ธนาคาร HSBC ประเมินว่า อาเซียนจะเป็นเขตเศรษฐกิจที่โตเร็วที่สุดในโลก แนะไทยใช้โอกาสจากระเบียงการค้าระหว่างอาเซียนและตะวันออกกลาง-แอฟริกา หรือ ASEAN-MENAT Corridor ขยายตลาดส่งออกและดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในประเทศ
อแมนดา เมอร์ฟี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มลูกค้าธุรกิจ ประจำภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคาร HSBC เปิดเผยในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับ THE STANDARD WEALTH ว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ในปีนี้มีแนวโน้มจะขยายตัวได้สูงถึง 5.8% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมากเมื่อเทียบกับคาดการณ์การเติบโต GDP ของสหรัฐอเมริกาที่ 0.8% และยุโรปที่ 0.0% โดยปัจจุบันการส่งออกของอาเซียนคิดเป็น 8% ของมูลค่าการส่งออกจากทั่วโลก
นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่า อาเซียนจะก้าวขึ้นมาเป็น 1 ใน 5 เขตเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วยมูลค่า GDP ถึงกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 139 ล้านล้านบาทภายในปี 2025 และนับตั้งแต่ปี 2020 ภูมิภาคอาเซียนได้เป็นพันธมิตรคู่ค้าอันดับ 1 ของประเทศจีน แซงหน้าสหภาพยุโรป โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้อานิสงส์สูงสุดจากการเปิดประเทศของจีนอีกด้วย
เมอร์ฟีกล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเร็วๆ นี้ธนาคาร HSBC ได้จัดทำรายงานวิจัยเกี่ยวกับระเบียงการค้าระหว่างภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคตะวันออกกลาง-แอฟริกา (ASEAN-MENAT Corridor) เพื่อประเมินสถานการณ์ถึงการค้าและการลงทุนระหว่างสองภูมิภาค โดยพบว่า ณ ปี 2021 อาเซียนและภูมิภาคตะวันออกกลาง-แอฟริกามีจำนวนประชากรคิดเป็น 15% ของจำนวนประชากรทั้งหมดของโลก และมีมูลค่า GDP คิดเป็น 7% ของ GDP ทั้งหมดของโลก
อย่างไรก็ดีจุดที่น่าสนใจคือ มูลค่าการบริโภคของทั้งสองภูมิภาคมีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วตามการเพิ่มขึ้นของคนชั้นกลาง รวมถึงผู้บริโภคที่อายุน้อยลงและพร้อมจะใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งจากทิศทางดังกล่าวทำให้ธนาคารคาดว่า มูลค่าการนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างกันของสองภูมิภาคนี้จะมีการขยายตัวต่อเนื่อง
นอกจากนี้การที่ประเทศยักษ์ใหญ่ในภูมิภาค MENAT อย่างซาอุดีอาระเบีย มีแผนพัฒนาโปรเจกต์ขนาดใหญ่ในประเทศภายใต้ชื่อ ‘Saudi Vision 2030’ ที่มีเป้าหมายจะเพิ่มมูลค่า GDP ของประเทศเป็น 2 เท่า ภายในปี 2030 (เทียบจากปี 2016) โดยเน้นการลงทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน (Non-Oil Economy) เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันในอนาคต จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดของธุรกิจในอาเซียนรวมถึงไทยด้วย
“การกลับมาฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับไทยในรอบ 30 ปี ถือเป็นปัจจัยบวกสำหรับไทย เพราะซาอุดีอาระเบียเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง เป็นโอกาสสำหรับการส่งออกสินค้าและการดึงดูดนักท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบียมาไทย ในทางกลับกันก็เป็นโอกาสที่ธุรกิจไทยจะเข้าไปลงทุนในภูมิภาคดังกล่าวด้วยเช่นกัน” เมอร์ฟีกล่าว
ปัจจุบันภาคการส่งออกสินค้าของไทยไปยัง MENAT Corridor ที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด ได้แก่ เครื่องจักรกล พลาสติกและยาง รวมถึงอัญมณี โดย HSBC เชื่อมั่นว่า ภาวะการค้าและการส่งออกไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาของไทยนั้นจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้
“มีการคาดการณ์ว่า ภาคธุรกิจในซาอุดีอาระเบียจะเข้ามาลงทุนคิดเป็นมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาทในเมืองไทยในปี 2024 โดยโฟกัสที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้สิทธิประโยชน์จากเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เช่น นวัตกรรมด้านดิจิทัล พลังงานสะอาด การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และรถยนต์ไฟฟ้า” ผู้บริหาร HSBC ระบุ
นอกจากซาอุดีอาระเบียแล้ว รายงานของ HSBC ยังระบุด้วยว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี จะเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความสำคัญ โดยปัจจุบัน 52% ของเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากภูมิภาคตะวันออกกลางมายังประเทศไทยมาจากยูเออี และคาดการณ์ว่าจะเห็นความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศมากขึ้นในอนาคต
โดยล่าสุดในปี 2022 ทาง Abu Dhabi Fund for Development (ADFD) ได้ประกาศความร่วมมือทางธุรกิจมูลค่ากว่า 105 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 3,650 ล้านบาท กับทาง Minor International (MINT) เพื่อร่วมสร้างรีสอร์ตและโรงแรม 5 แห่งในประเทศไทย
ในมุมกลับกันก็มีธุรกิจในอาเซียนและไทยที่เข้าไปลงทุนในแถบ MENAT เช่นกัน โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร และภาคบริการ
“เราเห็นเทรนด์การเข้ามาลงทุนของประเทศในแถบตะวันออกกลางที่เพิ่มขึ้นในอาเซียน โดยเฉพาะในสิงคโปร์ ปัจจุบันมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย มีข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคีกับกลุ่มประเทศตะวันออกกลางแล้ว ซึ่งหากในอนาคตมีการขยายข้อตกลงให้ครอบคลุมทั้ง Bloc เศรษฐกิจอาเซียน เชื่อว่าเราจะเห็นดีลการเข้าซื้อกิจการ การลงทุน และการค้าขายระหว่างกันเพิ่มสูงขึ้นอีก” เมอร์ฟีกล่าว
ทั้งนี้ ธนาคาร HSBC คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตที่ 4.1% และในช่วง 5 ปีข้างหน้า GDP ไทยจะมีมูลค่าที่ 732,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 25.4 ล้านล้านบาท ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย โดยการส่งออกและรายได้ประชากรที่เพิ่มขึ้นเป็นสิ่งกระตุ้นการเติบโต