×

แล้วอย่างนี้ต้องกักตัวหรือไม่ เสี่ยงแค่ไหนถึงต้องกักตัว

03.01.2021
  • LOADING...
แล้วอย่างนี้ต้องกักตัวหรือไม่ เสี่ยงแค่ไหนถึงต้องกักตัว

HIGHLIGHTS

  • การกักตัวเป็นมาตรการที่ใช้กับคน 2 กลุ่ม คือ ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค และผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง
  • นอกจากผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงจะอยู่บนไทม์ไลน์เดียวกับผู้ป่วยแล้ว เรายังต้องใกล้ชิดกันนานระดับหนึ่ง และไม่ได้สวมหน้ากากด้วย ซึ่งถ้า ‘ไม่ใช่’ ก็สบายใจได้ แต่ถ้า ‘ใช่’ เราจะต้องกักตัว เพื่อลดการสัมผัสกับผู้อื่นและสังเกตอาการผิดปกติ

“แล้วอย่างนี้พี่ต้องกักตัวไหม” 

 

ผมยังไม่ทันจะถามคำถามที่เตรียมไว้ พี่เจ้าหน้าที่ก็เอ่ยถามผมก่อนขณะลงพื้นที่สอบสวนโรคที่สำนักงานแห่งหนึ่ง เพราะผู้บริหารขององค์กรนั้นถูกตรวจพบว่าเป็นโควิด-19 เมื่อวันก่อน พี่ท่านนี้ยังให้ข้อมูลเพิ่มอีกว่า “แต่พี่ไปตรวจมาแล้วนะ ผลตรวจเป็นลบ”

 

“ครับ ถ้าอย่างนั้นต้องถามก่อนว่า…” ซึ่งก็คือคำถามที่เตรียมมานั่นเอง 

 

การกักตัวคืออะไร? และใครต้องกักตัว?

การกักตัว หรือการกักกัน (Quarantine) เป็นการแยกตัวผู้ที่ยังไม่มีอาการป่วย แต่มีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อ เพื่อสังเกตอาการเป็นระยะเวลาเท่ากับระยะฟักตัวที่ยาวที่สุด ซึ่งสำหรับโควิด-19 คือ 14 วัน (อาจเคยได้ยินข่าวว่านานกว่านี้ แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน) 

 

ดังนั้นการกักตัวจึงเป็นมาตรการที่ใช้กับคน 2 กลุ่ม คือ

  • ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค
  • ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง

 

ซึ่งเมื่อต้นปี 2563 จะมีการประกาศ ‘เขตติดโรค’ ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นรายชื่อประเทศที่มีการระบาดของโรค ถ้าใครเดินทางมาจากเขตติดโรคก็จะต้องกักตัว แต่ต่อมามีการพัฒนาสถานกักกันโรคแห่งรัฐ/ทางเลือก (SQ/ASQ) ขึ้นมา ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศทุกคนจึงต้องเข้า SQ/ASQ 

 

ส่วนในประเทศ ช่วงปลายมีนาคม 2563 เคยมีการประกาศให้ผู้ที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลต้องกักตัวก่อนเป็นระยะ 14 วันนับจากวันที่เดินทางมาถึงภูมิลำเนา ก็เพราะในขณะนั้นมีการระบาดเป็นวงกว้างในกรุงเทพฯ แล้ว และไม่สามารถตรวจหาเชื้อได้มากพอที่จะตีวงการระบาดได้

 

เหตุการณ์การระบาดใน 3 จังหวัดภาคเหนือ กรณีที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ทำให้ความกังวลเรื่องการกักตัวกลับมาอีกครั้งว่า ถ้าหากไปเที่ยวกลับมาจะต้องถูกกักตัวหรือไม่ แต่ทั้งกรมควบคุมโรค และ ศบค. ได้ยืนยันในเวลาต่อมาว่า ‘ไม่ต้อง’ ยกเว้นไม่ใช่ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง เนื่องจากการระบาดในขณะนั้นยังพบจำนวนผู้ป่วยไม่มาก เช่น จ.พะเยา พบผู้ป่วยเพียงรายเดียว (Sporadic Cases), จ.เชียงราย พบผู้ป่วยหลักสิบราย ส่วนใหญ่เดินทางมาจากท่าขี้เหล็ก ส่วนน้อยเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด (Clusters of Cases) แต่ยังไม่ถึงขั้นการระบาดในชุมชน (Community Transmission) 

 

ดังนั้น มาตรการกักตัวจึงอาจเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นกับระดับของการระบาดในพื้นที่นั้นๆ ไม่ใช่การพบ/ไม่พบเพียงอย่างเดียว

 

จนกระทั่งปลายปี วันที่ 27 ธันวาคม 2563 ศบค.ประกาศว่า “ในขณะที่บุคคลใดทราบว่าตนเองได้เคยเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีการติดเชื้อ ขอให้กักกันตนเองและหลีกเลี่ยงการสัมผัสบุคคลอื่นเป็นระยะเวลา 14 วัน” แต่ ศบค.ก็ยังไม่ได้นิยามว่า ‘พื้นที่ที่มีการติดเชื้อ’ คืออะไร หรือใช้อะไรเป็นเกณฑ์

 

 

อย่าง จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็น ‘พื้นที่ควบคุมสูงสุด’ จะเทียบเคียงเป็น ‘พื้นที่ที่มีการติดเชื้อ’ ทั้งจังหวัดเลยหรือไม่ หรือเฉพาะตลาดกลางกุ้ง/ตลาดทะเลไทย/ตลาดมหาชัยที่พบอัตราการป่วยสูงเท่านั้น ส่วน จ.ระยอง ก็ประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุดเฉพาะ อ.เมืองระยอง (30 ธันวาคม 2563) สำหรับมาตรการในส่วนนี้คงต้องรอความชัดเจนจากทาง ศบค.ก่อนว่าได้แก่พื้นที่ใดบ้าง 

 

ความไม่ชัดเจนนี้ทำให้แต่ละจังหวัดกำหนดมาตรการต่างกัน เช่น จ.เชียงใหม่ กำหนดให้ผู้ที่เดินทางมาจากเขต/อำเภอที่มีการระบาดของโควิด-19 กักตัว 14 วันที่บ้าน (Home Quarantine) ส่วนการกำหนดพื้นที่ดังกล่าวเป็นระดับ ‘อำเภอ’ และไม่ครอบคลุมจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดทั้งหมด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าต้องการจำกัดพื้นที่ให้จำเพาะที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

 

สำหรับจังหวัดอื่นๆ ควรติดตามการประกาศจากเพจสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสำนักประชาสัมพันธ์จังหวัดนั้นๆ

 

ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงต้องกักตัว

แต่ที่แน่นอนคือ ‘ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง’ ต้องกักตัว เพราะเป็นผู้ที่มีโอกาสได้รับเชื้อจาก ‘ผู้ป่วย’ โดยตรง ต่างจากผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ซึ่งอาจเว้นระยะห่าง ไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่น อีกเหตุผลหนึ่งก็คือผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ และอาจแพร่เชื้อระหว่างที่ยังไม่มีอาการได้ ดังนั้นจึงต้องกักตัวเอง

 

โดยผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง คือผู้ที่ทำกิจกรรมอยู่ในสถานที่และเวลาเดียวกับผู้ป่วยที่มีการสัมผัสใกล้ชิด (Close Contact) + ความเสี่ยงสูง (High Risk) อย่าเพิ่งขมวดคิ้วกันนะครับ เพราะเราสามารถประเมินว่าเราจัดอยู่ในกลุ่มนี้หรือไม่ด้วยตัวเองได้ โดยมีคำถามหลัก 2 ข้อคือ

  • เราสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยดังต่อไปนี้หรือไม่? 1. อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน 2. โดนผู้ป่วยไอ/จามรด หรือ 3. อยู่ใกล้กับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตรและนานหลายนาที ซึ่งถ้าพูดคุยกันต้องนานกว่า 5 นาที ส่วนถ้านั่งอยู่ในสถานที่ปิดต้องนานกว่า 15 นาที 
  • เราสวมหน้ากากอนามัย/ผ้า ขณะสัมผัสใกล้ชิดหรือไม่? ถ้าสวมตลอดเวลาถือว่ามีความเสี่ยง ‘ต่ำ’ แต่ถ้าไม่ได้สวม หรือสวมๆ ถอดๆ ก็ถือว่ามีความเสี่ยง ‘สูง’

 

คำถามที่ผมเตรียมมาก็จะประมาณนี้ ค่อยๆ ไล่เรียงไปทีละเหตุการณ์ ทีละวัน นับจาก 2 วันก่อนที่ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการ จนกระทั่งผู้ป่วยได้รับการแยกกักในโรงพยาบาล หากประเมินด้วยตัวเองแล้วยังไม่แน่ใจ สามารถโทรศัพท์ปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 หรือหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ได้ 

 

แต่สรุปคือ นอกจากผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงจะอยู่บนไทม์ไลน์เดียวกับผู้ป่วยแล้ว เรายังต้องใกล้ชิดกันนานระดับหนึ่ง และไม่ได้สวมหน้ากากด้วย ซึ่งถ้า ‘ไม่ใช่’ ก็สบายใจได้ แต่ถ้า ‘ใช่’ เราจะต้องกักตัว เพื่อลดการสัมผัสกับผู้อื่นและสังเกตอาการผิดปกติ และตามแนวทางของกรมควบคุมโรคแล้วจะได้รับการตรวจหาเชื้อหลังจากวันที่ 5 เป็นต้นไป

 

ทั้งนี้ ในสถานการณ์ที่มีผู้ป่วยจำนวนน้อยจะมีการสอบสวนโรคทุกราย ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงจะถูกค้นหาและติดตามโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เช่น รพ.สต. หรือสถานีอนามัย แต่ถ้าสถานการณ์ที่พบผู้ป่วยจำนวนมากอย่างในขณะนี้ การสอบสวนโรคอาจไม่ทั่วถึง เราอาจต้องประเมินและดูแลตัวเองก่อน

 

การกักตัวต้องทำอะไรบ้าง?

คำแนะนำในการกักตัวสามารถค้นหาได้จาก Google ถ้าลองค้นหาดูแล้วมักจะได้รับคำแนะนำที่ค่อนข้างยาว แต่ถ้ารวบเป็นกลุ่มให้เข้าใจง่ายน่าจะจัดเป็น 3 ข้อด้วยกัน คือ

    • มาตรการพื้นฐาน ต้องเคร่งครัดมากขึ้น ได้แก่ ‘สวมหน้ากาก’ เมื่ออยู่ในพื้นที่ส่วนกลางของบ้าน, ‘เว้นระยะห่าง’ จากคนในบ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ, แยกห้องนอน/ห้องน้ำ (ถ้ามีห้องเดียว ให้เข้าคนหลังสุดแล้วล้างห้องน้ำ), แยกรับประทานอาหาร และ ‘ล้างมือบ่อยๆ’ โดยอาจตั้งเจลแอลกอฮอล์ไว้ตามจุดต่างๆ
    • การทำและการรักษาความสะอาด ได้แก่ การเช็ดบริเวณที่มีการสัมผัสกันหลายคน เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได สวิตช์ไฟ รีโมตโทรทัศน์/เครื่องปรับอากาศ, การไอจามปิดปาก หากใช้ทิชชูควรทิ้งลงถังขยะที่มีฝาปิดหรือถุง แล้วมัดปากถุงมิดชิด รวมถึงการทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วด้วย
  • การสังเกตอาการ ควรมีปรอทหรือเครื่องสำหรับวัดไข้ทุกวัน (ในการระบาดระลอกแรกมักได้รับการแจก ผู้ที่ไม่ได้ใช้แล้วอาจนำไปคืนสถานีอนามัย) หาสมุดจดหรือบันทึกในสมาร์ทโฟน, สังเกตอาการทางเดินหายใจ เช่น ไอ น้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หากมีอาการเหล่านี้ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ที่ติดตามอยู่ หรือรีบไปพบแพทย์

 

 

“แต่พี่ไปตรวจมาแล้วนะ ผลตรวจเป็นลบ”

กลับมาที่ข้อสงสัยของพี่ท่านนั้นว่าเขาไปรับการตรวจหาเชื้อมาแล้ว ผลไม่พบเชื้อ แล้วอย่างนี้ต้องกักตัวต่อหรือไม่ คำตอบจะขึ้นกับระดับความเสี่ยง หมายถึงว่า ถ้าเป็น ‘ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง’ ยังต้องกักตัวต่อจนครบ 14 วัน ในขณะที่ ‘กลุ่มความเสี่ยงต่ำ’ ไม่ต้องกักตัวตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่ยังต้องเว้นระยะห่างและสังเกตอาการจนครบเช่นกัน

 

ส่วนการตรวจหาเชื้อแล้วไม่พบเชื้อมีความเป็นไปได้ 3 อย่างหลัก คือ 1. ตรวจเร็วเกินไปยังไม่พบเชื้อ โดยเฉพาะกรณีที่ตรวจช่วง 1-4 วันหลังสัมผัสโรค 2. ไม่พบเชื้อจริง หรือ 3. เคยติดเชื้อมาก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้มีภูมิคุ้มกันต้านเชื้อในรอบนี้ซึ่งโอกาสน่าจะน้อย ดังนั้นถ้าเรามีความเสี่ยงสูงก็ยังต้องกักตัว เพื่อให้คนรอบข้างเราปลอดภัยครับ

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • เพจศูนย์ข้อมูลโควิด-19
  • เพจศูนย์ข้อมูลข่าวสารเฉพาะกิจ จ.เชียงใหม่
  • เพจกรมควบคุมโรค

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising