×

เลือกประกันชีวิตอย่างไรให้เหมาะกับเรา

07.07.2025
  • LOADING...
อินโฟกราฟิกแนะนำประเภท ประกันชีวิต และการเลือกให้เหมาะกับเป้าหมายส่วนบุคคล

“หนูจะได้อะไรจากการซื้อประกันชีวิต” เสียงดังกล่าวดังขึ้นท่ามกลางความเงียบสงบของร้านกาแฟสไตล์คาเฟ่ ย่านชานเมือง หลากหลายสายตาพลันจับจ้องไปที่ต้นตอของเสียง พบหญิงสาววัยรุ่นกำลังสนทนาอยู่กับหญิงวัยกลางคนซึ่งคาดเดาได้ว่าคงเป็นตัวแทนขาย ประกันชีวิต คำถามของหญิงสาวรายนั้นชวนให้ย้อนกลับมาถามตัวเองในวันที่ซื้อประกันชีวิตฉบับแรกเหมือนกันว่า ‘วันนั้นเราซื้อประกันชีวิตเพราะอะไรนะ?’

 

ย้อนกลับไปในช่วงเริ่มต้นชีวิตการทำงาน ผมซื้อประกันชีวิตฉบับแรกโดยมีจุดประสงค์เพื่อผลประโยชน์ทางภาษี ส่วนเรื่องประเภทของแบบประกันหรือความคุ้มครองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก ขอแค่นำไปลดหย่อนภาษีได้เป็นพอ และขอยอมรับตรงนี้ครับว่าหลังจากซื้อประกันชีวิตไปแล้วถึงค่อยมาศึกษารายละเอียดผลประโยชน์และความคุ้มครอง อย่างไรก็ดีพอเราได้ศึกษามากขึ้นพบว่าผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตมีความหลากหลายมาก และด้วยโจทย์ความต้องการของเราที่ปรับเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาและสถานการณ์ ก็ได้ประกันชีวิตนี่แหละเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการความเสี่ยงรวมถึงใช้สำหรับการวางแผนการเงิน 

 

กลับมาที่ปัจจุบัน สังเกตได้ว่าคนไทยมีความตื่นตัวและให้ความสนใจกับประกันชีวิตมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการตระหนักถึงความเสี่ยงที่เข้ามาใกล้ตัว โดยเฉพาะตั้งแต่การแพร่ระบาดของ COVID-19 บริษัทประกันชีวิตเองก็พัฒนาและเสนอสินค้าประกันชีวิตเพื่อครอบคลุมความต้องการของลูกค้า ซึ่งบางทีก็ตามมาด้วยเงื่อนไขที่ซับซ้อน ตัวผมเองในฐานะที่ทำงานอยู่ในวงการการเงินและพอมีความรู้เกี่ยวกับการประกันชีวิตอยู่บ้าง มักจะได้รับคำถามให้ช่วยแนะนำว่าควรซื้อประกันชีวิตแบบไหนดี จึงขอใช้บทความนี้ในการแชร์แนวคิดการเลือกซื้อประกันชีวิตให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้อ่านทุกท่าน

 

ก่อนอื่นคงต้องเริ่มจากคำถามที่ว่า ‘เราต้องการอะไรจากประกันชีวิต’ ถ้าย้อนกลับไปที่ประกันฉบับแรกของผม คำตอบคงจะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางภาษี แต่ถ้าลองพิจารณาถึงแก่นแท้ของการซื้อประกันจะพบว่าเราจ่ายเบี้ยประกันให้บริษัทประกันชีวิตเพื่อแลกกับความคุ้มครองบางอย่าง โดยหากความต้องการของเราคือความคุ้มครองชีวิตก็อาจพิจารณาประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term) หรือประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life) ซึ่งประกันชีวิตทั้งสองแบบนี้แม้จะให้ความคุ้มครองในกรณีเสียชีวิตเท่านั้น แต่ก็มีจุดเด่นในการให้ความคุ้มครองชีวิตที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับเบี้ยประกันภัยที่ชำระ โดยประกันชีวิตในกลุ่มนี้เหมาะกับผู้ที่เป็นเสาหลักของครอบครัว สามารถใช้เป็นหลักประกันให้กับครอบครัวในกรณีเสียชีวิต หรืออาจใช้สำหรับการส่งมอบมรดกให้แก่ทายาท 

 

ส่วนใครที่มองหาประกันชีวิตที่นอกเหนือจากการให้ความคุ้มครองชีวิตแล้วยังมีบทบาทด้านการออมและการลงทุนร่วมด้วย ก็อาจพิจารณาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment) ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity) และประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit Linked) ซึ่งประกันชีวิตในกลุ่มหลังนี้จะถูกออกแบบให้มีความหลากหลายเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า 

 

โดยประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment) จะมีลักษณะคล้ายการออมในรูปแบบเงินฝากประจำหรือการลงทุนในตราสารหนี้ โดยลูกค้าจะชำระเบี้ยประกันในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยได้รับความคุ้มครองชีวิตและได้รับผลประโยชน์ซึ่งโดยปกติจะประกอบด้วยเงินคืนรายปี และเงินก้อน ณ วันสิ้นสุดสัญญาตามกรมธรรม์ ส่วนใหญ่แล้วแบบประกันประเภทนี้มักใช้สำหรับการออมเงินเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น การออมเงินเพื่อการศึกษาบุตร หรือการออมเงินเพื่อการเกษียณในรูปแบบของบำเหน็จ เป็นต้น 

 

ส่วนใครที่ต้องการวางแผนเกษียณแต่ประสงค์จะได้รับเงินในรูปแบบของบำนาญก็ลองพิจารณาประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity) ซึ่งออกแบบมาเพื่อการเกษียณโดยเฉพาะ โดยผู้ซื้อประกันสามารถอุ่นใจได้ว่าจะได้รับผลประโยชน์ต่อเนื่องไปจนกว่าจะเสียชีวิตหรือครบกำหนดสัญญา ซึ่งโดยทั่วไปจะกำหนดไว้ที่อายุครบ 85 ปี 90 ปี หรือ 99 ปี เป็นต้น 

 

ส่วนผู้ที่มองหาประกันชีวิตที่สามารถออกแบบได้เองระหว่างความคุ้มครองชีวิตกับผลตอบแทนด้านการลงทุน ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit Linked) เป็นทางเลือกที่น่าสนใจโดยแบบประกันดังกล่าวยังคงให้ความคุ้มครองชีวิต แต่มีจุดเด่นที่ลูกค้ามีอิสระในการกำหนดว่าเบี้ยประกันที่ชำระจะเป็นสัดส่วนของความคุ้มครองชีวิตและสัดส่วนของการลงทุนอย่างละเท่าไร และภายใต้สัดส่วนของการลงทุนลูกค้ายังสามารถกำหนดประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุนได้เอง ซึ่งผลตอบแทนของแบบประกัน Unit Linked จะขึ้นกับผลตอบแทนของสินทรัพย์ลงทุน

 

เชื่อหรือไม่ครับว่าโดยปกติหลังจากที่ได้แนะนำแบบประกันชีวิตทั้ง 5 แบบข้างต้น มักจะมีคำถามตามมาทันทีว่า ‘แล้วประกันสุขภาพอยู่ไหน’ ผมไม่ได้ลืมครับ เพียงแต่ว่าประกันชีวิตทั้ง 5 แบบที่แนะนำไป เราจะเรียกแบบประกันในกลุ่มนี้ว่า ‘สัญญาหลัก’ ขณะที่ประกันสุขภาพนั้นจะอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า ‘สัญญาเพิ่มเติม’ ซึ่งเป็นสัญญาแนบที่เพิ่มความคุ้มครองเฉพาะเจาะจงในบางเรื่อง ลูกค้ามีสิทธิจะเลือกหรือไม่ก็ได้ ประกอบไปด้วย ประกันสุขภาพ ประกันโรคร้ายแรง ประกันทุพพลภาพ และประกันคุ้มครองอุบัติเหตุ โดยสัญญาเพิ่มเติมจะไม่สามารถซื้อแยกต่างหากได้ จำเป็นจะต้องแนบกับสัญญาหลักเท่านั้น 

 

ซึ่งจากข้อจำกัดดังกล่าว หากต้องการความคุ้มครองของสัญญาเพิ่มเติมที่คุ้มครองตลอดชีวิต ไม่ต้องซื้อใหม่ และแถลงสุขภาพใหม่จึงควรเลือกแนบสัญญาเพิ่มเติมเข้ากับสัญญาหลักที่ให้ความคุ้มครองตลอดชีวิต เช่น ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life) เป็นต้น โดยสัญญาเพิ่มเติมที่อยากให้พิจารณามีไว้เป็นอันดับแรกคือ ความคุ้มครองที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ โดยอาจจะเป็น ‘ประกันสุขภาพ’ หรือ ‘ประกันโรคร้ายแรง’ ก็ได้ เนื่องจากสัญญาเพิ่มเติมกลุ่มนี้มักจะมีความเข้มงวดในการพิจารณารับประกันซึ่งขึ้นอยู่กับประวัติการเจ็บป่วยของลูกค้า บริษัทประกันอาจยกเว้นความคุ้มครองในบางโรค หรืออาจถึงขั้นปฏิเสธการรับประกัน ดังนั้นจึงควรพิจารณารีบทำประกันสุขภาพในขณะที่ยังมีสุขภาพดี

 

ก่อนจากกันไป หวังว่าบทความนี้จะช่วยเป็นแนวทางในการพิจารณาเลือกซื้อประกันชีวิตให้เหมาะสมกับความต้องการเพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงและการวางแผนการเงิน ส่วนในบทความหน้าเราจะพาไปเจาะลึกถึงเทคนิคการเลือกซื้อประกันชีวิตให้คุ้มค่าแต่จะเป็นแบบประกันไหน มารอลุ้นกันครับ

 

ภาพ: Peter Dazeley/Getty Images

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising