เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตผู้คนที่ต้องพังพินาศเนื่องจากการทำศัลยกรรมถูกนำเสนอเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง สะท้อนถึงความอยากได้ อยากมี อยากสวย อยากหล่อ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ และเป็นรสนิยมความชอบส่วนตัว
ล่าสุด กรณีที่ตกเป็นข่าวดังอีกครั้ง เมื่อชายหนุ่มวัย 29 ปี อ้างตัวเป็นหมอ แถมยังใช้ชื่อเดียวกันเพื่อให้คนเข้าใจว่าตนเองเป็นหมอคนนั้นจริงๆ หอบหิ้วประสบการณ์ครูพักลักจำ เทกคอร์สสั้นๆ แล้วมาเปิดคลินิกผ่าตัดทำศัลยกรรมที่จังหวัดลำปาง กระทั่งได้ผ่าตัดเสริมเต้าให้สาวประเภทสอง จนสุดท้ายเธอต้องจบชีวิตคามือคนที่อ้างว่าเป็น ‘หมอ’
เหตุการณ์นี้จะช่วยให้เราเตรียมพร้อมกับความอยากสวย อยากงาม ที่ถูกวิธีได้อย่างไร รวมทั้งแรงกระตุ้นที่ทำให้ผู้คนอยากพึ่งพามีดหมอมีสาเหตุจากอะไร ถึงขั้นทำให้บางคนถึงขนาดเข้าขั้น ‘เสพติด’ การทำศัลยกรรม
5 ข้อ ตรวจสอบก่อนเจอ ‘หมอ-คลินิก’ เถื่อน
นพ. วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์ หรือ หมอบัว กรรมการสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมตกแต่ง ฝากถึงประชาชนผ่าน THE STANDARD ว่า คนไข้ที่จะเข้าทำการรักษาหรือตกแต่งทำศัลยกรรม มีปัจจัยเรื่องความปลอดภัยที่อาจจะต้องระมัดระวังอยู่ 2 ระดับ ระดับที่ 1 มีอยู่ 5 ปัจจัย ที่เราต้องพิจารณา ดังนี้
1. หัตถการเหมาะสม : ไม่เสี่ยง ไม่ใช่แค่ปังไม่ปัง คือต้องดูว่าที่เราจะทำนั้น เสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อย เช่น ทำเลเซอร์ หรือ เป็นการผ่าตัดที่เสี่ยงสูง
2. แพทย์ตัวจริง : ต้องตรวจสอบว่าใครเป็นผู้ให้บริการ แพทย์คนไหนเป็นคนทำให้เรา เพราะหากเป็นแพทย์ตัวจริงต้องตรวจสอบได้ ต้องซื่อสัตย์ วุฒิการศึกษาได้รับการรับรอง ไม่ใช่การแปะวุฒิต่างๆ เข้าคอร์สระยะสั้น แต่ไม่ใช่หลักสูตรที่รับรองโดยสถาบันฝึกอบรม ซึ่งมักเป็นโรงเรียนแพทย์ เช่น จุฬาฯ, รามา, ศิริราช, เชียงใหม่, ขอนแก่น ฝึก 5-7 ปี และสามารถตรวจสอบผ่านทาง ‘แพทยสภา’ ได้ทันที ตามเว็บไซต์ tmc.or.th/check_md
3. อุปกรณ์และห้องต่างๆ : ต้องตรวจสอบและสังเกตให้ดี เช่น อุปกรณ์ผ่าตัด อุปกรณ์ให้ยาสลบ เครื่องช่วยหายใจ อุปกรณ์ช่วยชีวิต มีพร้อมหรือไม่ ดูความสะอาดของห้องปลอดเชื้อ ห้องผ่าตัด ห้องพักฟื้น ห้องพักดูอาการ และการแอดมิทอาจจำเป็น หากทำไปแล้วมีปัญหา มีห้องไอซียู มีระบบส่งต่อหรือไม่
4. วิธีการให้ยาสลบ หรือ ยาชา : ต้องตรวจสอบว่าเป็นอย่างไร ให้โดยใคร มีความปลอดภัยหรือไม่ รวมทั้งการมอนิเตอร์ต่างๆ ต้องรัดกุม แพทย์ท่านเดียวเอาอยู่ไหม หากเคสมีความซับซ้อนหรือมีปัญหาแทรกซ้อนใครจะดูแล รวมถึงเรื่องสัญญาณชีพต่างๆ มีวิสัญญีแพทย์ วิสัญญีพยาบาลที่ดูแลด้านนี้หรือไม่
5. คนไข้ : ต้องตรวจสอบว่าคนไข้ที่จะเข้ารับการบริการนั้นมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงพร้อมผ่าตัดหรือไม่ มีโรคประจำตัว แพ้ยาหรือไม่ พักผ่อนมาเพียงพอหรือไม่
นพ. วิษณุ ย้ำว่า สิทธิเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องตรวจสอบทั้งก่อนรักษา ระหว่างรักษา และหลังการรักษา เพราะคงไม่มีใครมาดูแลเราได้ 100% สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องดูแลตัวเองและตรวจสอบให้รอบคอบ
ขณะที่ความปลอดภัยที่ต้องคำนึงในระดับที่ 2 นั้น นพ. วิษณุ อธิบายว่า เป็นเรื่องที่ผู้ให้บริการ ก็คือ ‘แพทย์’ ตัวบทกฎหมายและผู้ตรวจสอบในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายจะต้องทำงานร่วมกันอย่างเคร่งครัด แพทย์ต้องมีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ กฎหมายที่ล้าหลังควรถูกปรับปรุงแก้ไขให้ชัดเจน ระบุถึงสิทธิและหน้าที่ การกระทำผิดกฎหมายให้มีความละเอียดมากขึ้น และผู้ตรวจสอบจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่หลับตาข้างเดียว เพราะผลที่ตามมาก็คือชีวิตและร่างกายของคนไข้
“กรณีที่เกิดปัญหาที่ลำปางเป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจมาก เพราะหมอก็เถื่อน คลินิกก็เถื่อน ขณะที่แพทย์ที่ถูกแอบอ้าง ซึ่งเป็นหมอจริง แต่ก็ไม่ใช่แพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมตกแต่ง การอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อทำคลินิกแบบนี้ มีอยู่เยอะมาก คนที่ทำผิดให้สัมภาษณ์แบบนี้เอง ซึ่งเป็นเรื่องจริง ขณะที่การเรียนแพทย์ก็มีหลักสูตรที่ต่อยอดเฉพาะทางเกี่ยวกับการตกแต่ง แต่ในประเทศไทยมีแพทย์ด้านศัลยกรรมอยู่เพียง 300 กว่าคน แต่แพทย์ที่ไปออกตัวว่าเชี่ยวชาญด้านนี้มีจำนวนมากกว่ามาก เป็นเรื่องที่ต้องควบคุม แต่สำคัญคือแพทย์ต้องซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพด้วย”
ภาวะเสพติดการศัลยกรรม และทางออก
พ.ต.ท.หญิง พญ. อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล หรือ หมอแอร์ จิตแพทย์ (โรงพยาบาลตำรวจ) อธิบายถึงภาวะการเสพติดศัลยกรรมว่า ศัพท์ในทางการแพทย์ คือ Body Dysmorphic Disorder ถือว่าเป็นอาการของโรคจิตเวชประเภทหนึ่ง และมีแนวโน้มที่จะมีระดับรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยทำศัลยกรรมจากเบาไปหาหนัก เมื่อทำบ่อยๆ เข้าจนกลายเป็นความรู้สึกว่าไม่พอใจในสิ่งที่ทำ ก็จะทำแต่ตำแหน่งเดิมๆ ซ้ำๆ กลายเป็นภาวะเสพติด ซึ่งมักจะรู้สึกว่ารูปร่างหน้าตาของตนเองผิดปกติ ไม่เท่ากัน นำไปสู่การทำศัลยกรรมอยู่ตลอดเวลาและมักไม่รู้ตัวว่ามีอาการ
หมอแอร์บอกกับ THE STANDARD ว่า มี 4 สัญญาณเตือนที่น่าจับตาสำหรับตัวเองและคนรอบข้างว่าอาจเข้าขั้นเสพติด ‘การทำศัลยกรรม’ ดังนี้
1. ไม่พอใจในการทำศัลยกรรม ทำซ้ำไปซ้ำมาในตำแหน่งเดิม บางคนทำจมูกโด่ง ทำแล้วทำอีกก็ยังรู้สึกว่ามันไม่โด่งสักที ซ่อมหลายครั้งวนเวียน
2. ย้ำคิดย้ำทำ ดูแต่จุดบกพร่องในร่างกายของตัวเอง ทั้งๆ ที่ไม่ได้บกพร่องมากมายขนาดนั้น
3. หลงใหลคลั่งไคล้รูปร่างหน้าตาของคนดัง อยากเป็นแบบเขา อยากมีนัยน์ตาแบบหงส์ จมูกแบบหยดน้ำ
4. หมกมุ่นอยู่กับการหาข้อมูลเกี่ยวกับคลินิกศัลยกรรมว่าที่ไหนทำดี ที่ไหนดัง ที่ไหนที่คนนิยมไปทำกัน ซึ่งจะหมดเงินไปกับเรื่องพวกนี้จำนวนมาก
ส่วนการทำกับหมอคนไหนนั้นเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง และการทำศัลยกรรมกับหมอเถื่อนนั้น ‘มีอันตราย’ เพราะไม่สามารถที่จะแบกรับความเสี่ยงหากเกิดอาการแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยถึงอันตรายแก่ชีวิต ซึ่งกรณีที่ตกเป็นข่าวถือว่าเป็นการผ่าตัดใหญ่ การผ่าตัดเต้านมต้องมีแพทย์ที่เชี่ยวชาญ การวางยาสลบต้องอาศัยวิสัญญีแพทย์ที่มีความรู้
ขณะที่หมอศัลยกรรมที่เจอคนไข้กลุ่มนี้มักจะพูดตรงกันว่า ‘งานเข้า’ เพราะรู้ว่ารักษาให้ดีเพียงใดก็จะต้องเจอกับปัญหาความไม่พอใจในรูปร่างและสิ่งที่ทำตลอดเวลา จึงต้องปรึกษาจิตแพทย์เพื่อช่วยเหลือคนไข้ในหลายเคสมาแล้ว
“คนที่มีปัญหาเรื่องเสพติดศัลยกรรมมักเป็นคนที่รู้สึกด้อยค่าในตัวเอง ไม่มีความมั่นใจในชีวิต รู้สึกว่าความสวยหล่อจะช่วยให้สังคมยอมรับ จึงมักหาวิธีเพิ่มคุณค่าตนเองจากสิ่งนี้ แต่หมออยากบอกว่าเรามีคุณค่าในตัวเองทุกคน หากมีบุคคลในครอบครัวประสบปัญหาแบบนี้ต้องค่อยๆ เตือน ค่อยๆ พาออกไปทำกิจกรรมอย่างอื่น ทำให้เขาไม่หมกมุ่นอยู่แต่กับเรื่องนี้ เวลาจะช่วยเยียวยา ซึ่งไม่รู้ว่านานหรือเร็วแค่ไหน ขึ้นอยู่กับตัวเขา แต่หากไม่ไหวอาจปรึกษาจิตแพทย์เพื่อวางแผนรักษาช่วยให้เขากลับมามีชีวิตที่ดี”
ดังนั้น นอกจากที่จะต้องพึงระวังว่าจะทำศัลยกรรมกับ ‘หมอ’ ที่เป็นผู้มีใบประกอบวิชาชีพถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้นแล้ว อีกเรื่องคือต้องพึงระวังใจตัวเองไม่ให้เสพติดมากไปกับการทำ ‘ศัลยกรรม’ เพราะอาจกลายเป็นภาวะทุกข์ใจที่ไม่รู้จักจบสิ้นในชีวิต และนั่นอาจกลายเป็นเรื่องยากที่แก้ไขแค่เพียงรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น
ร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการแพทย์ ได้ที่
- ฝ่ายจริยธรรมแพทยสภา อีเมล tmc@.or.th
- สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สายด่วน 1166
- Facebook: มือปราบสถานพยาบาลเถื่อน
- สำนักกฎหมาย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โทร. 0 2193 7000 ต่อ 18830 (ในวันและเวลาราชการ)