาเองก็มีเสน่ห์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร เพียงแต่ในหมู่นักกีฬาจากสหรัฐฯ ด้วยกันเอง เขาไม่ได้เป็นคนที่กองเชียร์ในบ้านเกิดให้ความสนใจนัก

 

ช่างปะไร อาลี หรือไอ้หนูเคลย์ในวันนั้น บอกกับทุกคนว่า เขาจะคว้าเหรียญทอง และเขาก็หมายความเช่นนั้นจริงๆ

 

การแข่งมวยในโรม 1960 นั้นจัดขึ้นที่สนามกีฬาโรม ปาลาสโซ เดลโล สปอร์ต ซึ่งจุผู้ชมได้ราว 14,000-16,000 คน ซึ่งแม้เขาจะไม่ใช่คนป๊อปปูลาร์ในหมู่ชาวอเมริกัน แต่สำหรับชาวโรมชื่อ แคสเชียส มาร์เซลลัส เคลย์ ของเขานั้นคือชื่อในแบบชาวโรมันแท้ๆ

 

อาลีเลยกลายเป็นขวัญใจเจ้าถิ่นไปเสียดื้อๆ!

 

ในรุ่นเฮฟวีเวต น้ำหนัก 178 ปอนด์ เขาได้บายในรอบแรก ก่อนจะได้เจอกับคู่ชกคนแรก อีวอน บีคอส จากเบลเยียม ในรอบ 16 คนสุดท้าย ในวันที่ 30 สิงหาคม

 

ไฟต์แรกของเขาจบลงก่อนยกที่ 2 จะจบลง 1.10 นาที เมื่อกรรมการยุติการชก เพราะคู่ชกของเขาไม่อยู่ในสภาพที่จะสู้ไหว ฝีหมัดมันห่างกันเกินไปมาก

 

มาถึงรอบ 8 คนสุดท้ายในอีก 2 วันถัดมา คราวนี้คู่ชกของเขามาจากดินแดนหลังม่านเหล็ก เกนนาดี ชาตคอฟ จากสหภาพโซเวียต เจ้าของเหรียญทองในรุ่นมิดเดิลเวต ในการแข่งขันโอลิมปิกเมื่อ 4 ปีที่แล้วที่เมลเบิร์น

 

แต่ถึงจะเคยคล้องเหรียญทองมาก่อน แต่ชาตคอฟก็ไม่ใช่คู่ต่อกรของอาลี เขาชนะไปด้วยคะแนนเป็นเอกฉันท์ 5-0 ก่อนที่เขาจะชนะเอกฉันท์อีกเหมือนเดิมในรอบรองชนะเลิศกับ โทนี เมดิแกน จากออสเตรเลีย ในรอบรองชนะเลิศในอีก 2 วันต่อมา

 

จนกระทั่งถึงรอบชิงชนะเลิศ คราวนี้คู่ชกของเขาค่อยดูสมน้ำสมเนื้อขึ้นหน่อย กับนักชกชาวโปแลนด์ ซบิกเนียฟ ปิเอเตอร์ซีคอฟสกี เจ้าของแชมป์ยุโรป 3 สมัย และเป็นเจ้าของเหรียญทองแดงในโอลิมปิก 1956 

 

นักชกจากโปแลนด์คนนี้เป็นมวยซ้าย (Southpaw) ซึ่งเป็นของแสลงของอาลีที่เคยแพ้ อามอส จอห์นสัน ในรอบชิงชนะเลิศของการคัดเลือกรายการแพนอเมริกาเมื่อปี 1959 ซึ่งเป็นความพ่ายแพ้ในระดับสมัครเล่นเพียงครั้งเดียวในชีวิตของเขา

 

มวยซ้ายทำให้อาลีมีปัญหา ถึงจะเก่งแค่ไหนก็ไปไม่ถูกเหมือนกัน สองยกแรกเขาเป็นรอง นั่นหมายถึงเขาต้องจัดการทุ่มทุกอย่างลงไปในการชกยกสุดท้าย เพื่อพลิกกลับมาเอาชนะให้ได้

 

สิ่งที่ผู้ชมในสนามวันนั้นได้เห็นคือ ‘พายุหมัด’ ของเด็กหนุ่มวัย 18 ปีที่กระหน่ำหมัดใส่คู่ชกชาวโปแลนด์แบบไม่ยั้ง โดยที่ปิเอเตอร์ซีคอฟสกีเองก็ไม่รู้ว่าเขาจะหยุดพายุหมัดนี้ได้อย่างไร และสุดท้ายอาลีก็เป็นฝ่ายชนะคะแนนแบบเอกฉันท์ 5-0

 

เขาได้เหรียญทองมาครองและคล้องคอแบบที่ประกาศไว้จริงๆ!

 

“ผมบอกคุณแล้ว ผมบอกคุณแล้ว” เสียงของเขาลั่นในหัวของคนที่เคยได้มีโอกาสคุยกับพ่อหนุ่มนักชกคนนี้

 

เขาได้เหรียญทองโอลิมปิก เขาคือฮีโร่ของประเทศ เขาจะมีชื่อเสียงแล้ว 

 

© 1960 – Comité International Olympique (CIO)  

 

แคสเชียส เคลย์ ผู้ห้อยเหรียญทองเป็นเวลา 4 วัน คิดไปไกลในระหว่างการเดินทางกลับจากอิตาลี ซึ่งไม่มีอะไรน่ากลัวเหมือนตอนขามาอีกแล้ว

 

มีแฟนๆ ต้อนรับการกลับมาของฮีโร่อย่างเขาบ้าง แต่ความจริงที่เจ็บปวดก็ปรากฏหลังจากนั้น เมื่อเขาเข้าไปในเมืองเพื่อหาอาหารรับประทาน แต่กลับถูกปฏิเสธที่จะให้รับประทานที่ร้านได้ ทั้งๆ ที่ทุกคนก็เห็นอยู่ว่าที่คอของเขาคือเหรียญทองโอลิมปิก

 

แต่สำหรับเจ้าของร้านอาหารเหล่านั้นแล้ว เหรียญทองนี้มีค่าน้อยกว่าสีผิว 

 

ด้วยความเจ็บปวด หลังปะทะคารม เขาออกจากร้านและไปยังแม่น้ำไอไฮโอ

 

เหรียญทองถูกถอดออกจากคอ และโยนลงแม่น้ำไป

 

แคสเชียส เคลย์ นักชกดาวรุ่งเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกผู้ถล่มกรุงโรมราวพายุ ได้ตายจากหัวใจของเขาไปวันนั้นเช่นกัน แต่ไฟของความโกรธได้เปลี่ยนเป็นไฟแห่งการต่อสู้ ไฟแห่งความหวัง และเป็นการกำเนิดยอดนักชกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลในเวลาต่อมา

 

นักชกผู้เป็นมากกว่านักชก

 

© 1996 – Kishimoto-IOC 

 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X