ในช่วงเวลาแห่งความตึงเครียดทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง โจทย์สำคัญที่ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกกำลังเผชิญคือ การชั่งน้ำหนักว่าจะหาจุดสมดุลในการดูแลเสถียรภาพด้านราคาและเสถียรภาพของระบบการเงินไปพร้อมๆ กัน
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันธนาคารกลางหลายแห่งก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พวกเขาในฐานะผู้กำหนดนโยบายการเงิน สามารถรับมือกับแรงกดดันทางการเงินและมุ่งมั่นกับการต่อสู้กับเงินเฟ้อได้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ความสามารถยับยั้งผลกระทบจากการล่มสลายของ Silicon Valley Bank และธนาคารภูมิภาค (Regional Bank) อื่นๆ ในสหรัฐฯ รวมถึงธนาคาร Credit Suisse ในสวิตเซอร์แลนด์ โดยไม่ทำให้เงินเฟ้อกลับมาพุ่งสูงขึ้น
วิกฤตในรอบนี้มีความแตกต่างจากช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2008 ซึ่งโจทย์ในตอนนั้นคือ การเพิ่มอุปสงค์มวลรวมเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเงินฝืดและภาวะเศรษฐกิจถดถอย ไม่มีปัญหาเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่สูงอย่างเช่นในปัจจุบัน ซึ่งทำให้การสร้างจุดสมดุลระหว่างการดูแลเสถียรภาพด้านราคาและเสถียรภาพของระบบการเงินทำได้ยากกว่า
ความยากในการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางในรอบนี้คือ ความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างจริงจัง เพื่อดับความร้อนแรงของเศรษฐกิจและทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมาย หลังจากสถาบันการเงินหลายแห่งทั่วโลกคุ้นชินกับภาวะดอกเบี้ยต่ำมานาน
เมื่อดอกเบี้ยปรับตัวขึ้นเร็วและแรงพร้อมกันทั่วโลก งบดุลของธนาคารจึงดูแย่ลง ตามสินทรัพย์ เช่น เงินกู้และตราสารหนี้ที่อยู่ในมือธนาคารที่มีมูลค่าลดลง ขณะที่ภาระหนี้สินของธนาคารกลับเพิ่มสูงขึ้น หากไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาเหล่านี้อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวมได้
การรับมือกับแรงกดดันทางการเงินที่ไม่รุนแรง
ในอดีตเมื่อธนาคารกลางเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและเริ่มถอนสภาพคล่องออกจากระบบ โดยใช้วิธีลดขนาดของงบดุลลง หรือ Quantitative Tightening (QT) มักจะก่อให้เกิดความตึงเครียดทางเศรษฐกิจ แต่หากแรงกดดันเหล่านี้อยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง ก็จะไม่นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ในการบรรลุเสถียรภาพด้านราคาและเสถียรภาพของระบบการเงิน
ในกรณีที่แรงกดดันทางการเงินดังกล่าวนำไปสู่การลดลงของอุปสงค์มวลรวม ธนาคารกลางก็สามารถปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อให้แน่ใจว่าเศรษฐกิจยังคงเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาก็เคยมีธนาคารกลางที่ใช้วิธีนี้ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ธนาคารกลางของสหรัฐฯ ได้ระงับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อเผชิญกับวิกฤตสินเชื่อที่ใกล้เข้ามา แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่เหนือระดับที่ต้องการก็ตาม
นอกจากนี้ธนาคารกลางยังสามารถใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นๆ นอกเหนือจากอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อควบคุมความเสี่ยงในภาคส่วนต่างๆ ของระบบการเงิน ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่เกิดวิกฤต Silicon Valley Bank และความวุ่นวายที่ตามมาในกลุ่มธุรกิจธนาคาร ทางธนาคารกลางของสหรัฐฯ ได้ออกโครงการเงินกู้ฉุกเฉินให้กลุ่มสถาบันการเงินอย่างรวดเร็ว เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับธนาคารและเรียกความเชื่อมั่นในระบบการเงินกลับมา
อีกทั้งหากมีมาตรการจัดการความเสี่ยงในระบบการเงิน (Macro-Prudential) ก็สามารถปรับเปลี่ยนให้ยืดหยุ่นขึ้นได้ กล่าวคือถ้ามีความเสี่ยงในระบบการเงินเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย สามารถพึ่งพาเครื่องมือทางการเงินของธนาคารกลาง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินภายในประเทศ โดยไม่ต้องใช้มาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมจากรัฐบาล ด้วยวิธีนี้ทำให้นโยบายการเงินสามารถมุ่งเน้นไปที่การควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้
ความท้าทายที่เกิดจากแรงกดดันทางการเงินที่รุนแรงขึ้น
แม้ว่าแรงกดดันทางการเงินดูเหมือนจะอยู่ภายใต้การควบคุมชั่วขณะ อย่างไรก็ตาม อาจมีปัจจัยหลายประการที่ทำให้สถานการณ์แย่ลงและบานปลายอย่างรวดเร็ว เป็นวิกฤตการณ์ทางการเงินที่รุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งระบบเศรษฐกิจ อาทิ การล่มสลายของธนาคารยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับการเร่งปฏิกิริยาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการสื่อสาร ที่ทำให้ความกังวลของผู้คนแพร่สะพัดอย่างรวดเร็วและปัญหารุนแรงขึ้น
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นความท้าทายที่สำคัญของธนาคารกลาง ทำให้ผู้กำหนดนโยบายการเงินต้องดำเนินนโยบายอย่างเหมาะสมและทันท่วงทีผ่านนโยบายการเงินเชิงรุก (Aggressive Monetary Policy) ซึ่งรวมถึงการอัดฉีดสภาพคล่องในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การเข้าไปกว้านซื้อตราสารทางการเงินระยะกลางถึงระยะยาว เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่น หรือตราสารหนี้เอกชน เป็นต้น เพื่อเพิ่มปริมาณเงินหรือสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ หรืออาจเป็นการอัดฉีดเงินทุนโดยตรง หากการแทรกแซงเหล่านี้มีศักยภาพมากพอ นโยบายการเงินก็จะมุ่งเน้นไปที่การควบคุมอัตราเงินเฟ้อต่อไปโดยไม่มีอุปสรรคใดๆ
อย่างไรก็ตาม การรับมือกับวิกฤตการณ์ทางการเงินอาจเกินขีดความสามารถของธนาคารกลาง เนื่องจากธนาคารกลางสามารถดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ แต่เมื่อต้องรับมือกับบริษัทที่ประสบปัญหาทางการเงินหรือบุคคลที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ รัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
เมื่อแรงกดดันทางการเงินและความเป็นไปได้ของการล้มละลายสูงขึ้น สิ่งสำคัญคือต้องดำเนินการอย่างแข็งขัน เพื่อทำให้สถานการณ์มีเสถียรภาพ ซึ่งมักจะใช้งบประมาณแผ่นดินจำนวนมากในการดําเนินมาตรการและวิธีการต่างๆ เพื่อนำพาประเทศผ่านพ้นวิกฤต
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนกันยายน ปี 2022 บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่งในประเทศเกาหลีใต้ประกาศผิดนัดชำระหนี้ ทำให้บรรดาตลาดพันธบัตรและตลาดเงินของเกาหลีใต้เกิดความปั่นป่วน เนื่องจากนักลงทุนเริ่มวิตกกังวล และเกรงว่าปัญหานี้อาจลามไปสู่วิกฤตอสังหาริมทรัพย์เหมือนที่เกิดขึ้นในจีน
ด้วยเหตุนี้ทางรัฐบาลและธนาคารกลางของเกาหลีใต้ (BOK) จึงได้ดำเนินมาตรการเพิ่มสภาพคล่องให้ตลาดเงิน โดยการซื้อหุ้นกู้และตราสารหนี้เอกชนระยะสั้น เพื่อยับยั้งการผิดนัดชำระหนี้เป็นวงกว้าง การดำเนินการเหล่านี้ทำให้ธนาคารกลางของเกาหลีใต้สามารถรับมือกับความเสี่ยงในระบบการเงิน ไปพร้อมๆ กับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ
ในกรณีที่รัฐบาลไม่มีพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) หรือการสนับสนุนทางการเมืองในการจัดหาทรัพยากรที่เพียงพอ ธนาคารกลางอาจปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน เพื่อจัดการกับแรงกดดันทางการเงินและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยจำเป็นต้องระมัดระวังอย่างยิ่งเมื่อขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดความเสี่ยงในระบบการเงินและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะกลับสู่เป้าหมายนโยบายการเงินได้ช้าลง
แน่นอนว่าการสื่อสารทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญของธนาคารกลาง ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิผลต่อการคาดการณ์ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการยึดเหนี่ยวอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ของสาธารณชน
อย่างไรก็ตาม การสื่อสารนโยบายการเงินอาจเผชิญความท้าทายบางประการ เนื่องจากธนาคารกลางต้องทำให้สาธารณชนเชื่อให้ได้ว่ากำลังเอาจริงกับปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งอาจทำให้สาธารณชนเกิดความวิตกกังวลมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นอาจปล่อยให้ธนาคารกลางปรับขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไป เมื่อเทียบกับแนวโน้มของเงินเฟ้อ (Behind the Curve) ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดมาตรฐานที่สูงในการสื่อสารทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อ อย่างต่อเนื่อง
ในประเทศที่นโยบายการเงินขาดความน่าเชื่อถือและฐานะการคลังอ่อนแอ การตัดสินใจทางเศรษฐกิจจึงไม่มีทางเลือกมากนัก ประเทศเหล่านี้มีความเสี่ยงมากกว่าที่จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเคลื่อนย้ายเงินทุนในวงกว้าง ซึ่งก่อให้เกิดการอ่อนค่าของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างรุนแรงและอัตราเงินเฟ้อที่สูง
ในทางกลับกัน หากประเทศดำเนินนโยบายการเงินมีความน่าเชื่อถือและฐานะการคลังที่เข้มแข็ง ผู้กำหนดนโยบายสามารถใช้มาตรการแทรกแซงในลักษณะอื่นๆ เช่น แทรกแซงในตลาดเงินตราต่างประเทศ หรืออัดฉีดสภาพคล่องเข้าในระบบ เป็นต้น แต่หากวิกฤตใกล้เข้ามา รัฐบาลหรือธนาคารกลางอาจต้องหันมาใช้มาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ เพื่อลดความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนจากการเปลี่ยนแปลงของปริมาณเงินในตลาดการเงิน
การรับมือเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินอย่างเฉียบพลัน
หากสถานการณ์ทางการเงินแย่ลงจนเกิดวิกฤตใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ธนาคารกลางต่างๆ จะต้องเน้นไปที่การแก้ไขเสถียรภาพของระบบการเงินเป็นอันดับแรก
ธนาคารกลางที่มีความน่าเชื่อระดับสูงมีความสามารถในการดำเนินการปรับนโยบายการเงิน โดยมุ่งลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่มีอยู่ ในกรณีที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง อาจแสดงถึงความพยายามของธนาคารกลางในการบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อในกรอบเวลาที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ในทางปฏิบัติ การเกิดวิกฤตอาจสร้างแรงกดดันที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญต่ออัตราเงินเฟ้อ ดังนั้นธนาคารกลางจึงจำเป็นต้องปรับวัตถุประสงค์ของนโยบายการเงินใหม่
อย่างไรก็ตาม ในระบบเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ซึ่งมีกรอบแนวทางการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจมหภาคที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่า มีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ ซึ่งเกิดจากการไหลออกของเงินทุนและการอ่อนค่าของสกุลเงิน นำไปสู่อัตราเงินเฟ้อที่เลวร้ายลง
ด้วยเหตุนี้ธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องระมัดระวังและเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดในการรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน ซึ่งอาจจำกัดความสามารถในการดำเนินนโยบายที่กระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่าประเทศเหล่านี้จะสามารถดำเนินการบางอย่างได้อย่างอิสระ
นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ ประเทศต้องมีการสร้างเครือข่ายความมั่นคงทางเศรษฐกิจกับนานาชาติในภาวะของความผันผวนและความไม่แน่นอน เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดวิกฤตที่ยาวนานและรุนแรง
ให้ความช่วยเหลือ Non-Bank เมื่อเกิดวิกฤตทางการเงิน
ธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) เช่น บริษัทประกัน กองทุนบำเหน็จ-บำนาญ และกองทุนรวม ฯลฯ กำลังมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปกติแล้วธนาคารกลางจะอัดฉีดสภาพคล่องให้กับภาคธนาคาร แต่ Non-Bank อาจไม่ได้รับประโยชน์จากสภาพคล่องนี้ Non-Bank มักจะมีทรัพยากรด้านเงินทุนที่ต่ำกว่าและมีการกำกับดูแลที่เข้มงวดน้อยกว่าธนาคาร
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตทางการเงิน ธนาคารกลางอาจพบว่าจำเป็นต้องจัดหาสภาพคล่องให้กับ Non-Bank เช่น ในกรณีของวิกฤตการเงินโลกปี 2008 และการระบาดของโควิด แต่มาตรฐานการให้กู้ยืมแก่ Non-Bank ควรมีความเข้มงวดมากกว่าสำหรับธนาคาร เนื่องจากความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับงบดุลของธนาคารกลางและศักยภาพในการสร้างแรงจูงใจ ที่อาจนำไปสู่ความไม่มั่นคงทางการเงินในอนาคต
กล่าวโดยสรุปจากสถานการณ์ล่าสุดในสวิตเซอร์แลนด์ เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่า มาตรการที่เข้มงวดของธนาคารกลางในการจัดการกับแรงกดดันทางการเงินมีส่วนช่วยลดความไม่แน่นอน ในทางกลับกัน สิ่งนี้ทำให้ธนาคารกลางสามารถให้ความสำคัญกับการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อต่อไปได้
อ้างอิง: