×

อุ้มหาย ลอยนวล ถูกทรมาน แอมเนสตี้เผย เสรีภาพไทยปี 2560 ย่ำแย่และน่าวิตก

23.02.2018
  • LOADING...

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2560/61 ซึ่งเป็นการรวบรวมและวิเคราะห์สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนใน 159 ประเทศทั่วโลกตลอดปี 2560 ที่ผ่านมาพบว่า ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยมีความพยายามคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบของประชาชนอย่างหนัก

 

 

เช่น กรณีการต่อสู้ของ 3 นักสิทธิมนุษยชนภาคใต้ที่จัดทำและเผยแพร่รายงานเรื่องการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนใต้ ก่อนที่จะไม่ถูกฟ้องคดีในที่สุด กรณีที่นายสมชาย นีละไพจิตร และนายพอละจี รักจงเจริญ ที่ถูกบังคับให้หายสาบสูญ กรณีไผ่ ดาวดินที่ถูกจำคุกเพราะแชร์บทความข่าว กรณีวิสามัญฆาตรกรรมชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนนักกิจกรรมชาวลาหู่ กรณีการเสียชีวิตของน้องเมย กรณีการจับกุมชาวบ้านที่คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าเทพา จังหวัดสงขลา รวมถึงกรณีลอยนวลพ้นผิด หลังศาลยกฟ้องคดีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่สั่งสลายการชุมนุมในปี 2553 ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 90 คน

 

ปีที่ผ่านมา นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม นักศึกษา ชาวบ้านที่เรียกร้องสิทธิชุมชน ทนายความ สื่อมวลชน นักวิชาการ ไปจนถึงประชาชนทั่วไปในไทยต่างถูกภาครัฐและเอกชนละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกอย่างต่อเนื่อง ผ่านข้อกฎหมาย ม.44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว, ม.116 ในประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งต่างมีเนื้อหาหรือการตีความที่ขัดต่อมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม

 

 

นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ตั้งข้อสังเกตจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ทางรัฐบาลไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง แม้ว่าไทยจะเป็น 1 ใน 48 ประเทศที่สนับสนุนและเข้าเป็นภาคีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) มานานเกือบ 70 ปีและเมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลไทยจะประกาศให้ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ และเป็นหนึ่งปัจจัยขับเคลื่อนแผนพัฒนา Thailand 4.0 แล้วก็ตาม

 

ในโอกาสนี้ นางปิยนุช โคตรสาร และ ดร.อันธิฌา แสงชัย รองประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ยื่นรายงานฉบับเต็มให้แก่นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และ นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ในนามตัวแทนรัฐบาลผู้รับมอบ ทั้งนี้แอมแนสตี้ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยใน 7 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

 

  1. ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 และกฎหมายอื่นๆ ที่ละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ
  2. ยุติการควบคุมตัวโดยพลการ
  3. ยุติการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร
  4. ผ่าน พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานและการอุ้มหาย พร้อมกำหนดกรอบเวลาที่แน่ชัด พร้อมนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ
  5. รัฐมีพันธสัญญาในการให้ความคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้ทำงานได้อย่างปลอดภัย
  6. เคารพหลักการไม่ส่งกลับผู้ลี้ภัยไปยังประเทศอันตราย (Non-refoulement)
  7. สานต่อการจัดตั้งระบบคัดกรองผู้ลี้ภัยให้ใช้งานได้จริงตามมาตรฐานสากล

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising