×

Huawei ย้ำการสร้างความมั่นใจด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์สำคัญยิ่งกว่าที่เคย ท่ามกลางอาชญากรรมคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก

09.11.2023
  • LOADING...

ในขณะที่โลกกำลังเดินหน้าสู่ความอัจฉริยะและมีการเชื่อมโยงระหว่างกันมากขึ้น โลกไซเบอร์ (Cyberspace) ก็ยิ่งเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิต ธุรกิจ และเศรษฐกิจโลก ปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น คลาวด์คอมพิวติ้ง, บิ๊กดาต้า, AI และ 5G ได้เข้ามาสร้างคุณค่ามหาศาลให้กับสังคม ขณะที่สินทรัพย์ดิจิทัลก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงกระนั้นก็ตาม โลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากการโจมตีทางไซเบอร์ที่เพิ่มมากขึ้น โดยการเจาะช่องโหว่ด้านความปลอดภัยอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้น การสร้างความมั่นใจด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์จึงยิ่งเป็นเรื่องสำคัญกว่าที่เคย

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ สถิติอาชญากรรมคุกคามทางไซเบอร์ทั่วโลกในปี 2565 ที่สะท้อนให้เห็นว่าความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เลย

 

  • แรนซัมแวร์
    พบการโจมตีจากแรนซัมแวร์ 236 ล้านครั้งใน 6 เดือนแรกของปี 2565 ซึ่งแรนซัมแวร์ขึ้นแท่นภัยไซเบอร์อันดับ 1 คิดเป็น 23% ของการโจมตีในระดับองค์กร และองค์กรถึง 50% ได้รับผลกระทบจากแรนซัมแวร์

 

  • การโจมตีแบบ DDoS
    จำนวนการคุกคามแบบ DDoS เพิ่มขึ้น 203% เมื่อเทียบกับช่วงหกเดือนแรกของปี 2564 โดยในเดือนมิถุนายน 2022 Google Cloud รายงานการป้องกันการโจมตีแบบ HTTPS DDoS ครั้งใหญ่ที่สุด ที่ 46 ล้านครั้งต่อวินาที

 

  • แอปพลิเคชันอันตราย
    ในปี 2021 บริษัท 46% ประสบปัญหาความปลอดภัยเพราะพนักงานดาวน์โหลดแอปพลิเคชันอันตรายบนมือถือ ขณะที่ในปี 2022 97% ของบริษัทเผชิญการโจมตีทางไซเบอร์ในรูปแบบภัยคุกคามบนมือถือ

 

  • ฟิชชิง
    องค์กรถึง 86% เผชิญการโจมตีในรูปแบบฟิชชิง โดยการละเมิดข้อมูลถึง 16% เกิดจากการโจมตีแบบฟิชชิงและการโจมตีทางไซเบอร์ถึง 41% ใช้วิธีฟิชชิงเพื่อเจาะเข้าระบบ

 

  • ภัยคุกคามจากอุปกรณ์ IoT
    ในครึ่งแรกของปี 2565 จำนวนมัลแวร์ IoT เพิ่มขึ้น 77% รวม 57 ล้านโปรแกรม และการโจมตี IoT กลายเป็นข้อกังวลอันดับต้นของผู้บริหารวงการไอที โดยสูงถึง 55%

 

  • ช่องโหว่ด้านความปลอดภัยบนคลาวด์
    ช่องโหว่บนระบบคลาวด์ เพิ่มขึ้น 150% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดย 98% ขององค์กรตรวจพบช่องโหว่บนระบบคลาวด์อย่างน้อยหนึ่งครั้งในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา

 

  • การแสวงประโยชน์จากช่องโหว่ด้านความปลอดภัย
    87% ขององค์กร เผชิญการฉกฉวยประโยชน์จากช่องโหว่ด้านความปลอดภัย โดยการแสวงหาประโยชน์จากช่องโหว่ด้านความปลอดภัยเพิ่มขึ้น 33% จากปี 2020-2021

 

ลึกลงไปแรนซัมแวร์อาชญากรรมทางไซเบอร์ที่ส่งผลกระทบระดับโลก โดยมีมัลแวร์ประเภทหนึ่งที่เข้ารหัสหรือขโมยข้อมูลจากองค์กร ขัดขวางการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์และการเปิดอ่านไฟล์ ผู้โจมตีจะเรียกค่าไถ่เพื่อกู้คืนหรือถอดรหัสข้อมูลที่เจ้าของต้องการใช้งาน แลกกับการเข้าควบคุมระบบได้ดังเดิม 

 

จำนวนการโจมตีแบบแรนซัมแวร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มัลแวร์ประเภทนี้ได้รับการพัฒนาให้ตรวจจับยากขึ้น เร็วขึ้น และส่งผลกระทบในวงกว้างมากขึ้น โดยแฝงตัวหลบเลี่ยงการตรวจจับจากซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสทั่วไป ในปัจจุบันการโจมตีแบบแรนซัมแวร์กลายเป็นกระแสภัยคุกคามไซเบอร์ที่สำคัญที่สุดด้านหนึ่ง ซึ่งแยกออกมาเป็นสถิติดังนี้

 

  • 1.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ – ต้นทุนรวมเฉลี่ยของการกู้คืนข้อมูลจากการโจมตีแรนซัมแวร์เพียงครั้งเดียวในปี 2021
  • 11 วินาที – ในปี 2021 การโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ส่งผลกระทบต่อธุรกิจผู้บริโภคหรืออุปกรณ์ โดยเฉลี่ยทุกๆ 11 วินาที
  • 80% – โอกาสที่องค์กรอาจถูกโจมตีซ้ำหลังจากจ่ายค่าไถ่
  • 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ – การขู่กรรโชกเพื่อเรียกค่าไถ่ข้อมูลครั้งใหญ่ที่สุดในไตรมาสแรกของปี 2022
  • ในปี 2021 ความเสียหายจากแรนซัมแวร์ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าปี 2015 ถึง 57 เท่า 
  • 16 วัน – ระยะเวลาโดยเฉลี่ยที่ระบบหยุดชะงักหลังถูกโจมตีโดยแรนซัมแวร์

