Q: เบื่อตัวเองจังค่ะที่ทำงานอะไรก็เสร็จไม่ทันไทม์ไลน์เสียที งานมันเยอะมากเลยค่ะพี่ ทำๆ อยู่ก็มีงานใหม่มาเพิ่ม ของเดิมก็ยังไม่เสร็จ เลยต้องเลื่อนส่งตลอด ยิ่งตอนนี้มาทำงานที่บ้าน ต้องตั้งใจกว่าเดิมมากเพราะบรรยากาศมันสบายเกินไปที่จะทำงาน เลยไม่ได้ทำสักที หนูควรทำอย่างไรดีคะ
A: พี่ดีใจกับน้องด้วยครับที่อยากรับบทที่ดีกว่าบท ‘นางเลื่อน’ คือมีงานอะไรก็เลื่อนหมดเพราะไม่เสร็จสักที ยอมรับว่าตัวเองมีปัญหาและอยากจะแก้ไขนี่ปัญหาก็แก้มาได้ครึ่งทางแล้วครับ เหลืออีกครึ่งทางไว้ให้เราแก้ต่อจากการลงมือทำ
มันมีสองคำที่เหมือนจะคล้ายกันแต่จริงๆ ต่างกันมาก และมีผลต่อการกระทำของเรา คือคำว่า ‘เดี๋ยว’ กับ ‘เดี๋ยวนี้’
‘เดี๋ยว’ แปลว่า ยังไม่รีบ รอได้ ยังไม่ใช่ตอนนี้ สำคัญแต่ยังไม่สำคัญตอนนี้ แต่…(อันนี้ต้องย้ำชัดๆ) เราต้องมีกำหนดว่า ไม่ใช่ตอนนี้แล้วจะทำตอนไหน ยังไม่สำคัญตอนนี้แล้วตอนไหนที่สำคัญ จะให้เวลามันตอนไหน
‘เดี๋ยวนี้’ แปลว่า ต้องทำตอนนี้ รอไม่ได้ สำคัญมาก ไม่ทำตอนนี้จะมีปัญหาอื่นๆ ตามมา แต่…(อันนี้ต้องย้ำชัดๆ เช่นกัน) เราต้องมีกำหนดเหมือนกันว่า จะให้เวลากับสิ่งนี้ตอนนี้จนถึงเมื่อไร เมื่อไรถึงจะไปทำสิ่งอื่นได้ จะให้เวลากับสิ่งนี้ถึงแค่ไหน
จะเห็นได้ว่า ทั้ง ‘เดี๋ยว’ และ ‘เดี๋ยวนี้’ สุดท้ายมันไปจบที่เดียวกันคือ จะให้เวลากับสิ่งที่เรียกว่าเดี๋ยวกับเดี๋ยวนี้ถึงเมื่อไร จะเดี๋ยวอีกนานไหม และจะเดี๋ยวนี้อีกเท่าไร เพราะเราไม่สามารถทำสิ่งเดียวตลอดไปได้ และจะไม่ทำอะไรเลยสักอย่างก็ไม่ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น การมีกำหนดเวลาที่ชัดเจนจึงเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราปล่อยเวลาไปแบบไม่มีกำหนด ความตั้งใจเราก็จะเบาบางลงเพราะรู้สึกว่ามันยังมีเวลาอีกเยอะ
ชีวิตเราต้องบริหารทั้งคำว่า ‘เดี๋ยว’ กับ ‘เดี๋ยวนี้’ อยู่ตลอดครับ หัวใจหลักคือการรู้ว่าอะไรสำคัญ รู้ว่าจะเรียงลำดับความสำคัญของแต่ละเรื่องในชีวิตอย่างไร ถ้าเดี๋ยวกับทุกอย่าง มันก็ไม่มีอะไรเสร็จสักที เพราะรู้สึกว่ามันไม่สำคัญ เอาไว้ก่อนก็ได้ แต่ถ้าเดี๋ยวนี้กับทุกอย่าง เราจะพังเหมือนกัน เพราะเราทำทุกอย่างพร้อมกันหมดไม่ได้ มีอยู่ร่างเดียว แยกร่างไม่ได้ หรืออาจจะไม่ได้คุณภาพดีสักอย่างเพราะไม่สามารถโฟกัสได้สักอย่าง เพราะฉะนั้นเราต้องบริหารทั้งคำว่าเดี๋ยวและเดี๋ยวนี้ ให้รู้ว่าอะไรตอนไหนจะโฟกัสเรื่องไหน
ถ้าเรื่องที่รอได้แต่ดันมาทำเดี๋ยวนี้หมด เรื่องที่สำคัญจริงๆ และควรทำเดี๋ยวนี้ก็อาจจะไม่ได้ทำ และพอไม่ได้ทำก็อาจจะสายไปก็ได้ เช่นเดียวกัน ถ้าเรื่องที่ต้องทำเดี๋ยวนี้แต่เราดันไปวางไว้ในหมวดเดี๋ยวก่อน สุดท้ายเรื่องที่ควรทำก็จะไม่ได้ทำ
เพราะฉะนั้น หนึ่ง แยกให้ออกว่าเรื่องไหนคือเดี๋ยว และเรื่องไหนคือเดี๋ยวนี้ สอง รู้ว่า จะให้เวลากับเดี๋ยว และเดี๋ยวนี้นานแค่ไหน แล้วลงมือทำตามเวลาที่เรากำหนด
ทีนี้ต่อให้มีงานแทรกเข้ามา น้องจะรู้แล้วว่าต้องจัดการกับงานไหนก่อน งานไหนสำคัญกว่า เร่งกว่า และแต่ละงานต้องการเวลาแค่ไหน ความลนลานจนทำอะไรไม่ถูกก็จะน้อยลง ค่อยๆ รับมือไปครับ ข้อดีคือ น้องรู้อยู่แล้วว่ามันมีงานแทรกมาตลอดแน่นอน เพราะฉะนั้น ในงานปัจจุบันที่น้องทำอยู่ น้องยิ่งต้องบีบไทม์ไลน์ให้เร็วขึ้นเพื่อเตรียมรับมือกับงานที่อาจจะมาแบบฉุกเฉินได้อยู่เสมอ
อีกวิธีหนึ่งที่พี่คิดว่าช่วยได้มากคือ นอกจากมีเป้าหมายใหญ่แล้ว สร้างเป้าหมายเล็กๆ เป็นหลักชัยระหว่างทางบ่อยๆ ยกตัวอย่าง สมมติเป็นการวิ่ง น้องมีกำหนดว่าจะต้องวิ่ง 5 กิโลเมตรให้ได้ภายใน 1 ชั่วโมง น้องต้องดูเลยว่าใน 5 กิโลเมตรนี้น้องจะแบ่งการวิ่งไกลๆ ให้เป็นการวิ่งสั้นๆ ได้แค่ไหน เช่น เอาทีละ 1 กิโลเมตร กิโลเมตรละ 12 นาที แปลว่าน้องก็ต้องจริงจังว่าใน 12 นาทีที่มีอยู่นี้จะต้องไปให้ถึง 1 กิโลเมตรให้ได้ ซึ่งสมมติว่ามีสักช่วงกิโลเมตรหนึ่งน้องใช้เวลาเกิน 12 นาที น้องอาจจะต้องวิ่งให้เร็วขึ้นในกิโลเมตรถัดไปเพื่อให้สุดท้ายแล้วน้องจะไปจบ 5 กิโลเมตรใน 1 ชั่วโมงได้สำเร็จ ไม่ใช่ว่าปล่อยให้เวลาร่นออกมาไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็จะไปถึงเส้นชัยช้ากว่ากำหนด
ในทางจิตวิทยา การที่น้องสามารถบรรลุเป้าหมายย่อยได้เรื่อยๆ จะทำให้น้องรู้ว่าตอนนี้ตัวเองอยู่ตรงไหนของเป้าหมายใหญ่ ทำให้น้องรู้สึกไม่หลงทาง รู้สึกมีกำลังใจว่าตัวเองทำอะไรสำเร็จอยู่บ่อยๆ รวมถึงทำให้น้องมีวิธีทำงานที่เป็นระบบ มีกระบวนการการทำงานที่เป็นแบบแผน
ในชีวิตการทำงานจริง น้องต้องมาดูว่า เพื่อจะบรรลุเป้าหมายของงานแต่ละชิ้น น้องจะต้องมีเป้าหมายย่อย (เหมือนการแบ่งการวิ่งสั้นๆ) อย่างไรบ้าง แต่ละเป้าหมายย่อยต้องการเวลาเท่าไร อันนั้นต้องการมาก อันไหนต้องการน้อย ไม่ได้แบ่งเท่ากันหมด ไปจนถึงว่ามองให้เห็นว่าเพื่อที่จะรักษาเวลาการทำงานให้ได้แบบนี้ น้องจะต้องมีปัจจัยอะไรมาช่วยให้มันสำเร็จได้บ้าง เช่น น้องต้องการงานจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นๆ เมื่อไร ยิ่งน้องสามารถเห็นภาพว่างานที่เราทำอยู่สัมพันธ์กับงานของคนอื่นอย่างไร น้องก็จะรู้สึกว่าต้องดูแลเวลาที่น้องทำงานให้ดียิ่งขึ้น เพราะมันจะกระทบกับไทม์ไลน์ของคนอื่น เราช้าหนึ่งคนจะกระทบใครอีกมากมายอย่างไรบ้าง เราจะเห็นใจและเกรงใจคนอื่นมากขึ้น วิธีการมองแบบนี้ทำให้เราไม่โฟกัสแค่งานตัวเอง แต่มองไปถึงภาพใหญ่ของทั้งระบบการทำงาน ซึ่งการมองภาพใหญ่แบบนี้สำคัญมากเวลาที่น้องเติบโตไปเป็นหัวหน้า
ทำ To-Do List ในแต่ละวัน ย่อยไปกว่านั้น ตีไปเลยว่าแต่ละชั่วโมงต้องทำอะไรเสร็จ หมดครึ่งวันแล้วมาดูว่าสำเร็จไปอย่างไรบ้าง จบวันแล้วทำได้ไหม ค่อยๆ ทำไปทุกวัน ค่อยๆ ปรับ
คำแนะนำอีกอย่างคือ ให้วางไทม์ไลน์เร็วกว่าปกติไว้เสมอ เผื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉินใดๆ น้องจะได้แก้ไขทัน เพราะยังไงมันมีแก้อยู่แล้วแน่นอน ฮ่าๆ ที่สำคัญที่สุด พยายามฝึกให้ตัวเองยึดไทม์ไลน์ที่วางไว้ให้ได้ ถ้ามันต้องเสร็จในเวลาเพียงเท่านี้ น้องก็ต้องทำให้ได้ด้วยพลังที่มี แล้วค่อยๆ มาปรับครับว่าอะไรทำให้งานเร็วขึ้นได้ และขจัดสิ่งที่จะทำให้งานช้าลงได้ เช่น ถ้ารู้แล้วว่าสภาพการทำงานที่สบายเกินไปจะทำให้น้องไม่อยากทำงาน น้องต้องจัดสภาพแวดล้อมใหม่ เอาสิ่งเร้าที่มันจะรบกวนการทำงานของเราออกไปบ้าง อย่างตัวพี่เอง พี่ใช้วิธีการไม่เปิดโทรทัศน์ในเวลาทำงาน ไม่ใช่แค่ไม่เปิด แต่พี่หันหลังให้โทรทัศน์เลยไม่ให้เห็น เก้าอี้ที่พี่ทำงานก็เป็นคนละตัวกับโซฟาที่เอาไว้นอนเอนหลังได้สบายๆ เก้าอี้ทำงานคือเก้าอี้ไว้ทำงาน เก้าอี้ผ่อนคลายก็มีหน้าที่ของมันที่ไม่ใช่เพื่อทำงานเหมือนกัน ไปจนถึงว่าเมื่อทำงานพี่ก็จะไม่เปิด Facebook ไปด้วย เพราะไถๆ เพลินๆ คงยาวแน่นอน แต่พี่ก็จะมีเวลาส่วนตัวของพี่เองเอาไว้ดู Facebook เพียงแต่ว่าแยกให้ออกว่าอันไหนเวลางาน อันไหนเวลาส่วนตัว
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ น้องรู้วิธีแล้ว ที่เหลือคือลงมือ ‘เดี๋ยวนี้’ น้องก็จะไม่เป็น ‘นางเลื่อน’ และเป็น ‘นางเอก’ แทนครับ
ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์มาที่ Facebook: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ (Facebook.com/Toffybradshawwriter)
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์