โลกมีเวลาอีกเพียงราว 5 ปี ในการป้องกันผลกระทบที่ไม่อาจแก้ไขได้จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
Climate Clock หรือนาฬิกาสภาพอากาศ เปิดตัวในเดือนกันยายน 2020 มีความสูง 4 ชั้น เหนือย่าน Union Square ของนิวยอร์กในย่านใจกลางเมืองแมนฮัตตัน โดยเกิดจากการสร้างสรรค์ของกลุ่มศิลปิน นักเขียน และนักเคลื่อนไหวชาวอเมริกัน ได้แก่ กัน โกแลน (Gan Golan), แอนดรูว์ บอยด์ (Andrew Boyd), เคที เพย์ตัน ฮอฟสตัดเตอร์ (Katie Peyton Hofstadter) และ เอเดรียน คาร์เพนเตอร์ (Adrian Carpenter) โดยมีเป้าหมายเพื่อ ‘เตือนโลกทุกวันว่าเราใกล้จะถึงจุดอันตรายแล้ว’ ขณะที่ เกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดนก็มีส่วนร่วมในโปรเจกต์นี้ช่วงแรกๆ ด้วย
ตัวเลขบนนาฬิกาแสดงให้เห็นว่าโลกเหลือเวลาอีกนานแค่ไหน ก่อนที่อุณหภูมิโลกจะร้อนขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นจุดที่ผลกระทบเลวร้ายที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ‘ไม่อาจย้อนกลับได้’
ข้อมูลในนาฬิกาสภาพอากาศอ้างอิงจากสถาบันวิจัยสภาพอากาศ Mercator Research Institute on Global Commons and Climate Change (MCC) ไม่ได้นับถอยหลังวันที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกจะสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่เป็นการประเมินว่าจะมีเวลาเหลืออีกเท่าใด ก่อนที่มนุษย์จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากพอที่จะกระตุ้นให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งปัจจุบันประเมินว่าอยู่ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2029
ข้อมูลปี 2023 ระบุว่า โลกมีอุณหภูมิร้อนกว่ายุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมประมาณ 1.48 องศาเซลเซียส เนื่องจากการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดคลื่นความร้อน ไฟป่า พายุ และระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และเป็นเหตุผลที่ผู้นำโลกต้องตกลงร่วมกันในข้อตกลงปารีส เพื่อป้องกันไม่ให้โลกร้อนมากกว่าที่เป็นอยู่
ทั้งนี้ เว็บไซต์นาฬิกา https://climateclock.world/ ยังแสดง Lifeline หรือเส้นชีวิตที่สามารถทำให้โลกจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสได้ โดยแบ่งเป็น 6 ด้าน ดังนี้
- พลังงานหมุนเวียน ซึ่งปัจจุบันพลังงานทั่วโลกที่มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนมีสัดส่วนอยู่ที่ 12.5% และกำลังเพิ่มขึ้น แต่ยังเร็วไม่มากพอ ซึ่งผู้สร้างนาฬิกายังเรียกร้องให้นานาชาติดำเนินการแข่งกับเวลาในการลดการแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจก และมุ่งสู่การเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ซึ่งยังไม่มีรัฐบาลประเทศใดในโลกเต็มใจที่จะทำ
- การรักษาพื้นที่อาศัยของชนพื้นเมือง ซึ่งเป็นผู้พิทักษ์ที่สำคัญต่อความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติของโลก
- Loss and Damage ความสูญเสียและความเสียหายจากภาวะโลกรวน โดย Loss คือมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไป ส่วน Damage คือความเสียหายต่อทรัพย์สินในเชิงกายภาพ
- กองทุนภูมิอากาศสีเขียว หรือ Green Climate Fund (GCF) เป็นกลไกทางการเงินภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) จัดตั้งขึ้นโดย 194 ประเทศ ในปี 2013 เพื่อส่งเสริมประเทศกำลังพัฒนาให้ตอบสนองต่อความท้าทายที่มีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัจจุบันมีคำมั่นสัญญาที่ได้รับการยืนยันแล้วมูลค่ารวม 9.52 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี
- ความเท่าเทียมทางเพศ ในธรรมาภิบาลแห่งชาติเป็นวิธีแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่สำคัญ โดยปัจจุบันเปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงที่เป็นตัวแทนในรัฐสภาของประเทศทั้งหมดคือ 26.5% การเคลื่อนไหวของสตรีและการเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศทั่วโลกมีเป้าหมายที่จะเพิ่มเป็น 50% ความต้องการบรรลุความเท่าเทียมทางเพศยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการเจรจาและข้อตกลงทั้งหมด เพื่อต่อสู้กับผลกระทบด้านลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- การถอนการลงทุนด้านเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นสิ่งสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยนำแรงกดดันทางเศรษฐกิจมาสู่ผู้นำในอุตสาหกรรมก๊าซและน้ำมัน และส่งเสริมให้นักลงทุนปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่ยุติธรรมไปสู่พลังงานหมุนเวียน
ภาพประกอบ: กริน วสุรัฐกร
อ้างอิง:
- https://climateclock.world
- https://www.theverge.com/2023/7/22/23803197/climate-change-clock-deadline-new-york
- https://www.channelnewsasia.com/sustainability/new-york-city-climate-clock-ticks-below-six-year-mark-first-time-raising-urgency-global-climate-action-warming-sustainability-3650436
- https://en.wikipedia.org/wiki/Climate_Clock
- https://www.npr.org/2021/11/08/1052198840/1-5-degrees-warming-climate-change
- https://yaleclimateconnections.org/2021/08/1-5-or-2-degrees-celsius-of-additional-global-warming-does-it-make-a-difference/?fbclid=IwAR2ybXSFbSwArKiRB159mJtr9aX6gvhvN3F4jV1Wh64cwP3ABvDAiCycITY