×

ฉันอยู่ตรงไหนของการระบาด? วิธีเช็กความเสี่ยงเมื่อพบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ในจังหวัด

21.12.2020
  • LOADING...
วิธีเช็กความเสี่ยงเมื่อพบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ในจังหวัด

HIGHLIGHTS

  • การจะแยกว่าเสี่ยงสูงหรือเสี่ยงต่ำ แยกกันด้วยการสวมอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม ซึ่งสำหรับคนทั่วไปคือ ‘หน้ากากอนามัย/ผ้า’ หากสวมหน้ากากตลอดเวลาที่ใกล้ชิดผู้ป่วยก็จะถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ
  • ‘ผู้สัมผัสฯ เสี่ยงสูง’ จะต้องกักตัว (Quarantine) 14 วัน และตรวจหาเชื้อทันทีถ้ามีอาการ หรือตั้งแต่วันที่ 5 หลังสัมผัสผู้ป่วยครั้งสุดท้ายถ้ายังไม่มีอาการ ส่วน ‘ผู้สัมผัสฯ เสี่ยงต่ำ’ ไม่ต้องกักตัว แต่หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด สวมหน้ากาก และสังเกตอาการจนครบ 14 วัน หากมีอาการผิดปกติให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อ
  • คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ (21 กรกฎาคม 2563) ให้หลักประเมินความเสี่ยงไว้ว่า ผู้ใกล้ชิดกับ ‘ผู้สัมผัสฯ เสี่ยงสูง’ ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำต่อการติดเชื้อ ส่วนผู้ใกล้ชิดกับ ‘ผู้สัมผัสฯ เสี่ยงต่ำ’ ถือว่าไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ จนกว่า จะพบว่า ‘ผู้สัมผัสฯ’ เป็นผู้ป่วย ถึงจะมีการประเมินซ้ำ

“วันนี้จังหวัด…พบผู้ป่วยเพิ่ม 1 ราย” 

 

เมื่อมีข่าวผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ในจังหวัดที่อาศัยอยู่ หลายคนน่าจะสงสัยว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่? ส่วนสถานศึกษาหรือสถานประกอบการก็มีความกังวลว่าจะต้องปิดทำการหรือเปล่า? ผมขอทำความเข้าใจด้วยแผนภาพผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 วงตามความเสี่ยง ดังนี้

 

 

วงที่ 1 ผู้สัมผัสใกล้ชิด (Close Contact) 

เป็นผู้ที่อยู่บนไทม์ไลน์เดียวกับผู้ป่วย ได้แก่ 

  • ผู้อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน
  • พูดคุยในระยะ 1 เมตร นานเกิน 5 นาที
  • ถูกผู้ป่วยไอ/จามรด
  • อยู่ในสถานที่ปิด เช่น ห้องปรับอากาศ ในระยะ 1 เมตร นานเกิน 15 นาที (ถ้าโดยสารเครื่องบิน จะนับผู้ที่นั่งแถวเดียวกันและสองแถวหน้า-หลัง)

 

แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ 

1.1 ผู้สัมผัสฯ เสี่ยงสูง 

1.2 ผู้สัมผัสฯ เสี่ยงต่ำ 

 

การจะแยกว่าเสี่ยงสูงหรือเสี่ยงต่ำ แยกกันด้วยการสวมอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม ซึ่งสำหรับคนทั่วไปคือ ‘หน้ากากอนามัย/ผ้า’ หากสวมหน้ากากตลอดเวลาที่ใกล้ชิดผู้ป่วยก็จะถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ

 

มาตรการสำหรับผู้สัมผัสฯ จะมีความเข้มงวด โดย ‘ผู้สัมผัสฯ เสี่ยงสูง’ จะต้องกักตัว (Quarantine) 14 วัน และตรวจหาเชื้อทันทีถ้ามีอาการ หรือตั้งแต่วันที่ 5 หลังสัมผัสผู้ป่วยครั้งสุดท้ายถ้ายังไม่มีอาการ 

 

ส่วน ‘ผู้สัมผัสฯ เสี่ยงต่ำ’ ไม่ต้องกักตัว แต่หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด สวมหน้ากาก และสังเกตอาการจนครบ 14 วัน หากมีอาการผิดปกติให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อ

 

ทุกคนในวงนี้จะได้รับการติดตามจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพราะจะทำให้ตรวจพบผู้ป่วยรายใหม่ได้รวดเร็ว และป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดไปยังวงถัดไป

 

วงที่ 2 ผู้ใกล้ชิดของวงที่ 1 หรือผู้ใกล้ชิดกับผู้สัมผัสฯ 

ยกตัวอย่าง นาย ก. เป็นผู้สัมผัสฯ ของผู้ป่วย คนในวงนี้ เช่น แฟนของ ก., เพื่อนในห้องเรียน/เพื่อนร่วมงานของ ก. เป็นต้น 

 

เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำมาก เพราะ ‘ผู้สัมผัสฯ’ ยังไม่ใช่ ‘ผู้ป่วย’ ที่จะสามารถแพร่เชื้อได้ (ยกเว้นผู้สัมผัสฯ คนนั้นอยู่ในระยะแพร่เชื้อ 2 วันก่อนเริ่มมีอาการ) ดังนั้นผู้ใกล้ชิดจึงยังสามารถเรียน/ทำงานตามปกติ เพียงแต่สวมหน้ากาก และสังเกตอาการจนครบ 14 วัน 

 

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ (21 กรกฎาคม 2563) ประเมินความเสี่ยงในวงนี้ว่า ผู้ใกล้ชิดกับ ‘ผู้สัมผัสฯ เสี่ยงสูง’ ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำต่อการติดเชื้อ ส่วนผู้ใกล้ชิดกับ ‘ผู้สัมผัสฯ เสี่ยงต่ำ’ ถือว่าไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ จนกว่าจะพบว่า ‘ผู้สัมผัสฯ’ เป็นผู้ป่วย ถึงจะมีการประเมินซ้ำ

 

วงที่ 3 คนอื่นในชุมชน 

เช่น ผู้ที่อาศัยในหอพักเดียวกัน, ผู้ที่เดินทางกลับมาจากจังหวัดที่พบผู้ป่วยน้อยราย (ยังไม่มีการระบาดเป็นวงกว้าง) เป็นผู้ที่ไม่มีความเสี่ยงจากผู้ป่วยรายนี้ เพราะไม่ได้สัมผัสใกล้ชิด แต่ยังต้องสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง และล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันตัวเอง เพราะอาจมีผู้ติดเชื้อรายอื่นในชุมชน

 

จะเห็นว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยในวงที่ 1 และ 2 เป็นเพียงผู้สัมผัสฯ และผู้ใกล้ชิดของผู้สัมผัสฯ เท่านั้น ยังไม่สามารถแพร่เชื้อได้ เมื่อพบบุคคลทั้ง 2 กรณีนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจึงไม่แนะนำให้ปิดสถานศึกษาหรือปิดสถานประกอบการ เพราะเป็นมาตรการที่เกินความจำเป็น 

 

แต่จะปิดทำความสะอาด 3 วันก็ต่อเมื่อพบผู้ป่วยแล้วเท่านั้น (ยกเว้นกรณีที่มีการระบาดเป็นวงกว้างในพื้นที่ เช่น จังหวัดสมุทรสาคร ในเดือนธันวาคม 2563 คณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัดนั้นๆ จะเป็นผู้ประกาศให้ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อใดบ้าง) 

 

ผมหวังว่าแผนภาพนี้จะช่วยให้ทุกคนไม่ตื่นตระหนกเวลามีข่าวพบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ภายในจังหวัดตัวเองครับ

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง: 

  • แนวทางการเฝ้าระวังและสอบสวนโรคโควิด-19 ฉบับ วันที่ 15 พฤษภาคม 2563
  • แนวทางพิจารณาการปิดหรือไม่ปิดสถานศึกษา สถานประกอบการ กรณีเกิดโรคโควิด-19 คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ วันที่ 21 กรกฎาคม 2563
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising