×

งานศึกษาชี้ ความร้อนที่เกิดจากมนุษย์มีส่วนทำให้เกิดภัยแล้งรุนแรงในตะวันออกกลาง

12.11.2023
  • LOADING...
ภัยแล้ง

งานศึกษาด้านสภาพอากาศชี้ว่า การเผาไหม้ความร้อนที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์มีส่วนทำให้เกิดวิกฤตภัยแล้งรุนแรงขึ้นในหลายประเทศแถบตะวันออกกลาง โดยผู้คนนับล้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณนี้มักจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้งครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นทุกๆ 250 ปี แต่ในระยะหลังๆ ภาวะภัยแล้งรุนแรงนี้มีแนวโน้มเกิดบ่อยครั้งขึ้น โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นทุกๆ 10 ปีหรือสั้นกว่านั้น 

 

วิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นนี้มีแนวโน้มรุนแรงและยาวนานมากยิ่งขึ้นกว่าครั้งก่อนๆ ในอดีต ภาวะภัยแล้งครั้งใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นได้ยากอีกต่อไป งานศึกษาระบุว่า แม่น้ำไทกริส-ยูเฟรติส ซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอิรักและซีเรีย กำลังประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก 

 

นอกจากนี้ ความเปราะบางที่เกิดขึ้นจากภัยสงครามและความขัดแย้ง รวมถึงความไม่มั่นคงทางการเมือง ได้ลดทอนขีดความสามารถของผู้คนในสังคมแถบนี้ในการรับมือกับวิกฤตภัยแล้งและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และอาจกลายเป็นภัยพิบัติด้านมนุษยธรรม 

 

ด้าน ศ.โมฮัมหมัด ราฮิมี มหาวิทยาลัยเซมนันในอิหร่าน ระบุว่า วิกฤตการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวพันกับฝีมือมนุษย์มีส่วนทำให้ชีวิตของผู้คนหลายสิบล้านคนในเอเชียตะวันตกยากลำบากมากยิ่งขึ้น และเมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น พื้นที่แถบซีเรีย อิรัก และอิหร่านจะกลายเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยได้ค่อนข้างยากลำบาก

 

ขณะที่ ดร.เฟรเดอริก ออตโต มหาวิทยาลัยอิมพีเรียล สหราชอาณาจักร กล่าวว่า ภาวะภัยแล้งเช่นนี้จะยังคงรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกว่าเราจะหยุดเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล และหากประชาคมโลกไม่สามารถตกลงกันเพื่อยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ภายในที่ประชุม COP28 ปีนี้ที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ผู้คนจำนวนมากจะเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำและอาหารอย่างหนัก

 

ขณะนี้ในซีเรีย ผู้คนราว 2 ล้านคนในเขตชนบทกลายเป็นผู้พลัดถิ่น และมีรายงานอีกว่า ประชากรราว 12 ล้านคน หรือคิดเป็น 60% ของประชากรทั้งหมดทั่วประเทศ กำลังเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารเนื่องจากภาวะภัยแล้ง ขณะที่เกือบทุกจังหวัดในอิหร่านก็ประสบปัญหาภัยแล้งเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร และทำให้ราคาอาหารถีบตัวสูงขึ้นอย่างมาก

 

แฟ้มภาพ: Marcus Yam / Los Angeles Times via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X