×

การกลับมาอย่างผู้เชี่ยวชาญ: ธุรกิจครอบครัวมีชัยเหนือโควิดได้อย่างไร (ตอนที่ 3)

03.09.2021
  • LOADING...
family business

จากบทความที่แล้ว เราได้เรียนรู้กลยุทธ์ระยะยาวที่เจ้าของธุรกิจครอบครัวทั่วโลกได้เลือกหรือพิจารณาที่จะเลือกใช้หลังจากที่ได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น กลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibilities Strategy) กลยุทธ์การแปลงโฉมธุรกิจ (Business Transformation Strategy) และกลยุทธ์ขันติและการไม่ผลีผลาม (Exercising Patience Strategy) บทความสุดท้ายนี้จะให้ข้อมูลแก่ผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจทั้งที่เป็นธุรกิจครอบครัวและไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว เกี่ยวกับการเลือกใช้กลยุทธ์ของธุรกิจครอบครัว ตลอดจนสิ่งที่ธุรกิจครอบครัวไทยน่าจะได้เรียนรู้จากข้อมูลของธุรกิจครอบครัวทั่วโลก

 

การเลือกใช้กลยุทธ์ของธุรกิจครอบครัว (Family Business Strategy Selection)

จากการที่ได้สังเกตการเลือกใช้กลยุทธ์ของเจ้าของธุรกิจครอบครัว จะเห็นว่ามีปัจจัยหลัก 2 ประการ ที่มีผลต่อการเลือกใช้กลยุทธ์ ซึ่งก็คือ ผู้นำ (Leadership) และองค์ประกอบของความเป็นเจ้าของ (Ownership Composition)

 

  1. ผู้นำ (Leadership)

ปัจจัยนี้เป็นการพิจารณาว่าผู้บริหารของบริษัทหรือ CEO เป็นสมาชิกในครอบครัวหรือไม่ หากธุรกิจครอบครัวใดมีสมาชิกในครอบครัวมีส่วนร่วมอย่างมากในการตัดสินใจ จะส่งผลให้ธุรกิจครอบครัวนั้นมีการนำค่านิยมหรือแนวคิดของครอบครัวมาใช้ในการตัดสินใจเลือกกลยุทธ์ระยะยาวมากด้วยเช่นกัน

 

  1. องค์ประกอบของความเป็นเจ้าของ (Ownership Composition)

หากผู้ถือหุ้นมีการกระจายตัวหลายครอบครัวหรือหลายกลุ่ม หรือบางกลุ่มอาจไม่ได้มีลักษณะเป็นครอบครัว การมีส่วนร่วมของครอบครัวก็จะกระจายตัว การตัดสินใจในด้านการบริหารงานและการพัฒนากลยุทธ์ระยะยาวจะนำค่านิยมหรือแนวคิดของครอบครัวมาใช้เป็นหลักคิดน้อยลง

 

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการเลือกกลยุทธ์ระยะยาว เช่น ขนาด อายุหรือความยาวนานของธุรกิจ และจำนวนรุ่นของสมาชิกครอบครัวที่มีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจ

 

ปัจจัยเหล่านี้สามารถจัดกลุ่มธุรกิจครอบครัวได้ 4 กลุ่ม ได้แก่ Family Corporation, Family Consortium, Family Enterprise และ Family Venture

 

family business

ปัจจัยหลัก 2 ประการ ในการเลือกใช้กลยุทธ์ของธุรกิจครอบครัว

 

ผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจ ทั้งที่เป็นธุรกิจครอบครัวและไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว อาจพิจารณาว่าธุรกิจของตนเองมีลักษณะอย่างไร และควรเลือกกลยุทธ์ในการจัดการหลังจากนี้อย่างไร ตามที่กล่าวไปข้างต้น ลักษณะของธุรกิจครอบครัวที่แตกต่างกันจะมีผลต่อการตัดสินใจเลือกกลยุทธ์ไม่เหมือนกัน และมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันเช่นกัน

 

  • ธุรกิจที่นำทีมบริหารโดยสมาชิกในครอบครัวและผู้ถือหุ้นเป็นสมาชิกในครอบครัวมากเท่าไร มีแนวโน้มมากที่การแก้ปัญหาในเบื้องต้นจะให้ความสนใจกับสวัสดิภาพของพนักงานและชุมชนรอบข้าง โดยส่วนใหญ่จะเลือกใช้กลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibilities Strategy)

 

  • ธุรกิจครอบครัวที่มีความเก่าแก่ ขนาดธุรกิจใหญ่ มีโครงการที่เป็นระบบ มักจะมีสายป่านที่ยาว มีแนวโน้มที่จะเลือกใช้กลยุทธ์ขันติและความไม่ผลีผลาม (Exercising Patience Strategy) ในช่วงแรกก่อน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด แล้วจึงเลือกใช้กลยุทธ์อื่นตามมา แต่ข้อควรระวังคืออย่าให้การเปลี่ยนแปลงที่เชื่องช้าเนื่องจากโครงสร้างที่ใหญ่และซับซ้อน ทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจบางอย่างไป

 

  • ขณะเดียวกัน ธุรกิจที่มีขนาดเล็กลงมา อาจมีแนวโน้มที่จะใช้กลยุทธ์ขันติและความไม่ผลีผลาม (Exercising Patience Strategy) เช่นกัน แต่เป็นในอีกมุมหนึ่ง เนื่องจากธุรกิจขนาดเล็กอาจไม่มีศักยภาพในการปรับธุรกิจหรือ Transform ธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว โดยแนวโน้มของธุรกิจที่ไม่มีการปรับตัวและมีสายป่านที่ยาวพอ ก็อาจไม่สามารถรอดพ้นวิกฤตการณ์นี้ไปได้ จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ร้อยละ 10 ของธุรกิจครอบครัวต้องปิดตัวลงไป

 

  • ธุรกิจครอบครัวที่มีคนรุ่นใหม่มีส่วนในการตัดสินใจ หรือธุรกิจครอบครัวที่มีหลาย Generation ช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ปัญหา มีแนวโน้มที่จะปรับใช้กลยุทธ์การแปลงโฉมธุรกิจ (Business Transformation Strategy) มากกว่าธุรกิจครอบครัวที่มี Generation เดียวบริหารงานถึงร้อยละ 45 อย่างไรก็ตาม หากครอบครัวใดที่แต่เดิม Young Generation ยังไม่ได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารหรือตัดสินใจในธุรกิจ แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ มีความจำเป็นที่ต้องเข้ามามีบทบาทอย่างเร่งด่วน เช่น เพื่อช่วยเสริมกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยี อาจขาดประสบการณ์ จึงต้องมีการสื่อสารระหว่าง Generation ให้มาก เพื่อให้การตัดสินใจใหญ่ๆ ของครอบครัวได้ถูกพิจารณาอย่างรอบด้านและรอบคอบ 

 

ธุรกิจครอบครัวไทยเรียนรู้อะไรได้จากธุรกิจครอบครัวทั่วโลก (What Thai Family Businesses can Learn from Global Businesses) 

ธุรกิจครอบครัวไทยมีบทบาททางเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ เพราะรากฐานธุรกิจในประเทศไทยล้วนมาจากธุรกิจครอบครัว 

 

  • Resilience is in Family Business DNA: ความยืดหยุ่น ความอดทน ความพยายาม และความนอบน้อมอยู่ในสายเลือดของคนไทยเราอยู่แล้ว ดังนั้นหากเราใช้จุดแข็งนี้ให้เกิดความคล่องตัวในการปรับตัว เพื่อปรับเปลี่ยนธุรกิจให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในสถานการณ์นี้ได้ อาจช่วยสร้างความแข็งแกร่งหรือมีรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือความรวดเร็วในการปรับตัว

 

  • Generation Combination: หลายธุรกิจครอบครัวของไทยเรามีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและเดินทางผ่านมาหลาย Generation การมีส่วนร่วมของ Generation ที่มีประสบการณ์สูง ไม่ว่าจะรุ่นที่ 1 หรือรุ่นที่ 2 โดยเฉพาะในเรื่องของการตัดสินใจแก้ปัญหา อาจช่วยให้การตัดสินใจมีความแม่นยำ อย่างไรก็ตาม หากสมาชิกในครอบครัวรุ่นที่ 1 หรือรุ่นที่ 2 ได้ทำงานร่วมกับสมาชิกในครอบครัวรุ่นใหม่ๆ ก็อาจเป็นส่วนผสมที่สมบูรณ์ในการผลักดันธุรกิจในสถานการณ์ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ดี หากสมาชิกในครอบครัวรุ่นใหม่ๆ ยังไม่พร้อม การเตรียมความพร้อมสำหรับการสืบทอดธุรกิจตั้งแต่วันนี้เป็นสิ่งจำเป็นมาก หากรุ่นพ่อ รุ่นแม่ ยังอยากส่งต่อธุรกิจไปยังรุ่นถัดไป จะผัดวันประกันพรุ่งไม่ได้อีกแล้ว

 

  • Communication is a Must Action: การสื่อสารที่ตรงไปตรงมาระหว่างสมาชิกครอบครัว โดยเฉพาะระหว่าง Generation ที่ต่างกันเป็นสิ่งสำคัญ สมาชิกต้องสื่อสารกันบ่อยขึ้น เพื่อให้ได้มุมมองที่ครบถ้วนทุกด้าน สำหรับการตัดสินใจอย่างทันท่วงที

 

  • Social Responsibility and Stakeholders are Important: การที่เราจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้ เราต้องไม่ละทิ้งสังคมและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ซัพพลายเออร์ พนักงาน และสมาชิกในครอบครัว ธุรกิจจะอยู่รอดได้ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งบางครั้งอาจสร้างโอกาสในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในตลาดรอบตัวเรานี้ได้ด้วย

 

  • One Size Does Not Fit All: แต่ละครอบครัวมีองค์ประกอบที่แตกต่างกัน ทั้งยังต้องพิจารณาปัจจัยภายนอกประกอบ เช่น สภาพเศรษฐกิจของประเทศที่ดำเนินธุรกิจอยู่ ตลอดจนกฎหมาย รวมถึงการสนับสนุนของรัฐบาล ดังนั้นจึงไม่มีสูตรสำเร็จของกลยุทธ์ใดที่ใช้ได้กับทุกครอบครัวและทุกเวลา เจ้าของธุรกิจครอบครัวต้องปรับใช้กลยุทธ์ให้เหมาะสมกับธุรกิจของตัวเอง

 

หากมองในภาพใหญ่แล้ว ธุรกิจครอบครัวเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย ดังนั้นในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก เจ้าของธุรกิจสามารถเริ่มต้นจากธุรกิจของตนเองและชุมชนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจครอบครัวหรือธุรกิจที่ไม่ใช่ครอบครัวก็ตาม เพื่อเชื่อมต่อจิ๊กซอว์เศรษฐกิจเป็นภาพใหญ่ของประเทศ และเป็นแรงขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกต่อไป

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising