“โลกอัจฉริยะแห่งอนาคตได้มาถึงแล้ว เราคาดว่า 50% ของฟังก์ชันหลักในหน่วยงานและธุรกิจต่างๆ จะต้องหันมาใช้ AI ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อปลดล็อกมูลค่าทางธุรกิจให้เต็มศักยภาพมากขึ้น” เดวิด หลี่ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด
สืบเนื่องจากการเปิดตัว Pangu Model 3.0 โมเดลปัญญาประดิษฐ์ของค่าย Huawei เมื่อเดือนกรกฎาคมของปีนี้ ที่มีเป้าหมายมุ่งเน้นสนับสนุนการเข้าถึง AI ให้เป็นไปได้กับทุกอุตสาหกรรมในทุกภาคส่วน โดยตัวโมเดลสามารถปรับแต่งให้ตรงตามบริบทของแต่ละประเภทธุรกิจ และตามสถานการณ์ที่หลากหลายได้อย่างเฉพาะเจาะจง
วานนี้ (18 ธันวาคม) บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมลงนามกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) บนบันทึกความเข้าใจ (MOU) ภายในงานประชุม Huawei Cloud AI Summit Thailand 2023 เพื่อผลักดันประเทศไทยให้สามารถพัฒนาไปสู่ยุคดิจิทัลได้อีกระดับ โดยใจความสำคัญของข้อตกลงแบ่งออกได้เป็น 4 ประการ ดังนี้
Localization: เป็นการปรับแต่ง AI ให้มีความเฉพาะตัวสำหรับประเทศไทย เพราะแต่ละประเทศมีกระบวนความคิดในการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งตัวอย่างการใช้งานโมเดลสำหรับภาษาไทย เช่น การใช้ในหน่วยงานรัฐบาล การเงินและค้าปลีก โดยโมเดลภาษาไทยที่ Huawei สร้างขึ้นได้ผ่านการฝึกฝนด้วยคลังข้อมูลของบริษัทที่สะสมมากว่า 30 ปี และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในไฮไลต์ของงานคือการที่เดวิดสามารถพูดผ่านวิดีโอที่อัดไว้เป็นภาษาไทยได้อย่างชัดเจน
Industry-Centric: เน้นความสามารถในการปรับความชำนาญของโมเดล AI ให้เชี่ยวชาญและมีความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมนั้นๆ ที่มีความต้องการไม่เหมือนกัน
Ecosystem: Huawei ต้องการสร้างระบบนิเวศของเทคโนโลยี AI ที่ได้มาตรฐานระดับโลก แต่สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้งานในประเทศต่างๆ ให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งแปลว่าความสามารถของบุคลากรก็เป็นสิ่งจำเป็น และต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งรัฐและเอกชน โดย Huawei Cloud ได้ร่วมมือกับองค์กรธุรกิจและมหาวิทยาลัยต่างๆ กว่า 40 สถาบัน เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างบุคลากรด้านเทคโนโลยี โดยการร่วมเปิดตัว Cloud & AI Community Thailand และเชิญชวนพันธมิตรของ Huawei เข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มเติม เพื่อเปลี่ยนไทยจากผู้ใช้งาน AI ให้กลายเป็นผู้สร้าง AI
Security: อีกประเด็นที่ต้องมีการวางกฎเกณฑ์ และอาศัยความร่วมมือจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งบริษัทและผู้กำกับนโยบาย ในการให้ AI ถูกใช้งานอย่างปลอดภัย ซึ่งเป็นอย่างแรกที่เดวิดเน้น เพราะโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัยจะสามารถนำไปสู่การต่อยอดที่มั่นคงต่อไปได้
ในส่วนของภาครัฐ ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า “เรามีความตั้งใจพัฒนาระบบคลาวด์กลางของรัฐ GDCC เพื่อสร้างฐานความรู้ร่วมกันให้เกิดเทคโนโลยี AI ของไทยร่วมกันกับ Huawei โดยมีเป้าหมายที่ต้องการสร้างสังคมดิจิทัลผ่านการฝึกอบรมธุรกิจ SMEs และสตาร์ทอัพให้มีทักษะเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าไทยยังมีคนเก่งด้านนี้เป็นจำนวนน้อย”
สำหรับภาครัฐเอง ประโยชน์ที่จะได้คือการที่ Huawei Cloud จะเสนอกระบวนการทำงานของรัฐบาลโดยเข้าไปเริ่มตั้งแต่การให้ความรู้ ความเข้าใจ ไปจนถึงการจัดการและตัดสินใจที่จะทำให้คำร้องขอของประชาชนมีการจัดการที่เป็นไปแบบอัตโนมัติ และทำได้ตลอดเวลา ทำให้บริการภาครัฐบาลรักษาคุณภาพและความมั่นคงได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการขาดแคลนบุคลากร