×

เปิดวิธีรับมือ ควรทำอย่างไรต่อ? หลังโดนมิจฉาชีพหลอก

โดย THE STANDARD TEAM
29.09.2023
  • LOADING...

ปัจจุบันมิจฉาชีพพยายามหลอกลวงเอาเงินจากประชาชนอย่างแนบเนียนและมีเทคนิคที่หลากหลายขึ้น ส่งผลให้มีผู้ตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก ดังนั้นการรู้วิธีรับมือมิจฉาชีพเบื้องต้นไว้ย่อมเป็นประโยชน์อย่างแน่นอน ลดโอกาสสูญเสียทรัพย์สิน และเพิ่มโอกาสให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตามจับผู้กระทำผิดได้

 

โดยหนึ่งในวิธีหลอกเงินที่พบได้มากคือ การหลอกเงินโดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยเมื่อพลาดไปแล้ว เหยื่อควรรีบแจ้งธนาคารเจ้าของบัญชีเพื่อรายงานตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อให้สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการ เครือข่ายโทรศัพท์ / อินเทอร์เน็ต และผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้องสามารถเปิดเผยและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้อย่างสะดวกและรวดเร็วผ่านระบบ / กระบวนการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้หน่วยงานรัฐ อาทิ ตำรวจ สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการจัดการอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ทันท่วงที

 

นอกจากนี้เหยื่อควรรวบรวมข้อมูล หลักฐาน และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ติดต่อสถาบันการเงินเพื่อระงับการโอนเงินดังกล่าว รวมถึงแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน

 

สำหรับกรณีถูกหลอกให้ติดตั้งโปรแกรม Remote หรือติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม (ไฟล์ติดตั้งนามสกุล .apk) โดยใช้ความสามารถของ Accessibility Service ของระบบปฏิบัติการ Android ที่เมื่อแอปพลิเคชันใดๆ ได้รับอนุญาตให้ทำงานภายใต้ Accessibility Service แล้ว จะสามารถเข้าถึงและควบคุมการสั่งงานมือถือแทนผู้ใช้งานได้

 

ดังนั้นหากเหยื่อถูกหลอกด้วยวิธีดังกล่าว ควรรีบดำเนินการปิดเครื่องทันที ด้วยวิธีกด Force Reset แต่ถ้าทำไม่สำเร็จ ให้ตัดการเชื่อมต่อของโทรศัพท์ด้วยการถอดซิมการ์ดหรือตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (เช่น ปิดเครื่องหรือเปิดโหมดการบิน) จากนั้นให้ติดต่อธนาคาร และดำเนินการแจ้งความทันทีหากเกิดความเสียหาย

 

อีกหนึ่งรูปแบบการหลอกลวงที่พบเห็นในไทยคือ หลอกลงทุนออนไลน์หรือทำงานผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่างเช่น Facebook โดยมิจฉาชีพอาจประกาศรับสมัครงานพร้อมโฆษณาจูงใจ เช่น ให้ค่าคอมมิชชันสูง ทำงานได้จากบ้าน ใช้เพียงสมาร์ทโฟน ฯลฯ นอกจากนี้มิจฉาชีพยังอาจหลอกเหยื่อให้ลงทุนโดยอ้างว่าให้โอนเงินเข้าบัญชีเพิ่มเพื่อลงทุน เป็นต้น

 

ส่วนการหลอกลวงแบบที่หลอกให้ซื้อของแต่ไม่ยอมส่งของให้ หรือส่งของไม่ตรงปก ก็เป็นรูปแบบที่พบการแจ้งความจำนวนมาก แม้ส่วนใหญ่จะมีความเสียหายต่ำก็ตาม โดยเหยื่อสามารถแจ้งธนาคารเจ้าของบัญชี เพื่อให้ออกเลขเคสไปแจ้งความดำเนินคดีได้

 

ส่วนการหลอกลวงเพื่อโจรกรรมข้อมูลส่วนตัว หรือที่เรียกกันว่า ฟิชชิง (Phishing) เมื่อรู้ตัวว่าให้ข้อมูลกับมิจฉาชีพไปแล้ว เหยื่อควรเปลี่ยนรหัสผ่านใหม่ทั้งหมด โดยหากมีการใช้ชื่อผู้ใช้ (User) หรือรหัสผ่าน (Password) เดียวกันในระบบอื่นๆ ก็ควรเปลี่ยนรหัสผ่าน (Password) ให้ครบทุกระบบ เพื่อป้องกันความเสี่ยง

 

แต่ถ้าเป็นข้อมูลบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตให้ระงับบัตรชั่วคราวทาง Mobile Banking และแจ้ง Call Center ของธนาคาร เพื่อให้ตัดการผูกบัญชี (กรณีถูกผูกบัญชี) และออกบัตรใบใหม่ทดแทน        

 

กรณีเกิดความเสียหายที่เป็นตัวเงิน ให้รวบรวมหลักฐานเพื่อแจ้งความ โดยมีเทคนิคการแจ้งความดังต่อไปนี้

 

  • แจ้งความที่สถานีตำรวจในบริเวณใกล้เคียง โดยแจ้งเจ้าหน้าที่ว่า “ขอแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกรณีหลอกลวง… (ตามหัวข้อที่โดนทุจริต)”

 

  • แจ้งเลข Bank Case ID ให้เจ้าหน้าที่กรณีที่มีเลข Bank Case ID จากธนาคาร โดยเจ้าหน้าที่จะดำเนินการออกหมายเรียกพยานเอกสาร และอาจออกหมายอายัดบัญชีเงินฝากที่เกี่ยวข้องในเส้นทางการเงินไปยังธนาคารต่างๆ ที่เงินถูกโอนไป

 

  • เจ้าหน้าที่อาจระบุข้อมูลที่ต้องการนำไปประกอบการพิจารณาคดี เช่น ขอรายการเคลื่อนไหวทางบัญชี, ข้อมูลบัญชีที่รับโอนเงิน, ช่องทางการโอนเงิน, ขอเอกสารคำขอเปิดบัญชี, ขอภาพถ่ายกล้องวงจรปิดหน้าตู้เอทีเอ็ม, สาขา / สถานที่ตั้งตู้, หมายเลขตู้ ATM เป็นต้น

 

นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถแจ้งความทางออนไลน์ 24 ชั่วโมงผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ www.thaipoliceonline.com และ Call Center กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) โทร. 1441

 

 

ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X