×

เศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม ออกแบบอย่างไรให้เติบโตดีและทั่วถึง

11.05.2021
  • LOADING...
เศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม

HIGHLIGHTS

8 mins. read
  • เศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของเรามากขึ้น คำถามคือเราจะกระจายผลประโยชน์จากเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มให้กับทุกคนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันได้อย่างไร
  • หมู่บ้านเถาเป่ามาจากชื่อของแพลตฟอร์มเถาเป่า (Taobao) สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ที่มีผู้ซื้อจำนวนมหาศาลทั้งในจีนและในต่างประเทศ ถือเป็นตัวอย่างของโมเดลเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มที่ ‘ระบบตลาดยุคใหม่’ ช่วยกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
  • องค์ประกอบของเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม ประกอบด้วย 1. ผู้เล่น (หมายถึงผู้ซื้อและผู้ขาย) 2. ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม 3. ผู้ให้บริการสนับสนุนที่เข้ามาเติมเต็มการทำงานของแพลตฟอร์มให้สมบูรณ์ 
  • ระบบเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มภาครัฐจะมีบทบาทน้อยลง เพราะภาคเอกชนมีเทคโนโลยีและความรู้ความเข้าใจมากกว่า แต่ภาครัฐจะทำหน้าที่เป็นผู้เขียนกฎและผู้สนับสนุน
  • เศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง หากเราเตรียมความพร้อมจะเหมือน ‘การสร้างกังหันลม’ ที่เป็นพลังงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่หากปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงก็จะเหมือนการ ‘สร้างกำแพงกันลม’ ที่ขวางกั้นโอกาสการเปลี่ยนแปลง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของเรามากขึ้น ผู้อ่านหลายท่านคงมีโอกาสได้ซื้อสินค้าและบริการที่หลากหลายจากแพลตฟอร์มดิจิทัล ขณะที่อีกหลายท่านที่เป็นผู้ประกอบการก็น่าจะเริ่มเห็นประโยชน์ของแพลตฟอร์มดิจิทัลในการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการผลิต การขาย และการขนส่ง

 

คำถามที่สำคัญคือเราจะกระจายผลประโยชน์จากเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มให้กับทุกคนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันได้หรือไม่ อย่างไร คำตอบคือ ‘ทำได้’ ผมมีตัวอย่างของหมู่บ้านเถาเป่า (Taobao Villages) มาเล่าให้ฟัง

 

ชื่อหมู่บ้านเถาเป่ามาจากชื่อของแพลตฟอร์มเถาเป่า (Taobao) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน หมู่บ้านเถาเป่าส่วนใหญ่เป็นหมู่บ้านชนบทที่กระจายอยู่ทั่วประเทศจีน โดยเฉพาะในมณฑลทางตะวันออกของจีน เช่น เจ้อเจียง กวางตุ้ง และเจียงซู ความพิเศษของหมู่บ้านชนบทเหล่านี้คือชาวบ้านเป็นผู้ขายและ/หรือผู้ซื้อสินค้าและบริการบนแพลตฟอร์ม Taobao.com และ Tmall.com โดยหมู่บ้านที่จัดเป็นหมู่บ้านเถาเป่ามีผู้ประกอบการรายย่อยที่ขายสินค้าบนแพลตฟอร์มเถาเป่ามากกว่า 100 ราย และสร้างรายได้จากการขายรวมกันสูงกว่า 10 ล้านหยวนต่อปี โดยรายงานของธนาคารโลกระบุว่า ณ สิ้นปี 2018 มีหมู่บ้านเถาเป่าเกิดขึ้นแล้วเป็นจำนวนกว่า 3,202 แห่ง และมีผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มกว่า 660,000 ราย

 

หมู่บ้านเถาเป่าสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นได้เข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ที่มีผู้ซื้อจำนวนมหาศาลทั้งในจีนและในต่างประเทศ มีกรณีศึกษาจากเกษตรกรผู้ปลูกกีวีในมณฑลกุ้ยโจว ซึ่งสามารถขายผลผลิตได้ในราคาสูงขึ้นและได้ส่งออกกีวีไปขายในยุโรปด้วย ขณะที่ความต้องการซื้อสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้เกิดการผลิตและการจ้างงานภายในท้องถิ่น จนพัฒนาไปเป็นระบบนิเวศการผลิตที่มีความสมบูรณ์ขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นทำให้คนในพื้นที่ชนบทสามารถเลือกทำงานในท้องถิ่นของตน ไม่ต้องย้ายถิ่นฐานไปหางานในเมืองใหญ่ด้วยความยากลำบาก เห็นได้จากกรณีศึกษาจากมณฑลเจียงซู ซึ่งมีผู้ประกอบการรุ่นหนุ่มสาวเดินทางกลับมาทำงานในภูมิลำเนาและสร้างรายได้เทียบเท่ากับการย้ายไปทำงานในเมืองใหญ่ นอกจากนี้คนในท้องถิ่นก็สามารถซื้อสินค้าที่หลากหลายได้ง่ายขึ้นและราคาถูกล

 

หมู่บ้านเถาเป่าเป็นตัวอย่างของโมเดลเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มที่ ‘ระบบตลาดยุคใหม่’ ช่วยกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รายได้และการจ้างงานไปให้กับผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่ห่างไกล และถือเป็นต้นแบบในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เห็นผลจริง คำถามคือเราจะสร้างเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มที่ประสบความสำเร็จเหมือนหมู่บ้านเถาเป่าได้อย่างไร อะไรคือปัจจัยที่เอื้อให้ระบบตลาดทำงานและกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับทุกคนอย่างทั่วถึง และภาครัฐมีบทบาทอย่างไรในการสร้างเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มที่ดี เราจะมาหาคำตอบร่วมกันในบทความฉบับนี้

 

ระบบนิเวศของเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม

เศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มมีองค์ประกอบอะไรบ้าง แต่ละองค์ประกอบทำงานเชื่อมโยงกันอย่างไร ภายในแพลตฟอร์มหนึ่งๆ ควรมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์อันประกอบไปด้วย


1. ผู้เล่น หมายถึงผู้ซื้อและผู้ขายซึ่งดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล
2. ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มซึ่งเป็นผู้สร้างและดูแลการทำงานของแพลตฟอร์มดิจิทัล
3. ผู้ให้บริการสนับสนุนที่เข้ามาเติมเต็มการทำงานของแพลตฟอร์มให้สมบูรณ์ เช่น ผู้ให้บริการด้านการเก็บและประมวลข้อมูล ผู้ให้บริการทางการเงินและการชำระเงิน และผู้ให้บริการขนส่ง

 

เศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มเกิดขึ้นจากแพลตฟอร์มหลายประเภทที่มาเชื่อมต่อและทำงานร่วมกัน แต่ละแพลตฟอร์มมีหน้าที่แตกต่างกัน เช่น แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นตลาดซื้อขายสินค้าและบริการ แพลตฟอร์มตลาดแรงงานจับคู่แรงงานกับผู้ผลิต และแพลตฟอร์มทางการเงินให้บริการชำระเงินและเป็นตัวกลางให้เกิดการโยกย้ายทรัพยากรทางการเงิน ฯลฯ แพลตฟอร์มจะเชื่อมต่อกันจนกลายเป็นระบบนิเวศทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร และการแลกเปลี่ยนทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ

 

องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มและเอื้อให้แพลตฟอร์มดิจิทัลสามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติและมีคุณภาพ คือ ‘โครงสร้างพื้นฐาน’ ซึ่งประกอบไปด้วย ‘โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ’ และ ‘โครงสร้างพื้นฐานเชิงสถาบัน’ โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพหมายรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีไปจนถึงอุปกรณ์สื่อสารสารสนเทศในมือของผู้เล่น ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานเชิงสถาบัน คือ Rules of the Game ที่กำกับปฏิสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนมูลค่าทางเศรษฐกิจระหว่างผู้เล่นบนแพลตฟอร์ม ซึ่งหมายรวมถึงกฎเกณฑ์การทำงานของแพลตฟอร์ม วิธีการที่ผู้เล่นเข้าสู่และใช้งานแพลตฟอร์ม ตลอดจนการจัดสรรผลประโยชน์จากมูลค่าเพิ่มที่ถูกสร้างขึ้นบนแพลตฟอร์ม

 

ระบบนิเวศของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

 

โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ: เตรียมเทคโนโลยีและคนให้พร้อม

โครงสร้างพื้นฐานมีความสำคัญมาก เสมือนกับเสาเข็มของเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม งานศึกษาของ Zeng, Jia, Wan, and Guo (2015) อธิบายว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพเป็นขั้นตอนแรกในการสร้างหมู่บ้านเถาเป่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีการจัดการข้อมูล เช่น การลงทุนในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และการลงทุนในเทคโนโลยีในการเก็บและประมวลผลข้อมูล

 

นอกจากการลงทุนในเทคโนโลยีแล้ว การลงทุนในทุนมนุษย์ก็สำคัญเช่นกัน โดยการลงทุนควรมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้ครัวเรือนและธุรกิจเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมไปเป็นเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม เราไม่ควรปกป้องโมเดลธุรกิจแบบเดิม แต่ควรเอื้อให้ครัวเรือนและธุรกิจเปลี่ยนความคิดและวิธีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อที่จะสามารถสร้างตัวและเติบโตได้ในเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม การลงทุนในทุนมนุษย์ประกอบไปด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงและใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างทั่วถึง การส่งเสริมทักษะและองค์ความรู้ในการใช้งานเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันและการดำเนินธุรกิจบนแพลตฟอร์มดิจิทัล

 

โครงสร้างพื้นฐานเชิงสถาบัน: ออกแบบแพลตฟอร์มให้กระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างสมดุล

โครงสร้างพื้นฐานเชิงสถาบันมีความสำคัญมากต่อการทำงานของเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม องค์ประกอบสำคัญของเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มคือ ‘ข้อมูล’ ดังนั้น แพลตฟอร์มจำเป็นต้องมีโครงสร้างเชิงสถาบันที่กำกับการสร้าง การใช้งานและการแลกเปลี่ยนข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเหมาะสม เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์และสร้างความเชื่อมั่นของคนที่ก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม โดยโครงสร้างเชิงสถาบันควรครอบคลุมประเด็นเกี่ยวกับการยืนยันตัวตน และการดูแลรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลไม่ให้มีการนำไปใช้ในทางที่ผิด

 

นอกจากนี้ การออกแบบเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มยังต้องคำนึงความเสี่ยงและความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากความผิดพลาดของเทคโนโลยีสารสนเทศและการจัดการข้อมูล ลักษณะของความเสี่ยงบนแพลตฟอร์มดิจิทัลมีความแตกต่างจากเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม เพราะความสูญเสียสามารถเกิดขึ้นได้เร็วและกระจายออกไปในวงกว้าง การออกแบบเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มจึงต้องคำนึงถึงธรรมชาติของความเสี่ยงและวางแผนรองรับเอาไว้ล่วงหน้า ปัจจุบันเรามีความพร้อมมากขึ้นในการบริหารความเสี่ยงบนเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม เรามีเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในการติดตามและบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพขึ้น ทั้งผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่สามารถออกแบบให้เหมาะสมกับความเสี่ยงได้มากขึ้น อีกทั้งยังมีตลาดรองรับการซื้อขายสัญญาประกันภัยที่ลึกขึ้นอีกด้วย

 

จากบทความฉบับที่แล้ว ผมได้ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มมีกลไกที่ส่งเสริมการกระจายมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างสมดุล เนื่องจากแพลตฟอร์มดิจิทัลมีข้อมูลข่าวสารที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น จึงไม่มีผู้เล่นคนใดสามารถใช้ประโยชน์จากความไม่สมมาตรของข้อมูลในการโยกย้ายผลประโยชน์ที่อีกฝ่ายพึงได้มาเป็นของตน (การใช้ประโยชน์จากความไม่สมมาตรของข้อมูล เช่น ผู้ขายคนหนึ่งขายสินค้าราคาสูงเกินมูลค่าที่แท้จริงได้ เพราะผู้ซื้อไม่รู้ว่ามีทางเลือกอื่นที่ถูกและดีกว่า) ดังนั้นเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มจึงควรเอื้อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ

 

อย่างไรก็ดี ผู้เล่นต้องอาศัยแพลตฟอร์มเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจึง ‘เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร’ และสามารถสร้างมูลค่าจากข้อมูลข่าวสารได้มากกว่าผู้เล่นทุกคน ดังนั้นหากขาดการออกแบบที่ดีเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มอาจเกิดความไม่สมมาตรของข้อมูลข่าวสารแบบใหม่ขึ้น นั่นคือความไม่สมมาตรระหว่างผู้เล่นกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม

 

ความไม่สมมาตรแบบใหม่นี้ทำให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มมีอำนาจตลาดมากเกินไป และอาจบิดเบือนกลไกการจัดสรรทรัพยากรตามกลไกตลาด จนทำให้เศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มไม่สามารถให้ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดต่อสังคม เช่น ผู้ขายรายใหญ่อาจจ้างผู้ให้บริการแพลตฟอร์มหยิบสินค้าของตนขึ้นมาเป็นตัวเลือกแรกในผลการค้นหาทั้งที่ไม่ใช่สินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่สุด หรืออาจจ้างผู้ให้บริการแพลตฟอร์มให้บิดเบือนคะแนนความพึงพอใจในสินค้า

 

ปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูลข่าวสารระหว่างผู้เล่นกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มมีวิธีการแก้ไข 2 วิธี ได้แก่


1. การกำกับดูแลภายในแพลตฟอร์มแบบ Open Governance กล่าวคือมีการเปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูล และการใช้งานข้อมูลในการจับคู่ผู้ซื้อและผู้ขายอย่างโปร่งใส และเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในแพลตฟอร์มมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและกำกับดูแลให้การจัดสรรทรัพยากรบนแพลตฟอร์มเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้เล่น สำหรับแพลตฟอร์มเถาเป่าก็นำ Open Governance มาใช้เช่นกัน โดยแบ่งหลักการกำกับออกเป็น 6 ประการ ได้แก่ การออกแบบระบบและการตั้งกฎที่เหมาะสม, การประสานงานกับภาครัฐ, การประสานงานกับผู้เล่น, การเปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็นจากผู้เล่น, การเล็งให้เห็นปัญหาและป้องกันไว้ล่วงหน้า และการให้ความรู้เกี่ยวกับกลไกการทำงานของแพลตฟอร์มกับผู้เล่น


2. การส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันระหว่างแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยการแข่งขันจะจูงใจผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้การแข่งขันยังช่วยเกลี่ยและคานอำนาจตลาดของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม จึงป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดซึ่งนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรที่ด้อยประสิทธิภาพ


บทบาทของภาครัฐในการสร้างระบบเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม คือ ผู้เขียนกฎและผู้สนับสนุน

ในระบบเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มภาครัฐจะมีบทบาทน้อยลง เพราะต้องยอมรับว่าภาคเอกชนมีเทคโนโลยีและความรู้ความเข้าใจมากกว่าในการสร้างและการกำกับดูแลการทำงานของแพลตฟอร์มของตนเอง นอกจากนี้การแทรกแซงที่มากเกินไปอาจขัดขวางการเติบโตหรือบิดเบือนกลไกตลาดของเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มได้


แล้วภาครัฐจะมีบทบาทอย่างไร บทบาทของภาครัฐในเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มมี 2 รูปแบบ ได้แก่


1. ‘ผู้เขียนกฎ’ เศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มจำเป็นต้องมีโครงสร้างเชิงสถาบันในระดับมหภาคที่กำกับให้เศรษฐกิจทำงานได้ และสร้างแรงจูงใจให้คนในระบบเศรษฐกิจดำเนินกิจกรรมที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับทุกคนในสังคม จากประสบการณ์ต่างประเทศ ภาครัฐจะมีบทบาทมากในการเขียนกฎที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานและแลกเปลี่ยนข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเป็นระบบและปลอดภัย เช่น การออกกฎและพัฒนากฎ The General Data Protection Regulation 2016/679 ในสหภาพยุโรป นอกจากนี้ภาครัฐจะมีบทบาทในการวางเงื่อนไขทางกฎหมายที่ส่งเสริมการแข่งขันระหว่างแพลตฟอร์ม


2. ‘ผู้สนับสนุน’ โดยเฉพาะการสนับสนุนผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นเงื่อนไขจำเป็นต่อการสร้างเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม นอกจากนี้ภาครัฐยังมีบทบาทเป็น ‘ผู้มองภาพรวม’ เพื่อเติมเต็มช่องว่างภายในเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มให้เป็นระบบนิเวศที่มีความสมบูรณ์ขึ้น


ภาครัฐจะสามารถสนับสนุนเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มได้อย่างมีคุณภาพหากทำงานร่วมกับภาคเอกชน โดยภาคเอกชนมีความรู้ความเข้าใจถึงแนวโน้มทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ขณะที่ภาครัฐมีเครื่องมือในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและเครื่องมือทางการคลัง

 

จากตัวอย่างของหมู่บ้านเถาเป่า เราสามารถแบ่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานออกเป็น 3 ระยะ

 

ระยะแรก ภาครัฐควรเป็นคน ‘เริ่ม’ ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพภายใต้คำแนะนำของภาคเอกชน

 

ระยะที่สอง คือการสร้าง ‘ชุมชน’ ที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม โดยภาคเอกชนจะมีบทบาทมากขึ้นในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าสู่ท้องถิ่น และเตรียมความพร้อมของประชาชนโดยการให้ความรู้และพัฒนาทักษะ

 

ระยะที่สาม เมื่อชุมชนเติบโตถึงระดับหนึ่งแล้ว ภาครัฐจะกลับเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการ ‘มองภาพรวม’ ว่าจะเติมเต็มและเชื่อมต่อชุมชนเข้าหากันจนเป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์ได้อย่างไร ภาครัฐจะมีบทบาทในการสร้างเครือข่ายธุรกิจ ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากภายนอก และสนับสนุนให้คนหนุ่มสาวที่มีศักยภาพย้ายถิ่นฐานกลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มในภูมิลำเนาของตน

 

นอกจากนี้ระบบภาษีจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญของภาครัฐ จากประสบการณ์ต่างประเทศ ภาครัฐสามารถออกแบบระบบภาษีที่ตอบโจทย์สองประการไปพร้อมๆ กัน คือ 1. สร้างรายได้เพียงพอสำหรับการลงทุน 2. จูงใจให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมไปเป็นเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เช่น การให้แรงจูงใจทางภาษีกับธุรกิจขนาดเล็กในการพัฒนานวัตกรรมหรือฝึกทักษะแรงงาน ในขณะเดียวกันก็เก็บภาษีเพิ่มขึ้นกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่พยายามรักษาอำนาจตลาดและขัดขวางการเปลี่ยนผ่าน 

 

เทคโนโลยีแพลตฟอร์มดิจิทัลจะช่วยพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพของการให้บริการสาธารณะ

นอกจากบทบาทข้างต้น ภาครัฐยังสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีแพลตฟอร์มดิจิทัลในการพัฒนาการให้บริการสาธารณะ โดยเราเริ่มเห็นภาครัฐในกลุ่มประเทศรายได้สูงนำ ‘แนวคิดแบบแพลตฟอร์ม’ มาประยุกต์ใช้ในการให้บริการสาธารณะมากขึ้น แนวคิดดังกล่าวมีชื่อว่า Government as a Platform


Government as a Platform (GaaP) หมายถึงแนวคิดที่ภาครัฐทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มเชื่อมต่อระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยแพลตฟอร์มภาครัฐจะทำหน้าที่เป็น ‘Open Standard’ สำหรับการสร้างและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสาธารณะระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ระหว่างหน่วยงานรัฐ หรือระหว่างภาคเอกชนด้วยกันเอง ซึ่งจะช่วยให้เกิดการไหลเวียนอย่างสมบูรณ์ของข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริการสาธารณะ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ข้อมูลเพื่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

 

ตัวอย่างของ GaaP ที่มีชื่อเสียงมากคือ e-Estonia ของประเทศเอสโตเนีย ซึ่งรองรับบริการกว่า 99% ของบริการสาธารณะทั้งหมด นับตั้งแต่ระบบทะเบียนราษฎร์ ระบบประกันสังคม ไปจนถึงการให้บริการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยรัฐบาลเอสโตเนียประเมินว่า e-Estonia สามารถช่วยประหยัดเวลาในการทำงานลงได้ถึง 844 ปีเมื่อเทียบกับการให้บริการสาธารณะรูปแบบเดิม


องค์ประกอบสำคัญของ e-Estonia คือ Government Cloud ซึ่งเป็นระบบจัดเก็บและให้บริการการแลกเปลี่ยนข้อมูลประชากรและการเข้ารับบริการสาธารณะ โดย Government Cloud เป็นรากฐานของระบบการยืนยันตัวตน e-Identity ที่เปิดให้ครัวเรือนสร้างและเข้าถึงข้อมูลทะเบียนราษฎร์อย่างสะดวกรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็เปิดให้ภาคธุรกิจสามารถใช้ข้อมูลในการดำเนินธุรกิจตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ Government Cloud ยังเชื่อมต่อเข้ากับระบบจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท e-Business Register ระบบภาษี e-Tax และระบบการธนาคารและการชำระเงิน e-Banking ซึ่งรัฐบาลเอสโตเนียประเมินว่าธุรกิจสามารถจดทะเบียนบริษัทได้ภายในเวลา 3 ชั่วโม

 

จงสร้างกังหันเพื่อต้อนรับกระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลง

‘When the wind of change blows, some build walls, while others build windmills’ – สุภาษิตจีน


แพลตฟอร์มดิจิทัลคือ ‘ลมแห่งการเปลี่ยนแปลง’ ที่จะมาถึงเศรษฐกิจไทยในไม่ช้า เศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยและกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง หากเราลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี เตรียมคนและวางโครงสร้างเชิงสถาบันที่เหมาะสม เปรียบเสมือนกับ ‘การสร้างกังหันลม’ ที่เป็นพลังงานขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามหากเราปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง ยึดติดอยู่กับรูปแบบการดำเนินชีวิตแบบเดิม หรือยึดโยงอยู่กับระบบเศรษฐกิจแบบเดิม เรากำลัง ‘สร้างกำแพงกันลม’ ซึ่งขวางกั้นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น

 

ภาครัฐจะเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดชะตาของเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม หากเราตระหนักและปรับเปลี่ยนบทบาทของตนให้เหมาะสมภายใต้กระแสลมที่เปลี่ยนแปลงไป ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มจะสร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศไทย และช่วยให้คนไทยได้รับ ‘โอกาส’ ในการเติบโตได้อย่างเท่าเทียม

 

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising