×

เมื่อธนาคารอยู่ตัวคนเดียวไม่ได้ กสิกรไทยจะฝ่าวิกฤตหนี้เสียสูงและรายได้หดหายไปอย่างไร

11.12.2020
  • LOADING...
เมื่อธนาคารอยู่ตัวคนเดียวไม่ได้ กสิกรไทยจะฝ่าวิกฤตหนี้เสียสูงและรายได้หดหายไปอย่างไร

HIGHLIGHTS

2 mins. read
  • Big Move ของกสิกรไทย จับมือพันธมิตรต่างธุรกิจ 8 เจ้า ฝังตัวทุกกิจกรรมของชีวิต ค้าปลีก-ท่องเที่ยว-ไลฟ์สไตล์ สร้าง Open Banking แม้โมเดลนี้ยังไม่สร้างรายได้กลับสู่องก์กรในเร็ววัน 
  • วิกฤตโควิด-19 ทำลูกหนี้ทรุดระยะยาว ล่าสุดลูกหนี้กลับมาจ่ายชำระหนี้ 73% ส่วนอีก 27% เร่งปรับโครงสร้างหนี้ ประคองหนี้เสียไม่เกิน 4% มั่นใจการตั้งสำรองช่วงที่ผ่านมาเพียงพอ

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระแสดิจิทัลเปลี่ยนแปลงทุกธุรกิจ ไม่เว้นแต่ธุรกิจธนาคารที่ต้องปรับตัวให้ทัน และธนาคารไทยก็เร่งมืออย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ Non-Bank เข้ามากินส่วนแบ่งในตลาดไปได้ จนเห็นภาพความร่วมมือของธนาคารกับฟินเทคมากมาย 

 

โดยเฉพาะกสิกรไทยที่ลงทุนดิจิทัลไปหลายพันล้าน ไหนกำไรจะลดลงเพราะวิกฤตโควิด-19 เข้ามาซ้ำเติม ทางออกของธนาคารที่ต้องลงทุนและดูแลลูกหนี้ที่อาจเป็นหนี้เสียในปี 2564 จะเป็นอย่างไร

 

โควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจฟื้นช้า ถ้าไม่ประคองลูกค้า แบงก์ก็ไปต่อยาก

 

พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBank) เล่าว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบในวงกว้าง ยิ่งธนาคารเป็นส่วนที่เกี่ยวโยงกับทุกฝ่าย ยิ่งต้องระมัดระวังและดูแลทุกจุดอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องหนี้เสียที่อาจเพิ่มขึ้น โดยจะควบคุม NPL ไม่เกิน 4% ผ่านการเร่งการปรับโครงสร้างหนี้

 

พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBank)

 

ทั้งนี้ช่วงที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการช่วยเหลือ มีลูกค้าของกสิกรไทยเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือ เช่น พักต้น ลดดอกเบี้ย ฯลฯ คิดเป็นยอดสินเชื่อคงค้างราว 8.53 แสนล้านบาท กว่า 7 แสนล้านบาทเป็นลูกค้ารายย่อย SMEs ซึ่งต้องยอมรับว่าหนี้ส่วนที่ไม่มีหลักประกัน แม้จะมีสัดส่วนน้อย แต่มีหนี้เสียมากที่สุด (จากยอดสินเชื่อคงค้างของธนาคารที่ราว 2.1 ล้านล้านบาท)

 

หลังสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือเฟส 2 ที่ผ่านมา มีลูกหนี้กลับมาชำระหนี้ได้ราว 73% จากค่าเฉลี่ยของตลาดที่ราว 66% โดยส่วน 27% ยังเข้ารับความช่วยเหลือต่อ ส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบการยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป โดยจะกระจุกตัวอยู่ในธุรกิจโรงแรมเพราะการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว ปัจจุบันธุรกิจโรงแรมคิดเป็น 12.1% ของพอร์ตสินเชื่อของธนาคาร 

 

ปี 2564 ถอยหลังไม่ได้แม้รายได้ไม่เพิ่ม ธุรกิจหลักต้องรอด

 

พัชรเล่าว่า ช่วงโควิด-19 ส่งผลต่อหลายธุรกิจและประชาชนทุกกลุ่ม อย่างเงินที่ช่วยเหลือลูกค้าส่งผลให้กำไรหายไป ไหนจะจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่หายไปอีก ขณะเดียวกันแบงก์ต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อรับกับหนี้เสียที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ดังนั้นสิ่งที่แบงก์ทำได้คือ การประคับประคองลูกหนี้ต่อไป และต้องหารายได้ในรูปแบบใหม่ๆ ภายใต้ธุรกิจหลักอย่างสินเชื่อ

 

ทั้งนี้ ธนาคารต้องปรับตัวยังเป็นเรื่องใหญ่ อย่างสาขาปัจจุบันมีราว 850 สาขา ต้องปรับให้สาขาที่มีพื้นที่ให้บริการซ้ำซ้อนก็ต้องปิดและไปเปิดที่ใหม่ และต้องรีสกิล ‘คน’ ให้มีทักษะเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ทำธุรกรรมโอนจ่าย ก็อาจจะปรับไปเรื่องการเสนอผลิตภัณฑ์อื่นๆ หรือการจัดการหนี้ เพราะธนาคารยังต้องมีคนเพื่อตอบสนองลูกค้าเสมอ (ปัจจุบันมีพนักงาน 19,000 คน)

 

“ถ้าถามเรื่องการตัดหนี้ ในวิกฤตครั้งก่อนหน้า หนี้เป็นก้อนใหญ่ รายใหญ่ การตัดขายก็จะง่าย แต่วันนี้เป็นหนี้ย่อยๆ อย่าง SME บ้าน ที่ทำให้ตัดขายหรือตั้งราคาก็ยาก เพราะฉะนั้นเราจะเก็บไว้แล้วค่อยๆ ย่อย โดยเรามองว่าต้องให้เวลาลูกค้า ขณะเดียวกันการตัดหนี้จะทำให้รายได้หายไปด้วย เพราะมีส่วนลดในการตัดขายหนี้ไปแล้ว” 

 

สุดท้ายแล้วเรื่อง NPL หรือหนี้เสียยังต้องดูแลกันต่อไป ทั้งการช่วยเหลือลูกค้าผ่านโครงการต่างๆ และที่สำคัญ การมีข้อมูลเพื่อแยกแยะความเสี่ยงคนที่มาขอสินเชื่อ ซึ่งตอนนี้ NPL อยู่ต่ำกว่า 4% ปัจจุบันมีการตั้งสำรองโดยวางแผนไปถึง 3 ปีข้างหน้าแล้ว ซึ่งตอนนี้ส่วนที่ตั้งสำรองไว้ถือว่าเพียงพอแล้ว เพราะมีการตั้งสำรองโดยมองสถานการณ์ที่แย่กว่าปัจจุบัน

 

 

ทางรอดธุรกิจตัวกลางอย่างธนาคารต้องฝังตัว-กวาดพันธมิตรให้มากที่สุด

 

ธนาคารที่ธุรกิจหลักคือการเป็นตัวกลางเชื่อมโยงกับภาคส่วนต่างๆ ดังนั้นจะเห็นโมเดลของกสิกรไทยที่เป็น Open Banking ผ่านการจับมือกับพันธมิตรหลายธุรกิจเพื่อสร้างบริการและสร้างรายได้ ที่ไม่ใช่แค่การขยายช่องทางดิจิทัลอย่างเดียว

 

ทั้งนี้ การร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ ที่เชื่อมกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น Grab, Lazada, Shopee, JD Central ฯลฯ ทำให้ธนาคารมีข้อมูลลูกค้าเพื่อปรับใช้กับแต่ละโมเดล และปรับใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 


โมเดลที่เห็นว่ากสิกรไทยเข้าไป ‘ฝังตัว’ ที่ชัดที่สุดคือ การลงทุนใน Grab กว่า 1.6 พันล้านบาท และกสิกรไทยยังให้บริการหลังบ้านผ่าน GrabPay Wallet ซึ่งจะมีคำว่า Powered by KBank ให้เห็นอย่างชัดเจน 

 

แต่โมเดลที่จะทำให้ธุรกิจธนาคารยังไปต่อได้คือธุรกิจสินเชื่อ โดยปัจจุบันเริ่มต้นสินเชื่อไม่มีหลักประกันอย่าง สินเชื่อส่วนบุคคล (P-Loan) มีทั้งให้พาร์ตเนอร์คนขับของ Grab, ร้านค้าที่อยู่บน Lazada, Shopee และตอนนี้เริ่มบุกตลาดรายย่อยผ่าน Dolfin Money (Central JD Fintech)

และอีกตัวอย่างสำคัญคือ LINE BK ที่กสิกรไทยจะให้บริการเงินฝาก โอนเงิน และสินเชื่อ หลังการเปิดตัวเมื่อ 15 ตุลาคม 2563 มียอดเปิดบัญชีแล้วกว่า 8 แสนราย และมียอดสมัครขอสินเชื่อแล้วกว่า 5-6 แสนราย โดยวงเงินเฉลี่ยราว 40,000 บาทต่อคน 

 

สำหรับโมเดล Open Banking พัชรยอมรับว่าการจับมือกับพาร์ตเนอร์ต่างๆ ยังจะไม่ได้สร้างรายได้กลับมาสู่ธนาคารมากมายในระยะใกล้นี้ แต่ต้องศึกษาและมองหาโมเดลที่จะพัฒนาธุรกิจหลักอย่างสินเชื่อต่อไป 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising