×

ปรับโครงสร้างกิจการอย่างไรในยุคเศรษฐกิจชะลอตัว

15.01.2021
  • LOADING...
ปรับโครงสร้างกิจการอย่างไรในยุคเศรษฐกิจชะลอตัว

วิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอย แม้รัฐบาลจะเร่งรัดให้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการหลายรายที่ต้องปิดตัวลง ช่วงนี้จึงมีข่าวการปิดตัวของกิจการให้เห็นอยู่บ้าง บางกิจการอาจไม่ถึงกับปิดตัวลง แต่ก็มีมาตรการลดค่าใช้จ่าย 

 

เราจึงเห็นหลายองค์กรที่ประกาศปรับโครงสร้างกิจการเพื่อลดขนาดกิจการลง ส่วนใหญ่จะใช้วิธีลดกำลังการผลิตหรือยุบหน่วยงาน ซึ่งก็ตามมาด้วยการเลิกจ้างพนักงาน โดยผู้เชี่ยวชาญได้เสนอคำแนะนำด้านการปรับโครงสร้างองค์กรที่มีผลกระทบต่องานด้านการบริหารบุคคลอยู่หลายมุมมอง แม้ช่วงนี้เศรษฐกิจจะไม่ดี ไม่ค่อยมีคนอยากใช้เงิน หรือใช้เงินอย่างระมัดระวังมากขึ้น แต่ก็ยังได้ข่าวการซื้อขายธุรกิจอยู่บ้าง

 

โดยทั่วไปการซื้อกิจการเป็นวิธีการหนึ่งที่มักใช้ในการขยายธุรกิจของกิจการ ทั้งการขยายตลาดในธุรกิจเดิมหรือการต่อยอดด้วยการเพิ่มกลุ่มธุรกิจใหม่ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ แต่ด้วยพิษโควิด-19 ทำให้เกิดความไม่แน่นอนหลายอย่าง เราอาจจะคิดว่าน่าจะมีการชะลอตัว คงไม่ค่อยมีใครคิดจะลงทุนขยายกิจการในช่วงนี้ 

 

แต่ในความเป็นจริงเรากลับได้ยินข่าวการเจรจาซื้อขายธุรกิจอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ซึ่งมีสายป่านยาว ที่ใช้ช่วงโอกาสเศรษฐกิจขาลงนี้ในการเข้าซื้อกิจการ ซึ่งก็อาจมีให้เลือกมากขึ้น เนื่องจากทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบกิจการที่ไม่สามารถคงอยู่ได้คือการขายกิจการหรือหาพันธมิตรมาเพิ่มการลงทุนเพื่อให้กิจการเดินต่อไปได้โดยที่ไม่ต้องปิดกิจการลง 

 

ด้วยเหตุนี้การปรับโครงสร้างกิจการจึงเป็นหนึ่งในมาตรการที่ผู้ประกอบกิจการอาจพิจารณา เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการขายกิจการหรือหาพันธมิตรให้มาร่วมลงทุนเพิ่ม โดยขอยกตัวอย่างเรื่องที่ควรนำมาพิจารณา ดังนี้ 

 

1. ขายหุ้นหรือขายกิจการ

เมื่อมีการขายหุ้น ผู้ซื้อจะได้รับไปทั้งทรัพย์สินและหนี้สินของบริษัทเป้าหมาย ผู้ซื้อจึงมักจะต้องขอตรวจสภาพกิจการของบริษัทเป้าหมาย ซึ่ง 3 ประเด็นสำคัญที่ต้องตรวจสอบ ได้แก่ งบการเงิน ภาระภาษี และภาระทางกฎหมายที่มีอยู่ในอดีต รวมถึงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตว่ามีมากน้อยเพียงใด การซื้อขายจะสำเร็จหรือไม่ ปัจจัยหนึ่งก็มาจากผลของการตรวจสภาพบริษัทเป้าหมาย และมีผลต่อการกำหนดราคาซื้อขายกิจการด้วย 

 

โดยทั่วไปหากต้องการให้การซื้อขายเกิดขึ้น ผู้ซื้อมักจะขอให้ผู้ขายยินยอมที่จะรับผิดชอบต่อภาระกฎหมายและภาษีอันเกิดขึ้นก่อนการซื้อขายกิจการที่อาจส่งผลให้เกิดความรับผิดได้ในอนาคต โดยทำสัญญาซื้อขายหุ้นและมีข้อกำหนดที่เปิดให้มีการชดเชยกันได้ภายในกรอบระยะเวลาหนึ่ง รวมถึงภาระหนี้สินที่ไม่สามารถค้นพบได้ในระหว่างเวลาที่ตรวจสภาพกิจการ ซึ่งจะกระทบต่อราคาซื้อขายกิจการ 

 

อีกวิธีหนึ่งของการซื้อขายกิจการคือ การขายเฉพาะทรัพย์สินของบริษัท โดยทั่วไปแล้วการซื้อขายกิจการโดยการขายทรัพย์สินมักจะเกิดในกรณีที่บริษัทประกอบกิจการหลายอย่าง และประสงค์จะขายเฉพาะบางกิจการที่ไม่ต้องการออกไป เมื่อขายแล้วบริษัทก็ยังคงดำเนินธุรกิจที่เหลืออยู่ต่อไปได้ จึงไม่อาจใช้วิธีการขายหุ้นได้ เพราะในการขายหุ้น ผู้ซื้อจะได้ไปทั้งบริษัท อีกกรณีหนึ่งที่เป็นไปได้ที่ทำให้การซื้อขายกิจการโดยการขายทรัพย์สินเป็นทางเลือกหนึ่งคือ กรณีผู้ซื้อไม่ต้องการรับผิดชอบต่อภาระหนี้สินรวมถึงภาระภาษี หรือภาระทางกฎหมายต่างๆ ซึ่งบริษัทผู้ขายมีอยู่ในอดีต หรืออาจจะมีได้ในอนาคตที่ผู้ซื้อพิจารณาแล้วเห็นว่ามีนัยสำคัญ ดังนั้นผู้ประกอบกิจการควรตรวจสอบภาระทางกฎหมายที่มีอยู่ว่าสามารถที่จะจัดการได้อย่างไรบ้าง เพื่อลดผลกระทบที่จะมีต่อราคาซื้อขาย

 

2. ปรับโครงสร้างกิจการกรณีมีการดำเนินกิจการมากกว่าหนึ่งกิจการ

แม้ว่าผู้ประกอบกิจการจะสามารถเลือกขายกิจการโดยการขายทรัพย์สินหนี้สิน รวมถึงโอนพนักงานในกิจการที่ต้องการขายให้แก่ผู้ซื้อแทนการขายหุ้น หากไม่ต้องการขายกิจการทั้งหมดหรือยังต้องการเก็บบางกิจการไว้เอง ซึ่งก็ทำได้ แต่ในบางสถานการณ์ การแยกกิจการออกมาแล้วขายหุ้นหรือขายบริษัทเฉพาะกิจการจะช่วยลดขั้นตอนที่ต้องดำเนินการได้ รวมถึงกิจการก็สามารถเดินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการขายหุ้นจะได้ไปทั้งกิจการและภาระต่างๆ ที่ติดอยู่กับบริษัท เช่น กรณีที่ต้องมีการขอใบอนุญาตหรือจดทะเบียนที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจการที่อาจต้องใช้เวลานานในการเปลี่ยนแปลง ถ้าขายหุ้น กิจการก็จะยังคงดำเนินต่อไปได้เหมือนปกติ (กรณีคุณสมบัติของผู้ถือหุ้นไม่เป็นประเด็นในการประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาต เช่น ผู้ซื้อเป็นต่างชาติ และกิจการเป็นกิจการต้องห้ามสำหรับต่างชาติ เป็นต้น) กิจการไม่สะดุด เนื่องจากไม่ต้องดำเนินการเปลี่ยนสัญญากับลูกค้าและคู่ค้า 

 

โดยปกติการแยกกิจการก็จะมีการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา การจะแยกกิจการใดออกมา บริษัทใหม่ก็อาจนำเงื่อนไขต่างๆ ที่กล่าวมาและปัจจัยอื่นๆ มาประกอบการพิจารณา ซึ่งบางกรณีที่เคยพบ เช่น บางทีกิจการก็ต้องการเก็บชื่อบริษัทไว้ เพราะตั้งมานานโดยบรรพบุรุษ ก็ต้องแยกกิจการที่จะขายออกไป แล้วเก็บบริษัทรวมถึงชื่อเดิมไว้ เป็นต้น

 

3. ใช้ Holding Company ในการปรับโครงสร้างกิจการ

ก็เป็นทางเลือกหนึ่งหากจะแยกกิจการออกมา นอกจากการใช้ Holding Company เพื่อมาถือหุ้นในกิจการ ซึ่งเวลาขายก็ขายเฉพาะกิจการได้แล้ว อีกตัวอย่างเหตุผลคือ เพื่อการบริหารจัดการในกรณีที่มีพันธมิตรมาร่วมลงทุน กล่าวคือร่วมลงทุนกับพันธมิตรผ่าน Holding Company เมื่อได้ผลตอบแทนก็ได้รับผ่านทาง Holding Company ถ้าจะไปลงทุนต่อก็ใช้ Holding Company ได้ หรือแม้กระทั่งถ้าจะขายก็ขายที่ระดับ Holding Company ซึ่งภาระภาษีจากการขายหุ้น อาจจะน้อยกว่ากรณีถือหุ้นโดยบุคคลธรรมดา ที่จะกล่าวถึงในข้อถัดไป นอกจากนี้ขั้นตอนตามกฎหมายที่จำเป็นต้องปฏิบัติเพื่อการขายหุ้นที่ระดับ Holding Company ก็อาจจะน้อยกว่าการขายหุ้นโดยบุคคลธรรมดาอีกด้วย

 

4. คำนวณภาระภาษีในการขายกิจการ

ถ้าเป็นการซื้อขายทรัพย์สิน ภาระภาษีก็จะอยู่ที่บริษัทที่ขายทรัพย์สิน ซึ่งก็เป็นภาษีของกิจการโดยปกติ ในกรณีขายหุ้นบริษัท ถ้าผู้ขายเป็นบริษัท กำไรจากการขายหุ้นก็อาจจะเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลที่อัตราร้อยละ 20 แต่ถ้าผู้ขายเป็นบุคคลธรรมดา กำไรจากการขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์จะเสียภาษีด้วยอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของผู้ขาย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับจำนวนรายได้สุทธิในปีภาษีที่ผู้ขายมีการขายหุ้นว่าจะได้รับยกเว้นภาษีหรือจะเสียภาษีในอัตราเท่าไร ตั้งแต่ร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 35 ด้วยเหตุที่ว่าอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่าอัตราสูงสุดของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากผู้ถือหุ้นบุคคลธรรมดามีรายได้สุทธิเกินกว่า 5 ล้านบาท ก็จะเสียภาษีเงินได้สำหรับกำไรจากการขายหุ้นที่ร้อยละ 35 เรื่องภาษีของผู้ถือหุ้นเป็นหนึ่งในข้อที่ควรนำมาพิจารณาในการปรับโครงสร้างกิจการด้วย

 

5. ใช้สิทธิภาษีในการปรับโครงสร้างกิจการ

ในการโอนกิจการระหว่างบริษัทในกลุ่มกันเองก็อาจใช้สิทธิทางภาษีมาช่วยบรรเทาภาระภาษีที่เกิดจากการโอนกิจการได้ โดยศึกษาเงื่อนไขและข้อกำหนดที่จะใช้สิทธิภาษีได้ หลักๆ ก็จะมีเรื่องการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันโดยไม่มีภาระภาษี หรือโอนกิจการบางส่วนโดยได้รับยกเว้นภาษีบางประเภท  

 

การปรับโครงสร้างกิจการไม่มีสูตรตายตัว จำเป็นต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นรายกรณี รวมถึงปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อกฎหมายหรือเงื่อนไขทางธุรกิจ ประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นเป็นตัวอย่างที่หยิบยกมาเพียงส่วนหนึ่ง อีกทั้งการปรับโครงสร้างกิจการอาจต้องใช้เวลาและมีค่าใช้จ่าย กิจการจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบโดยคำนึงถึงแผนงานต่อไป เพื่อให้ได้โครงสร้างที่สามารถรองรับแผนงานในอนาคตด้วย เพราะคงไม่ดีแน่ถ้าเราจะต้องมาปรับโครงสร้างหลายๆ ครั้งเพียงเพื่อตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะหน้า

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising