ในขณะที่คน Gen Y เกิดและโตมากับความทรงจำของเสียงโมเด็ม (และบัตรเติมเงินอินเทอร์เน็ต) สำหรับคน Gen Z หรือ ‘Zoomers’ แล้วพวกเขาเติบโตมาในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างมาก แต่ก็มีวิถีในการใช้เทคโนโลยีในแบบของตัวเองที่น่าสนใจ
ด้วยความที่คน Gen Z ซึ่งหมายถึงเหล่าเด็กหนุ่มสาวที่เกิดหลังปี 1997 โตมาในยุคที่มีการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะนับจากปี 2007 เป็นต้นมาที่โลกถูกดิสรัปต์ครั้งใหญ่ด้วย iPhone สมาร์ทโฟนจาก Apple แต่มีหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีของพวกเขา ซึ่งมีบางอย่างที่พวกเขาไม่ได้มองไปข้างหน้าเท่านั้น แต่ยังหันกลับมามองข้างหลังและนำสิ่งที่เคยตกยุคไปแล้วกลับมาอีกครั้งในช่วงเวลานี้ด้วย
อะไรบ้างที่คน Gen Z ในโลกยุคนี้ทำ และมีอะไรที่ตรงกับ Gen Z ในบ้านเราบ้าง?
จดบันทึกด้วยเสียง
พูดถึงการจดบันทึกแล้วสำหรับคนยุคก่อนๆ คงคิดถึงการจดบันทึกบนสมุดหรือกระดาษ หรืออาจจะจดเป็นโน้ตเก็บไว้ในสมาร์ทโฟน แต่สำหรับชาว Zoomer พวกเขาไม่ได้ทำแบบนั้น
วิธีการจดบันทึกสำหรับพวกเขาคือการ ‘พูดใส่โทรศัพท์’ หรือการจดบันทึกด้วยเสียง (Voice Memo) นั่นเอง ซึ่งเป็นหนึ่งในฟีเจอร์ที่สามารถใช้งานได้บน WhatsApp หรือ iMessage ซึ่งสำหรับคนรุ่นใหม่แล้วบันทึกเสียงถือเป็นความสะดวกกว่าการจดบันทึกธรรมดา ซึ่งทาง WhatsApp เปิดเผยว่า ในปี 2022 มีข้อความบันทึกเสียงมากถึง 7 พันล้านข้อความเลยทีเดียว
ภาษาอีโมจิ
อีโมจิ (Emoji) ถือเป็นการสื่อสารอีกรูปแบบหนึ่งที่บางครั้งได้ผลมากกว่าการส่งข้อความยาวๆ เสียอีก เช่น อีโมจิหน้ายิ้มที่มีน้ำตาคลอเบ้า
แต่นั่นอาจไม่ใช่การใช้งานที่ถูกต้องสำหรับชาว Gen Z เพราะพวกเขาจะมีวิธีการสื่อสารด้วยตัวอีโมจิในแบบของตัวเอง ซึ่งอาจไม่ได้ตรงกับตัวอีโมจิโดยตรง เช่น สมมติอยากจะบอกว่า ‘มีความสุข’ หรือ ‘ตลกฉิบ’ แทนที่จะใช้อีโมจิรูปหน้าหัวเราะ พวกเขาจะใช้อีโมจิตัวร้องไห้ หรืออีโมจิรูปกะโหลกแทน
หรือจะอีโมจิรูปตัวตลกจะใช้แทนการบอกเวลามีใครทำตัวงี่เง่า ขณะที่รูปดวงตาจะใช้แทนการบอกว่ากำลัง ‘วางแผน’ อะไรอยู่ และรูปหน้ากลับหัวแทนการบอกว่า ‘ไม่ได้เป็นไปตามที่คิดไว้’
เรียกว่าอีโมจิเป็นหนึ่งในภาษาสำหรับคนรุ่นนี้ ที่คนรุ่นก่อนอาจจะต้องใจเย็นและทำความเข้าใจนิดหนึ่ง เพราะมันอาจจะไม่เหมือนที่คิด!
กล้องดิจิทัลเฟื่องฟู
สมาร์ทโฟนในยุคปัจจุบันถือว่าแทบจะใช้ถ่ายภาพได้สะดวกและมีคุณภาพที่ใกล้เคียงกับกล้องดิจิทัลแบบ DSLR สมัยก่อนแล้วก็จริง แต่สำหรับคน Gen Z ดูเหมือนพวกเขากำลังจะ Back to the Future ด้วยการหันกลับไปหากล้องดิจิทัลกันอีกครั้ง
ตามข้อมูลจาก Statista ระบุว่าในปี 2019 ชาว Gen Z เป็นเจ้าของกล้องดิจิทัลกันมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ และมีการคาดการณ์ว่าตลาดของกล้องดิจิทัลเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องปีละ 2 เปอร์เซ็นต์จนถึงปี 2028 ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอย่างมาก เพราะคนรุ่น Gen Y ขึ้นไปแทบจะไม่ได้หยิบกล้องขึ้นมาใช้อีกเลย เพราะสมาร์ทโฟนสมัยนี้ถ่ายสวยกว่าและง่ายกว่า
แต่มันมีเหตุผลอยู่ที่คน Gen Z กลับมาฮิต เพราะว่ากล้องดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นกล้องที่ใหม่หน่อยหรือกล้องที่ย้อนยุคนิดๆ จะมี ‘เสน่ห์’ ในภาพที่หาไม่ได้ในสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นเรื่อง ‘สุนทรียะ’ (Aesthetic) ที่คนรุ่นนี้ให้ความสำคัญ อีกทั้งมันยังเป็นครูที่สอน ‘ประสบการณ์’ บางอย่างให้ เช่น ความอดทน (ที่จะต้องรอโหลดไฟล์ลงเครื่อง แต่งภาพในคอมพิวเตอร์ แล้วโยนไฟล์กลับมาสมาร์ทโฟนเพื่ออัปโหลดขึ้น Instagram)
ฟิลเตอร์มหาเสน่ห์
สำหรับคน Gen Z ที่ยังถนัดกับสมาร์ทโฟนมากกว่า ก็อาจจะใช้วิธีหาความสุนทรีย์ในการถ่ายภาพผ่านการใช้ ‘ฟิลเตอร์’ บนแอปพลิเคชันแทน
แอปยอดนิยมก็เช่น VSCO ที่มี ‘ชุดการตั้งค่าสี’ (Preset) มากมายให้เลือกใช้งาน หรือการใช้แอปที่จำลองการถ่ายภาพแบบสมัยก่อนเช่น Dispo, Huji Cam, Dazz Cam ก็ได้ภาพที่สวยและมีเสน่ห์ในแบบวินเทจนิดๆ เหมือนกัน
การกลับมาของ (มือถือ) ฝาพับ
กล้องดิจิทัลไม่ได้เป็นสิ่งเดียวที่กลับมาเป็นเทรนด์สำหรับคน Gen Z ยังมีอีกอย่างที่กลับมาฮิตเฉยเลย
สิ่งนั้นก็คือโทรศัพท์มือถือแบบฝาพับ (Flip Phone) ซึ่งเคยเป็นโทรศัพท์มือถือสุดล้ำในยุค 90 ต่อเนื่องมาจนถึงยุคมิลเลนเนียม เรียกว่าผู้เขียนเองผ่านมาตั้งแต่ Motorola StarTAC จนถึงมือถือค่ายเกาหลีอย่าง Samsung และ LG เลยทีเดียว
แต่ตอนนี้กลายเป็นว่ามือถือฝาพับสุดคิวต์กลับมาเป็นมือถือที่คน Gen Z ต้องมี และไม่ใช่สมาร์ทโฟนพับได้ด้วยแต่เป็นมือถือธรรมดาๆ ที่ไม่ต้องมีฟังก์ชันอะไรเลย เพราะมันทำให้พวกเขาได้ตีตัวออกหากจาก Instagram, Snapchat, TikTok บ้าง ไม่นับการใช้งานกล้องโทรศัพท์มือถือแบบเก่านี้ก็ยังให้คุณภาพและสไตล์ที่น่าทึ่งสำหรับพวกเขาด้วย
เข้าทำนองถึงจะเก่าแต่ก็เก๋านะเฟร้ย!
นอกจากนี้ยังมีเทรนด์อื่นๆ อีก เช่น การชอบพิมพ์ตัวเขียนใหญ่ (Capitalization), ชอบใช้ Dark Mode, การใช้แชตกลุ่ม (Group Chats) และเชื่อว่ายังมีอะไรอีกมากที่เป็นเรื่องเฉพาะที่คน Gen Z จะรู้และเข้าใจด้วยกันเอง
สำหรับคนเจนอื่นโดยเฉพาะคนที่อายุมากกว่าก็ถือว่ารู้ไว้ จะได้เข้าใจกันและกันมากขึ้น หรือถ้าคน Gen Z มีวิถีแบบไหนของตัวเองอีกก็แบ่งปันกันมาได้เลย 🙂
อ้างอิง: