การมีประสบการณ์ 3 ปีใน Lazada และ 2 ปีในการคุม Grab ประเทศไทย น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เครือ CP ตัดสินใจดึง ‘ธรินทร์ ธนียวัน’ มานั่งในตำแหน่งผู้อํานวยการบริหารกลุ่ม ด้านอีคอมเมิร์ซ ของบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จํากัด
นับตั้งแต่เข้ามาช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ธรินทร์บอกกับ THE STANDARD WEALTH ว่า หน้าที่หลักของเขาคือการเข้ามาดูแลธุรกิจอีคอมเมิร์ซของเครือ โปรเจกต์ที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซ และการ Synergy ซึ่งเครือ CP อยู่ระหว่างการทรานส์ฟอร์มไปสู่การเป็น ‘Tech Company’
โดยปี 2564 เป็นการสร้างรากฐานที่แข็งเกร่ง ซึ่งการทำอีคอมเมิร์ซของเครือ CP แตกต่างจากคู่แข่งตรงที่มีสาขาที่เป็นร้านค้าแบบออฟไลน์นับหมื่นสาขา หากรวม 7-Eleven, Makro และ Lotus’s จึงต้องทำธุรกิจแบบ O2O (Online to Offline) มีการนำสาขามาเป็นฐานในการส่งของออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Makroclick ที่มีเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ส่วน 7-Eleven มี 7-Eleven Delivery และ All Online ส่วน Lotus’s เป็น Lotus’s Shop Online
เทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้นกับการระบาดของโรคโควิดเป็นปัจจัยที่กระตุ้นทำให้อีคอมเมิร์ซเติบโต โดยการเติบโตในช่องทางออนไลน์ของ Makro มีการเติบโต 60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว Lotus’s เติบโต 260% ซึ่งธรินทร์ย้ำว่าเป็นการเติบโตแบบยั่งยืน นั่นคือมี ‘กำไร’ ส่วน 7-Eleven ไม่ได้เปิดเผยตัวเลขอย่างชัดเจน แต่จากรายงานที่บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่าไตรมาส 3/64 ออนไลน์คิดเป็นสัดส่วนเกินกว่า 10% ของรายได้จากการขาย
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ระบุว่า ในปี 2563 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีมูลค่าเท่ากับ 3.78 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนของมูลค่าอีคอมเมิร์ซในรูปแบบ B2C มากที่สุด คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.17 ล้านล้านบาท B2B มีมูลค่ากว่า 0.84 ล้านล้านบาท และ B2G มีมูลค่า 0.77 ล้านล้านบาท
ในปี 2564 คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องภายหลังจากการฟื้นตัวจากสถานการณ์โรคระบาดโควิดเป็น 4.01 ล้านล้านบาท หรือเติบโต 6.11% จากปี 2563
“ปี 2564 เป็นปีสร้างฐานและหาหนทาง ปี 2565 เป็นปีแห่งการบุก โดยจะมีบริการเพิ่มเติมหลังจากเห็นการเติบโตอย่างหวือหวา ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์โควิด ทำให้ CP เล็งเห็นถึงภาพที่ชัดเจนว่า การไปแบบ O2O นั้นยั่งยืน แข็งเกร่ง และเติบโตได้ดี” ธรินทร์กล่าว
ภายในไตรมาส 1/65 Makro จะเปิดตัว Makro Market Place ที่เป็นการขายแบบ B2B ซึ่งนอกจากสินค้าจาก Makro แล้ว ยังมีการนำสินค้าของซัพพลายเออร์เข้ามาวางขายด้วย
ทาง Lotus’s จะออกแอปใหม่ จะมีการนำคลับการ์ดซึ่งเป็นระบบ CRM เข้ามาอยู่ด้วย จะทำให้กลายเป็น ‘ดิจิทัลทัชพอยต์ สำหรับลูกค้าคลับการ์ดจำนวนหลายล้านคนของเรา’ ที่สำคัญยังจะทำให้ขยายสาขาที่สามารถขายในออนไลน์ด้วย จาก 90 สาขา เป็น 2,000 กว่าสาขาในทันที กลายเป็น Game Changers ที่ยิ่งใหญ่ของเครือ ส่วน 7-Eleven มีนวัตกรรมที่เตรียมออกอีกมากมาย
ในช่วงไตรมาส 3/64 ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven มีจำนวนร้านสาขาทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 12,882 สาขา มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการรวม 68,197 ล้านบาท ลดลง 8.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสุทธิ 1,711 ล้านบาท ลดลง 55.5%
ด้าน Makro ช่วงไตรมาส 3/64 มีสาขารวมทั้งสิ้น 164 สาขา มียอดขายรวม 53,824 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7% มีกำไรสุทธิ 1,572 ล้านบาท เท่ากับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
ธรินทร์เผยว่า ปี 2565 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของเครือ CP จะมีการลงทุนในระบบ IT, แพลตฟอร์ม และ AI ด้วยเม็ดเงินหลัก ‘พันล้านบาท’ ซึ่งธรินทร์ย้ำว่า ข้อดีคือธุรกิจของเครือมีการวางอินฟราสตรักเจอร์ได้อย่างดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะสาขาที่ลดต้นทุนการลงทุนได้เยอะมาก ซึ่งแต่ละธุรกิจมีเซกเมนต์ที่ออกมาค่อนข้างชัดเจน โดย Makro เป็นเซกเมนต์แบบ B2B ส่วน 7-Eleven เป็นซื้อแบบอยากกินทันที ส่วน Lotus’s เป็นของสด
เมื่อมองพฤติกรรมผู้บริโภคในการซื้อสินค้าออนไลน์ ธรินทร์เผยว่าลูกค้าต้องการสินค้าที่เร็วขึ้นเรื่อยๆ เมื่อก่อนอาจจะรอ 3-4 วัน แต่ตอนนี้ต้องการภายใน 30 นาที และอีกหนึ่งเทรนด์ที่พบคือการซื้อของสดในช่องทางออนไลน์ ซึ่งหากหันไปดูตลาดที่เกาหลีใต้จะพบว่า ปัจจุบันยอดขาย 1 ใน 4 ของสินค้าสดทั้งหมดมาจากออนไลน์ ขณะที่ของไทยยังมีหลักดิจิต้นๆ ซึ่ง “จากเทรนด์เหล่านี้ ทำให้เครือ CP มองว่าจะต้องมีสาขาที่อยู่ใกล้ลูกค้า และนั่นคือจุดแข็งของเครือ
“เมื่อเทียบกับภาพตลาดต่างประเทศที่ภาพค่อนข้างชัดเจนแล้ว ทำให้เราเห็นว่าถ้าเอาสาขาที่มีรวมกันกว่า 1.5 หมื่นสาขามาใช้ จะมีอิมแพ็กมหาศาลมาก ไม่ว่าจะเป็นการส่งของที่จะถึงมือลูกค้าได้เร็ว การส่งที่จองช่วงเวลาได้ หรือลูกค้าสามารถเดินไปรับสินค้าได้โดยไม่ต้องรอ ซึ่งการมีสาขาที่มากและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นสิ่งที่สร้างความแข็งเกร่งให้กับเครือในอนาคต”
กระนั้นการบุกธุรกิจของสดออนไลน์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหากวัดการซื้อซ้ำซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของอีคอมเมิร์ซ จะพบว่าสิ่งที่ซื้อซ้ำบ่อยสุดคืออาหาร และรองลงมาคือของสด ซึ่งอย่างน้อยต้องซื้อสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แต่หมวดหมู่นี้ผู้ที่จะสามารถทำธุรกิจได้ต้องเป็นผู้ที่อยู่ในธุรกิจของสดมาเป็นเวลานาน และต้องมีฐานสาขาที่กระจายและอยู่ใกล้ลูกค้าด้วย
“ผมคิดว่าสัดส่วนของสดออนไลน์จะเพิ่มแบบทวีคูณ เมื่อมีผู้เล่นในตลาดที่สามารถเอาสาขาและซัพพลายเชนของสดมาใช้ได้ และจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ถูกกระตุ้นด้วยโควิด ทำให้ผมมองว่าจะเป็นอนาคตที่สดใสมากสำหรับของสดออนไลน์”
ปัจจุบันสัดส่วนยอดขายจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซของเครือ CP คิดเป็นสัดส่วนราว 10% ธรินทร์หมายมั่นปั้นมือว่า ภายใน 2-3 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย ธุรกิจอีคอมเมิร์ซต้องคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15-20% ของธุรกิจรีเทลของเครือ CP ทั้งหมด