×

How to ปลดล็อกสกิลตัวเองด้วย ‘กฎ 20% ของ Google’ แบบได้ผลจริงไม่ติงนัง

01.02.2022
  • LOADING...
How to ปลดล็อกสกิลตัวเองด้วย ‘กฎ 20% ของ Google’ แบบได้ผลจริงไม่ติงนัง

ยุคนี้ยามนี้ไม่มีใครที่อยากจะหยุดนิ่งอยู่กับที่หรอกจริงไหม ในเมื่อโลกของเราเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ในระดับวินาที ดังนั้นเรื่องของการเพิ่มพูนความรู้และทักษะใหม่ๆ เพื่อให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งที่อยู่ในใจของทุกคนเสมอ

 

หนึ่งในสูตรที่เป็นที่นิยมสำหรับการปลดล็อกสกิลตัวเองคือ ‘กฎเวลา 20%’ ซึ่งเป็นบัญญัติที่มีการพูดถึงมายาวนานตั้งแต่ปี 2004 หรือย้อนไปเกือบ 20 ปีเลยทีเดียว โดย เซอร์เกย์ บริน และ แลร์รี เพจ ผู้ร่วมก่อตั้ง Google ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกไว้ให้แก่พนักงาน

 

เนื้อความในจดหมายบอกไว้แบบนี้ 

 

“เราขอสนับสนุนให้พนักงานของเราได้ใช้เวลา 20% นอกเหนือจากการทำโปรเจกต์ตามปกติของพวกเขา ได้ลองคิดทำในสิ่งที่พวกเขาคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อ Google

 

“ด้วยวิธีนี้จะทำให้พวกเขาได้มีความคิดสร้างสรรค์และมีความคิดริเริ่มมากขึ้น ผลงานล้ำหน้าของเราหลายชิ้น (ยกตัวอย่างเช่น AdSense และ Google News) ก็เกิดขึ้นเพราะแบบนี้เอง”

 

ฟังแล้วหัวใจฟูเลยใช่ไหม?

 

แต่ปัญหาคลาสสิกสำหรับคนทำงานทุกยุคทุกสมัยคือ การผูกตัวเองติดอยู่กับงานมากจนเกินไป ลำพังแค่ใช้ชีวิตตาม Calendar หรือ To-Do-Lists ในแต่ละวันก็รีบจนหายใจไม่ทันแล้ว ไหนจะเข้าประชุม ตอบเมลหัวหน้า ตอบเมลลูกค้า บี้งานกับฝ่ายต่างๆ

 

เจอแบบนี้เข้าทุกวันๆ แข็งแกร่งมาจากไหนก็ ‘หมดตะพาบ’ ทุกคน 🐢

 

แล้วเราควรทำอย่างไรถึงจะปลดล็อกสกิลตัวเองได้ตามกฎ 20% อย่างดีและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

 

1. เพลงดาบร้อยกระบวนมิอาจเทียบฟาดกระบี่แค่หนเดียว

บนโลกใบนี้มีสิ่งให้เราเรียนรู้มากมายไม่รู้จบ หลายบริษัทมีการเปิดคอร์สออนไลน์ให้พนักงานได้ลงทะเบียนเรียนมากมาย (ลงทุนไม่น้อยนะนั่น) บางคนอาจจะเสียดายเลือกลงเรียน 10 คอร์สไม่ซ้ำกันเลย กะว่าคุ้มแน่

 

ความคิดแบบนั้นไม่ถูกเสียทีเดียว สิ่งที่จะแนะนำได้คือ แทนที่จะลงเรียน 10 อย่าง อาจจะเลือกเรียนเพียงอย่างเดียว (หรือสองอย่างก็ได้เอ้า) เช่น อยากเรียนรู้เรื่อง Metaverse เราก็เลือกลงเรียนสายนี้อย่างเดียว วิธีนี้จะทำให้เราพัฒนาตัวเองได้รวดเร็วยิ่งกว่า

 

ที่สำคัญเมื่อเราปลดล็อกสกิลได้แล้ว ไม่ว่าบริษัทจะมองเห็นหรือไม่ แต่อย่างน้อย ‘คุณค่า’ และ ‘มูลค่า’ ของเราก็ไม่เท่าเดิมแล้ว

 

2. กำหนดเป้าหมาย

เพื่อไม่ให้การลงทุนด้วยเวลาและแรงของเราสูญเปล่า เราควรกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนว่า 20% ของเวลาในแต่ละสัปดาห์ที่เราจะยอมเสียไปนั้นจะต้องได้ผลลัพธ์กลับมาด้วย เช่น ถ้าเราเรียนการพูดในที่สาธารณะ ‘ฉันจะต้องพูดให้เก่งเหมือน เฮียวิทย์ สิทธิเวคิน หรือ เฟิร์น-ศิรัถยา อิศรภักดี’

 

สุดท้ายถึงเราจะพูดไม่เก่งเท่าเขา แต่อย่างน้อยเราก็ต้องพูดเก่งหรือหายประหม่าขึ้นแน่นอน

 

3. แน่วแน่แต่ยืดหยุ่น

พอรู้ว่าจะต้องสละเวลา 20% ของชีวิตเพื่อใช้กับการฝึกฝนสกิลใหม่ๆ ให้ตัวเอง บางคนอาจคิดว่าเราต้องหนักแน่น มั่นคง ซื่อตรงต่อเวลา เลิกงาน 6 โมงปุ๊บ ปิดคอมพิวเตอร์ เปิด Netflix เอ้ย เปิดคอร์สออนไลน์เรียนเลยแบบไม่สนใจใครทั้งนั้น

 

ช้าก่อนสหาย บางทีมันก็อาจไม่ต้อง ‘เป๊ะ’ ทุกอย่างขนาดนั้นก็ได้ เพราะชีวิตการทำงานจริงๆ เราไม่มีทางรู้หรอกว่าเจ้านายเกิดอยากจะเรียกประชุมด่วนขึ้นมาตอนไหน หรือลูกค้าจะโทรมาแจ้งปัญหาคอขาดบาดตาย

 

ดังนั้นแทนที่เราจะตึงเปรี๊ยะ ก็หย่อนลงมาหน่อย ให้ความยืดหยุ่นกับชีวิตตัวเองบ้าง แค่ขอให้ได้ทำเถอะ จะตอนไหนก็ได้ทั้งนั้น

 

4. ทำให้บันเทิงเริงใจ

เอาเข้าจริงการใช้เวลา 20% ไปกับการหาอะไรใหม่ๆ ให้แก่ชีวิตนั้นไม่ง่ายเลย นอกจากเวลาแล้ว ต้องใช้กำลังกาย กำลังใจมหาศาลมากๆ ซึ่งมันมีโอกาสที่อาจเกิดความท้อแท้ เบื่อหน่าย และถอดใจในที่สุด

 

เพื่อป้องกันไม่ให้เราหมดไฟไปเสียก่อน ก็พยายามหาทางทำให้สิ่งที่เราจะทำนั้นไม่น่าเบื่อ เช่น แทนที่จะนั่งเรียนคอร์สออนไลน์เฉยๆ เราก็ใช้เวลาไปดริปกาแฟประกอบ หรืออยากจะฝึกพูดแทนที่จะดูแบบฝึกแล้วพูดกับตัวเองคนเดียว ก็ไปฝึกพูดระหว่างชวนเพื่อนกินข้าวกลางวัน

 

ถ้าเราทำอะไรแล้วสนุก ยากแค่ไหนก็ไม่หวั่นหรอก

 

5. ลงทุน 20% ของวันนี้ คือกำไรชีวิตในอีก 10 ปีข้างหน้า

ไม่มีการลงทุนครั้งใดที่สูญเปล่าหรอกนะ การลงทุนด้วยเวลา 20% กับแรงกายแรงใจของเรานั้นต่อให้วันนี้มันอาจเห็นผลไม่มากนัก (หรือถ้าใครเห็นผลมากก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีด้วย) แต่ให้คิดเสมอว่า ทำวันนี้ก็เพื่ออนาคตของเราเองในอีก 10 หรือ 20 หรือ 30 ปีข้างหน้า

 

บางสกิลอาจติดตัวไว้ใช้ได้จนแก่เฒ่า ช่วยให้เราเอาตัวรอดก็ได้นะ เช่น สกิลการพูด สกิลการทำพรีเซนเทชัน สกิลการออกแบบ ไปจนถึงสกิลการทำอาหาร หรือสำหรับสายคาเฟอีน เราอาจกลายเป็นนักดริปกาแฟในตำนานก็ได้ในอนาคต

 

รู้แบบนี้แล้ว อย่ารีรอ เริ่มคิดตั้งแต่ข้อ 1 เลยก็ได้ว่ามีอะไรใหม่ๆ ที่เราอยากเรียนรู้บ้าง?

 

สำหรับผู้เขียนแล้ว คิดออกแล้วหนึ่ง ไว้ขอลองก่อนนะ! 🙂

 

อ้างอิง: 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising