(หมายเหตุ: ข้อเขียนพาดพิงถึงเนื้อหาสำคัญบางส่วนของภาพยนตร์)
หนังเรื่อง ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ ของ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ไม่ได้เพียงแค่บอกเล่าเรื่องของหญิงสาวผู้ซึ่งความมุ่งมาดปรารถนาในเบื้องต้นได้แก่เก็บกวาดข้าวของที่รกรุงรังในบ้านให้กลายเป็นพื้นที่โล่งกว้างมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หรือตามที่นางเอกของเรื่องเรียกการสังคายนาครั้งมโหฬารนี้ว่า ‘มินิมัล’ ซึ่งเป็นอิทธิพลทางศิลปะที่เธอหลงใหลและชื่นชอบ ทว่ารูปแบบหรือสไตล์การนำเสนอในหนังของนวพลเรื่องนี้ก็ชวนให้สรุปได้ไม่ยากว่าอยู่ภายใต้กรอบคิดแบบเดียวกัน
หรือพูดง่ายๆ ในแง่ของแท็กติกและกลวิธี หนังเรื่อง ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ อาจจะไม่ถึงกับขัดขวางการมีส่วนร่วมกับหนังและตัวละครของผู้ชม หรือหันหลังให้กับการบิลด์อารมณ์อย่างตั้งหน้าตั้งตา แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ระหว่างหนังกับพวกเราคนดู มีสิ่งที่เรียกว่า ‘ระยะห่างและพื้นที่ว่าง’ อยู่พอสมควร ทั้งในแง่ของงานกำกับภาพในหลายช่วงที่แสดงออกอย่างชนิดไม่ยินดียินร้ายกับตัวละครโดยเจตนา (อาทิ การไม่เคลื่อนกล้อง หรือเคลื่อนแต่เพียงเล็กน้อย หรือมุมมองในหลายช่วงที่กำหนดให้ผู้ชมเฝ้ามองในฐานะผู้สังเกตการณ์ หนึ่งในนั้นได้แก่ตอนที่นางเอกร้องไห้สะอึกสะอื้น และภาพขนาดเต็มตัวก็ไม่ให้โอกาสคนดูได้ร่วมแบ่งปันความโศกเศร้าของตัวละครอย่างจริงๆ จังๆ) การลำดับภาพที่ Pacing หรือจังหวะก้าวไม่รีบร้อน (หลายช็อตกินเวลานานกว่าปกติ) ดนตรีประกอบที่ประหยัดทั้งถ้อยคำและท่วงทำนอง (บางจังหวะเราได้ยินโน้ตเพียงแค่ตัวเดียว) ตลอดไปจนถึงการแสดงของนักแสดงที่ถึงแม้ว่าสถานการณ์จะเอื้ออำนวย แต่กลับไม่ได้มุ่งไปในทิศทางของการพยายามกระตุ้นเร้าและโหมกระพือ คร่ำครวญ หรือฟูมฟาย
แต่ก็นั่นแหละ หนึ่งในอุดมการณ์ของศิลปะแบบ Minimalism ก็เป็นอย่างที่หลายคนรับรู้รับทราบ นั่นก็คือ ‘น้อยแต่มาก’ โดยปริยาย ความน้อยในแง่ของลูกล่อลูกชนกลับก่อให้เกิดอานุภาพในการทำลายล้างในช่วงท้ายอย่างที่น่าเชื่อว่าหลายคนคงไม่ทันตั้งตัว
อีกอย่างที่ควรกล่าวให้สะเด็ดน้ำตั้งแต่ต้นก็คือ ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ เป็นผลงานที่ผิดแผกไปจากหนังภายใต้ฉลากของ GDH ตามที่พวกเรารู้จักมักคุ้นอยู่เยอะทีเดียว อย่างน้อยดีกรีของความไม่ประนีประนอมก็เป็นอะไรที่รู้สึกและสัมผัสได้ตลอดเวลา (และนั่นรวมถึงตอนจบที่อาจเรียกได้ว่าไม่หลงเหลือความรู้สึกผ่องแผ้วเบิกบาน) อีกทั้งตัวหนังก็ไม่มีลักษณะที่เป็นสูตรสำเร็จตายตัว Trailer หรือหนังตัวอย่างอาจจะชักชวนให้ผู้ชมอนุมานว่ามันคงจะเป็นหนังโรแมนซ์ หรืออย่างน้อยมันบอกเล่าเรื่องราวการหวนกลับมาพบเจอกันอีกครั้งของหญิงสาวกับแฟนเก่าที่เลิกร้างกันไปด้วยเหตุผลบางประการ ผสมกับความสัมพันธ์แบบสามเส้า ซึ่งต้องลงเอยในแบบที่ใครคนหนึ่งคงจะต้องจากไปวันยังค่ำ แต่จนแล้วจนรอด หนังก็ไม่ยอมให้ตัวมันเองถูก ‘จับได้ไล่ทัน’ และมุ่งไปในทิศทางที่ผู้ชมไม่มีวันคาดเดา
ส่วนที่เป็นเสมือนจุดแข็งในหนังของนวพลมาตั้งแต่เริ่มแรก และยังคงเป็นเช่นนั้น ได้แก่วิธีที่เขาสร้างและพัฒนาตัวละคร โดยเฉพาะตัวเอกของเรื่องที่ชื่อ จีน (ออกแบบ-ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง ในบทบาทการแสดงที่เหมือนภูเขาไฟที่กำลังสะสมพลัง) ผู้ซึ่งในตอนเริ่มต้นเธอดูเป็นตัวละครที่แห้งแล้งเย็นชา และผู้ชมได้แต่นึกสงสัยว่าอะไรที่ดูดกลืนความมีชีวิตชีวาของหญิงสาวจนแห้งเหือดได้ขนาดนั้น
ข้อมูลเบื้องต้นที่สามารถสรุปได้ก็คือ เธอเพิ่งเรียนจบจากสวีเดน (บ้านเกิดของ รอย แอนเดอร์สัน หนึ่งในคนทำหนังแนว Minimalism คนโปรดของนวพล) และดังที่กล่าวข้างต้น เธอตัดสินใจเปลี่ยนบ้านห้องแถวสองหรือสามคูหาให้เป็นโฮมออฟฟิศ และนั่นคือตอนที่เมฆหมอกของความยุ่งยากค่อยๆ ก่อตัว
หมายความว่าในเบื้องต้น เธอดูเป็นคนใจแข็งและเด็ดเดี่ยวมากๆ และไม่มีอะไรขัดขวางความปรารถนาอันแรงกล้าของตัวละคร หนังให้เห็นว่าเธอทิ้งทุกอย่างจริงๆ และอย่างไร้อารมณ์ความรู้สึกด้วยประการทั้งปวง นั่นรวมถึงของขวัญของเพื่อนที่ชื่อ พิงค์ (พัดชา กิจชัยเจริญ) ผู้ซึ่งหญิงสาวชักชวนให้มาช่วยออกแบบออฟฟิศใหม่ จนกระทั่งฝ่ายหลังค้นพบเข้าโดยบังเอิญ อะไรที่ดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ หรือสามารถดีดนิ้วให้หายวับแบบจอมวายร้ายธานอส ก็กลับไม่ใช่อีกต่อไป
และไหนๆ ก็ไหนๆ การทิ้งข้าวของสองอย่างที่กลายเป็นเรื่องหนักอึ้งทางความรู้สึกของตัวละคร และมีอาฟเตอร์ช็อกติดตามมาอย่างหนักหน่วงรุนแรง อย่างหนึ่งก็เป็นอย่างที่ระบุไว้ใน Trailer นั่นคือกล้องถ่ายรูปของ เอ็ม (ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์) แฟนเก่าของเธอ ผู้ซึ่งจากคำบอกเล่าของจีน จู่ๆ เธอก็เลิกติดต่อเขาไปแบบไม่ทิ้งเงื่อนงำ นั่นยิ่งทำให้ความน่าฉงนสนเท่ห์ของคนดูพอกพูน และการที่จีนตัดสินใจย้อนกลับไปพบเจอกับเอ็มอีกครั้ง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของการขอโทษขอโพย ขอคืนดี รื้อฟื้นความสัมพันธ์ หรือปลดเปลื้องความรู้สึกผิดที่เกาะกุมในจิตใจ ก็อาจจะสรุปได้สั้นๆ เพียงแค่ว่า มันรังแต่จะยิ่งทำให้อะไรๆ เพิ่มความยุ่งยาก และมีคนไม่รู้อีโหน่อีเหน่ต้องรับผลกรรมจากเหตุที่ตัวเองไม่ได้ก่อขึ้น มิหนำซ้ำ ภูตผีแห่งอดีตก็ยังพลอยถูกปลุกให้หวนกลับมาอาละวาดและหลอกหลอนตัวละคร
ส่วนข้าวของอีกอย่างหนึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ชมต้องไปค้นหาในหนังกันเอาเอง หากทว่ามันช่วยปลดล็อกเครื่องหมายคำถามของผู้ชมอย่างน่าอัศจรรย์ และรวมถึงยังอธิบายว่าด้วยเหตุผลกลใด หญิงสาวโดยเฉพาะในตอนเริ่มต้นถึงได้กลายเป็นคนที่ไม่รู้สึกรู้สมกับเรื่องราวแต่หนหลังและการมีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ถึงเพียงนั้น
ไม่ว่าจะอย่างไร มีอยู่ประโยคหนึ่งจากหนังเรื่อง Greenberg (2010) ของ โนอาห์ บอมบาค ที่บางทีอาจจะใช้อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังเรื่อง ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ ได้อย่างน่าสนใจ มันเป็นถ้อยคำของนางเอก (เกรตา เกอร์วิก) ผู้ซึ่งเป็นคนที่ทั้งอ่อนโยนและจิตใจดีงาม ทว่าภายหลังที่เธอต้องพาตัวเองไปเกี่ยวข้องกับชายหนุ่ม (เบน สติลเลอร์) ผู้ซึ่งเป็นคนห่วยแตก และชอบพูดจาบั่นทอนความรู้สึกของใครต่อใครไปเรื่อย จู่ๆ เราก็ได้ยินหญิงสาวเอ่ยถ้อยคำประหลาดๆ ขึ้นมา “hurt people hurt people” ฟังผิวเผินเหมือนตัวละครพูดคำซ้ำ แต่จริงๆ แล้วมันเป็นรูปประโยค และสมมติว่าจะถอดความอย่างคร่าวๆ ก็คงจะประมาณว่า คนที่บอบช้ำมีแนวโน้มที่จะผ่องถ่ายความบอบช้ำไปสู่คนรอบข้างไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
ตามเนื้อผ้า หนังเรื่อง ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ อาจจะบอกเล่าเรื่องราวการเก็บ การทิ้ง การคัดแยกทั้งสิ่งที่จำเป็นและไม่จำเป็นสำหรับชีวิต และนั่นรวมถึงอดีตและความทรงจำที่ทั้งเจ็บปวดขื่นขมและงดงาม ซึ่งก็อย่างที่รู้กันว่าหลายสิ่งหลายอย่างไม่อาจโยนใส่ถุงดำได้อย่างง่ายดาย และหลายเรื่องก็ดำรงอยู่อย่างค้างคา แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง หนังก็บอกเล่าเรื่องราวของคนที่บอบช้ำด้วยเช่นกัน และจากที่หนังให้เห็น ความบอบช้ำก็เป็นเสมือนโรคร้ายที่สามารถแพร่กระจายไปติดคนรอบข้างอย่างไม่ตั้งใจ ข้อสำคัญ คนที่บอบช้ำทำร้ายคนรอบข้างจริงๆ มองในแง่มุมนี้ นางเอกของเรื่องก็เป็นทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ และอย่างหนึ่งที่สามารถสรุปได้แน่ๆ เมื่อเรื่องดำเนินไปถึงที่สุดก็คือ คนที่ไม่มีความสุขในหนังก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นเมื่อเทียบกับตอนเริ่มต้น หรือบางทีคงต้องรวมคนดูในตอนที่เดินออกจากโรงมาด้วย
ไม่ว่าจะอย่างไร ส่วนที่นับว่าเฉียบขาดมากๆ ได้แก่วิธีการที่คนทำหนังพาทั้งตัวละครและคนดูออกไปจากเรื่องที่ผูกขึ้นอย่างชนิดที่มองหาทางออกไม่ได้ง่ายดาย และไม่ใช่ด้วยการเทศนาสั่งสอนหรือหยิบยื่นทัศนะเกี่ยวกับการเก็บงำความทรงจำที่สุดแสนซ้ำซากจำเจ พวกเราจะเรียก ‘การตัดสินใจอย่างอุกอาจ’ ของจีนในช่วงท้าย (ซึ่งเกิดขึ้นในห้องพักของโรงแรม) ว่าอย่างไรดี เด็ดเดี่ยวกล้าหาญ หรือจนตรอกและสิ้นหวัง หรือว่าบางที มันอาจจะไม่ใช่แม้กระทั่งการ ‘มูฟออน’ หรือการพยายามมีชีวิตต่อไปของตัวละครเพียงลำพัง แต่เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ตัวละคร ‘อยู่รอด’ ในสภาวะของการกลืนไม่เข้าคายไม่ออก และทุกสิ่งทุกอย่างรอบข้างล้วนแล้วช่างน่าอึดอัดคับข้อง
ในขณะที่เราหยั่งรู้ไม่ได้แน่ชัดว่าตื้นลึกหนาบางของการกระทำดังกล่าวมีอะไรเป็นแรงจูงใจ หรืออาจจะเป็นผลพวงของหลากหลายอารมณ์รู้สึกที่ถาโถมเข้าหาตัวละครพร้อมๆ กัน อย่างหนึ่งที่หนังของนวพลชักชวนให้พวกเราคนดูพอจะสรุปได้ ว่าไปแล้ว เป็นแง่มุมที่สอดแทรกอยู่ในหนังของเขาแทบทุกเรื่อง และน่าเชื่อว่าหลายคนคงเห็นด้วยนั่นก็คือ ชีวิตของคนเราช่างเต็มไปด้วยเรื่องน่าผิดหวังเสียเหลือเกิน
ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ (2562)
กํากับ: นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์
ผู้แสดง: ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง, ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์, อาภาศิริ นิติพน, ษริกา สารทศิลป์ศุภา, ถิรวัฒน์ โงสว่าง, พัดชา กิจชัยเจริญ ฯลฯ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า