 

สำหรับ Huawei การสร้างความมั่นใจด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นสิ่งที่ให้ความสำคัญมาโดยตลอด ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา Huawei ระบุว่าได้ทำงานร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายกว่า 1,500 เครือข่าย และสนับสนุนองค์กรธุรกิจหลายล้านรายในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล ขณะเดียวกัน Huawei ยังช่วยให้ผู้คนกว่า 3 พันล้านคนทั่วโลกได้เชื่อมต่อถึงกัน 

 

โดยที่สามารถรักษามาตรฐานด้านความมั่นคงปลอดภัยได้ดีมาโดยตลอด ขณะที่การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลกำลังดำเนินไปอย่างรวดเร็ว Huawei มีความตระหนักเป็นอย่างยิ่งว่า ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และการปกป้องความเป็นส่วนตัวจะเป็นกุญแจสำคัญต่อความสำเร็จของธุรกิจในยุคดิจิทัลแห่งอนาคตอย่างยั่งยืน    

 

THE STANDARD WEALTH ได้เดินทางไปที่ประเทศจีนเพื่อดูศูนย์ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และความโปร่งใสแห่งเมืองตงกวนของ Huawei ที่ประกอบด้วย ศูนย์นิทรรศการ และศูนย์ตรวจสอบและบริการลูกค้า ซึ่งลูกค้าสามารถนำอุปกรณ์ของตัวเองจากที่บริษัทมาตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ของ Huawei ก่อนตัดสินใจซื้อได้ ศูนย์ฯ ดังกล่าวยังเป็นที่ตั้งของ ‘ห้องปฏิบัติการด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แบบอิสระ’ ซึ่งมี ‘แฮกเกอร์สายหมวกขาว’ (White Hackers) จำนวน 200-300 คน ทำหน้าที่ตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ก่อนนำออกไปวางจำหน่ายและใช้งาน 

 

นอกจากนี้ในบริเวณเดียวกัน ยังมีศูนย์วิจัยพัฒนาซึ่งมีชื่อเรียกว่า ‘หมู่บ้านเขาวัว’ (Ox Horn Village) ประกอบด้วยกลุ่มอาคาร 12 กลุ่ม ซึ่งสร้างขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจจากแบบสถาปัตยกรรมชั้นนำในยุโรป โดยตั้งอยู่ทางใต้ของแม่น้ำซงซาน รองรับพนักงานกว่า 25,000 คน ซึ่งปัจจุบัน Huawei มีพนักงานด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์รวมทั้งสิ้นกว่า 3,800 คน ประจำอยู่ภายในศูนย์ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และความโปร่งใสแห่งเมืองตงกวน   

 

สุรชัย ฉัตรเฉลิมพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารระดับสูงฝ่ายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และความเป็นส่วนตัว บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) อธิบายว่า Huawei ในฐานะผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี โซลูชัน และโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ชั้นนำของโลก พร้อมนำความเชี่ยวชาญส่งตรงจากประเทศจีนมาสนับสนุนพันธมิตรทั่วโลก สำหรับในประเทศไทย 

 

Huawei ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เพื่อจัดการแข่งขันด้านความมั่นคงความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรทางด้านดิจิทัลและลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางด้านดิจิทัลในประเทศไทย 

 

จากกิจกรรมดังกล่าวส่งผลให้ประเทศไทยมีจำนวนบุคลากรทางด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นถึง 10,000 คน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2022 ซึ่งนับเป็นการขับเคลื่อนจำนวนบุคลากรทางด้านดิจิทัลให้กับประเทศไทย และยังช่วยผลักดันประเทศไทยสู่เป้าหมายในการขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน 

 

นอกจากนี้ Huawei ยังทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิดเพื่อให้มั่นใจได้ว่า อุปกรณ์ของ Huawei ทุกชิ้นที่นำเข้ามายังประเทศไทยมีการดำเนินการสอดคล้องตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 (PDPA) และทุกกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

 

“ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และการปกป้องความเป็นส่วนตัวเป็นความท้าทายที่ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม องค์การกำหนดมาตรฐาน องค์กรธุรกิจ ผู้ให้บริการเทคโนโลยีและผู้บริโภค มีความรับผิดชอบที่จะต้องเผชิญร่วมกัน Huawei ยึดมั่นในค่านิยมของความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ประกอบไปด้วย ความซื่อสัตย์ ความไว้วางใจ ความสามารถ ความรับผิดชอบ ความเปิดกว้าง และความโปร่งใส บริษัทฯ พร้อมเสมอที่จะพูดคุยและให้ความร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมไปถึงการแก้ปัญหาความท้าทายต่างๆ ในปัจจุบันที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และข้อมูลส่วนบุคคล”

 

ท้ายนี้ Huawei มีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานสากล การยกระดับนวัตกรรมและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดร่วมกัน เพื่อเพิ่มความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้ทุกคนได้รับประโยชน์สูงสุดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ สอดคล้องกับภารกิจของ Huawei ในการนำดิจิทัลมาสู่ทุกคน ทุกบ้าน และทุกองค์กร เพื่อขับเคลื่อนโลกอัจฉริยะที่ทุกสิ่งเชื่อมต่อถึงกันสมบูรณ์อย่างสมบูรณ์แบบ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising