×

STEM ยังจำเป็นแค่ไหน เมื่อองค์กรให้ความสำคัญทักษะอื่นมากกว่า อะไรคือสิ่งที่ธุรกิจมองหาในตัวของแรงงานแห่งอนาคต?

03.10.2023
  • LOADING...

หนึ่งในความท้าทายของธุรกิจที่กำลังถูกพูดถึงอย่างมากและเป็นโจทย์ใหญ่ให้กับหลายองค์กรต้องรับมือ คือการ Reskill และ Upskill ให้กับบุคลากรของตนเอง เมื่อสภาพแวดล้อมการทำงานต่อจากนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

IBM บริษัทผู้ผลิตและให้บริการคอมพิวเตอร์รายใหญ่ของโลก ได้จัดทำแบบสำรวจ เพื่อล้วงอินไซต์และมุมมองของผู้บริหารต่อทิศทางของแรงงานโลกธุรกิจในอนาคตว่า ทักษะอะไรคือสิ่งที่ผู้บริหารให้ความสำคัญ ณ ปัจจุบัน และแรงงานจะต้องเตรียมพร้อมอย่างไร เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต 

 

ผลสำรวจอินไซต์จากผู้บริหารทั่วโลกคาดว่า แรงงานกว่า 40% จะต้องถูกปรับทักษะใหม่ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า เมื่อ AI ที่ทำให้กระบวนการทำงานหลายอย่างเป็นอัตโนมัติถูกนำมาใช้งานในองค์กรมากขึ้น ซึ่งแปลว่าความจำเป็นในการต้องเรียนรู้ใหม่นี้จะส่งผลกระทบกับคนกว่า 1,400 ล้านคน จากจำนวนแรงงานทั้งหมดในโลกที่ 3,400 ล้านคน ตามตัวเลขของ World Bank

 

แล้วงานที่ต้องปรับทักษะและเรียนรู้ใหม่เหล่านี้อยู่ในอาชีพไหนบ้าง?

 

งานด้านจัดซื้อจัดจ้าง งานบริหารความเสี่ยงกิจการ และงานการเงิน เป็นงาน 3 ประเภทที่จะถูกปรับเปลี่ยนหน้าที่กว่า 90% จากสิ่งที่เคยทำอยู่ในปัจจุบัน ตามมาด้วยงานด้านบริการลูกค้าที่ 77% และงานสายการตลาด 73% 

 

สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือความสำคัญของ STEM หรือความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ มีบทบาทลดลงอย่างมาก โดยเมื่อปี 2016 ความรู้และทักษะในกลุ่มวิชานี้เคยมีความสำคัญที่สุดในบรรดาทักษะต่างๆ แต่ภาพในปี 2023 กลับออกมาในทางตรงกันข้าม เมื่อ STEM ร่วงหล่นมาอยู่ที่อันดับ 12 หรือท้ายสุดของตารางของผลสำรวจชุดนี้

 

 

เหตุผลที่ STEM ถูกลดบทบาทความสำคัญ เป็นเพราะความต้องการบุคลากรที่มีทักษะเหล่านี้เพิ่มสูงมากขึ้น ทำให้ผู้บริหารหลายคนในปัจจุบันมองว่า STEM เป็นความรู้ความสามารถขั้นพื้นฐานที่แรงงานทุกคนควรต้องมี และมิใช่อะไรที่ถูกมองว่าเป็นคุณสมบัติที่พิเศษอีกแล้ว แต่ในขณะเดียวกันกลับให้น้ำหนักไปที่การพัฒนาเรื่องทักษะที่เรียกว่า ‘People Skills’ โดยมีการบริหารเวลาความสามารถในการจัดลำดับหน้าที่ตามความสำคัญ การทำงานเป็นทีม และการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นทักษะจำเป็นที่อยู่หัวแถวสำหรับการทำงานในอนาคต

 

เมื่อเทคโนโลยีก้าวล้ำไปข้างหน้ามากขึ้น พนักงานก็สามารถใช้ตัวช่วยเหล่านี้ในการทำงานหลายอย่างให้สำเร็จได้โดยใช้ความชำนาญที่น้อยกว่า เช่น เครื่องมือการสร้างโปรแกรม No-Code ที่ช่วยให้ผู้คนออกแบบแอปพลิเคชันที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจได้โดยไม่ต้องมีความรู้การเขียนโค้ดเลย ดังนั้นเมื่อเทคโนโลยีเข้ามาแทนหน้าที่บางอย่าง บทบาทของพนักงานจึงเปลี่ยนไปที่การทำงานร่วมกันของคนมากยิ่งขึ้น

 

การที่ทักษะ STEM มีบทบาทน้อยลงในสายตาของผู้บริหารองค์กรหากเทียบกับทักษะด้านคน เป็นหนึ่งในข้อพิสูจน์ที่ชี้ให้เห็นถึงความผันผวนของตลาดแรงงานอนาคต และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางทักษะเช่นนี้ก็ย่อมจะเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นองค์กรจึงจำเป็นต้องมีโครงสร้างที่ยืดหยุ่นและพร้อมปรับตัวอยู่เสมอ

 

อย่างไรก็ตาม องค์กรจำนวนไม่น้อยยังคงขาดความเข้าใจว่าทักษะหรือข้อดีด้านใดที่บุคลากรของตนมีอยู่ จึงเป็นสาเหตุที่ทั้งพนักงานและองค์กรจะต้องทำงานร่วมกัน เพื่อหาจุดอ่อนที่ต้องพัฒนาให้เจอและเก็บรักษาจุดแข็งไว้ เมื่อทั้งสองฝ่ายเห็นภาพรวมตรงกันแล้ว เมื่อนั้นจึงจะสามารถขยับไปสู่ขั้นตอนการพัฒนาจุดอ่อนให้ดีขึ้นอย่างตรงจุดบนพื้นฐานความเป็นจริงขององค์กรนั้นๆ ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ของธุรกิจและแรงงานให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกของการทำงานอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising