จำนวนประชากรมนุษย์บนโลกล่าสุดนั้นทะลุ 8 พันล้านคนไปแล้ว ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านมลพิษหรือการแย่งชิงและทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลต่อจำนวนสัตว์และพืชบนดาวเคราะห์บ้านเกิดดวงนี้ แต่ใครจะรู้ว่าครั้งหนึ่งในอดีต ประชากรมนุษย์เคยลดจำนวนลงอย่างน่าตกใจจนเหลือเพียง 1,280 คนเท่านั้น เรียกได้ว่าเกือบสูญพันธุ์กันเลยทีเดียว
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) นำโดย หูวั่งเจี๋ย ได้ใช้เทคนิคใหม่ที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต หรือจีโนม (Genome) ที่มีชื่อเรียกว่ากระบวนการ ‘ฟิตโคล’ (FitCoal ย่อมาจาก Fast infinitesimal time Coalescent process) เพื่อสร้างแบบจำลองย้อนกลับไปหาจำนวนประชากรมนุษย์ในอดีต
แผนภูมิของช่วงเวลาการเกิด ‘คอขวดประชากร’ (เส้นสีเขียวบาง)
เมื่อราว 1 ล้าน – 8 แสนปีก่อน
ซึ่งตอนนั้นบรรพบุรุษมนุษย์มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ได้สูงมาก
ผลการวิเคราะห์จีโนมของกลุ่มตัวอย่างจำนวน 3,154 คน แบ่งเป็นประชากรเชื้อสายแอฟริกันจากต้นแบบ 10 กลุ่ม และที่ไม่ใช่เชื้อสายแอฟริกันอีก 40 กลุ่ม พบว่า ครั้งหนึ่งในอดีตคือ เมื่อราว 930,000 และ 813,000 ปีที่แล้ว บรรพบุรุษของมนุษย์ในเวลานั้นต้องเผชิญกับปัญหาคอขวดของประชากรระดับรุนแรง (Severe Human Bottleneck) จนจำนวนลดลงเหลือเพียงหลักพันคนเท่านั้น
มนุษย์กลุ่มเล็กๆ นี้เองที่ต้องดิ้นรนอยู่รอด เพื่อขยายเผ่าพันธุ์มายาวนานถึง 117,000 ปี
ทีมงานวิจัยคาดว่า ต้นเหตุของการสูญเสียประชากรไปถึง 98.7% จากที่มีอยู่เดิมนั้น น่าจะมาจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เข้าสู่ยุคน้ำแข็งที่เต็มไปด้วยความแห้งแล้งและหนาวเย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณทวีปแอฟริกาและภูมิภาคยูเรเชีย
แต่ท่ามกลางปัญหาอันเลวร้ายนี้อาจส่งผลดีต่อวิวัฒนาการมนุษย์ นั่นคือการเกิดขึ้นของโฮโมนีแอนเดอร์ทัลและเดนิโซวาน รวมทั้งบรรพบุรุษสายตรงของเรานั่นคือ โฮโมเซเปียนส์ในยุคต่อมา เนื่องจากผลงานวิจัยนี้สอดคล้องกับงานวิจัยของทีมงานอื่นก่อนหน้านี้ที่พบว่า โครโมโซมคู่ที่ 2 ของโฮโมเซเปียนส์ หรือมนุษย์ยุคใหม่ รวมทั้งของนีแอนเดอร์ทัลและเดนิโซวาน เกิดจากการรวมตัวของโครโมโซมโบราณ 2 ตัวเมื่อ 900,000-740,000 ปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เกิดวิกฤตคอขวดตามที่กล่าวมาข้างต้น
ในแง่มุมอื่นทีมงานยังตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาการลดลงของประชากรมนุษย์อาจไปเร่งวิวัฒนาการของสมอง จนสามารถใช้งานเครื่องมือใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ไฟ จนมนุษย์โบราณสามารถเอาชนะสภาพอากาศอันเลวร้ายสืบทอดเผ่าพันธุ์มาเป็นเราท่านในปัจจุบัน
หมายเหตุ: ทีมงานตีพิมพ์รายงานการค้นพบนี้ลงในวารสาร Science เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566: https://www.science.org/doi/10.1126/science.abq7487
แฟ้มภาพ: Gorodenkoff Via Shutterstock
อ้างอิง: