×

นักวิทยาศาสตร์ชี้ ตึกสูงในสหรัฐฯ คร่าชีวิตนกนับพันล้านตัวต่อปี

โดย THE STANDARD TEAM
09.04.2019
  • LOADING...

นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่า มีนกอย่างน้อย 100-1,000 ล้านตัว ที่ตายเพราะบินชนเข้ากับตึกระฟ้าในสหรัฐฯ ในแต่ละปี โดยเฉพาะตึกที่เป็นกระจกหรือตึกที่มีแสงสว่าง

 

ทั้งนี้ เมืองชิคาโกถือเป็นเมืองที่อันตรายกับนกมากที่สุด เนื่องจากเมืองมีตึกสูงที่เป็นกระจกจำนวนมาก ซึ่งรบกวนเส้นทางการบินของฝูงนกที่อยู่ในช่วงอพยพย้ายถิ่นฐาน โดยงานวิจัยระบุว่า มีนกกว่า 5 ล้านตัว จาก 250 สายพันธ์ุ ที่ต้องบินผ่านอเมริกากลางในทุกฤดูใบไม้ร่วงและฤดูใบไม้ผลิ เพื่อมุ่งหน้าไปยังแคนาดาและลาตินอเมริกา

 

ไคล์ ฮอร์ตัน นักวิจัยผู้เขียนบทความลงในวารสาร Frontiers in Ecology and the Environment เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กล่าวว่า ชิคาโก นิวยอร์ก และลอสแอนเจลิส เป็นเมืองที่อันตรายต่อนกมากที่สุด เนื่องจากมีตึกสูงระฟ้าจำนวนมาก ตามมาด้วยเมืองฮิวสตันและดัลลัส เนื่องจากตั้งอยู่ ณ ใจกลางอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นเส้นทางการบินหลักของฝูงนก

 

ขณะเดียวกัน ย่านแมนฮัตตันก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่อันตรายสำหรับนก โดย ซูซาน เอลบิน ผู้อำนวยการด้านการอนุรักษ์และวิทยาศาสตร์ของ New York City Audubon ระบุว่า “เมื่อฟ้าสว่าง นกก็จะเริ่มออกหากินอีกครั้ง ซึ่งพวกมันก็จะบินเข้าหาต้นไม้ แต่ปรากฏว่า นั่นเป็นเพียงภาพสะท้อนจากกระจกบนตึกสูง ทำให้พวกมันบินชนเข้ากับกระจก และตายเป็นจำนวนมาก”

 

นอกจากนี้ยังมีนกบางสายพันธุ์ที่อพยพในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นช่วงที่ลมฟ้าสงบ แต่แสงสว่างจากเมืองในช่วงค่ำคืนนั้นกลับเป็นสิ่งที่เบี่ยงเบนความสนใจและเส้นทางการบินของนก โดยผลจากการวิจัยระบุว่า พวกนกชอบบินเข้าหาแสงไฟ ทำให้การย้ายถิ่นฐานในเวลากลางคืนก็อันตรายไม่แพ้ช่วงกลางวัน

 

แม้การคำนวณจำนวนการตายของนกจะเป็นเรื่องยาก แต่รายงานซึ่งตีพิมพ์โดย The Condor: Ornithological Applications ในปี 2014 ระบุว่า มีนกอย่างน้อย 1,000 ล้านตัว ที่ตายในสหรัฐฯ ต่อปี ขณะที่ New York City Audubon ซึ่งติดตามจำนวนการตายของนกในนิวยอร์กรายงานว่า มีนกราว 90,000-200,000 ตัว ที่ตายเพราะชนเข้ากับตึกในเมืองในแต่ละปี

 

ขณะเดียวกัน สายพันธุ์ของนกก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญ โดยผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า นกที่มีเสียงเพรียกร้อง (Songbirds) อาทิ นกกระจอกหรือนกกระจิบมีความเสี่ยงที่จะตายจากการชนตึก เนื่องจากนกในกลุ่มนี้จะส่งเสียงร้องเมื่อพบกับแสงสว่างในเมือง

 

อย่างไรก็ตาม ไคลท์ลิน พาร์กิน นักอนุรักษ์ด้านชีววิทยาของ NYC Audubon กล่าวว่า “ทุกครั้งที่มีการตีพิมพ์งานวิจัยใหม่ๆ เรามักจะได้เรียนรู้ถึงปัญหา ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางการแก้ไขที่ดีที่สุดตามหลักวิทยาศาสตร์” ซึ่งก้าวแรกนั้นเป็นโครงการ ‘Lights Out’ ที่รณรงค์ให้ตึกสูงปิดไฟในช่วงกลางคืนเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ ในช่วงที่นกฝูงใหญ่กำลังบินอพยพ โดยในขณะนี้มีนิวยอร์กและมินนิโซตาที่เข้าร่วมโครงการแล้ว

 

นอกจากนี้ นักอนุรักษ์บางส่วนยังได้สนับสนุนให้มีการสร้างตึกที่เป็นมิตรต่อนก อาทิ การใช้กระจกลวดลาย หรือการลดแสงสว่างของดวงไฟ ซึ่งเมืองใหญ่อย่างซานฟรานซิสโกและโทรอนโตได้นำแนวปฏิบัตินี้ไปดำเนินการเรียบร้อยแล้ว

 

“เราควรต้องอยู่ร่วมกับระบบนิเวศอย่างสงบ เนื่องจากมนุษย์เองก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศเช่นเดียวกับนกน้อยเหล่านี้ ฉะนั้นสิ่งที่ดีสำหรับนกก็จะดีต่อตัวมนุษย์ด้วยเช่นกัน” เอลบินกล่าว

 

ภาพ: Shutterstock

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising