จากการตระหนักถึงภัยคุกคามทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคจำนวนมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เริ่มเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรม วิถีชีวิตประจำวัน ยอมเสียสละความสะดวกสบายบางอย่าง เพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการยอมจ่ายในราคาที่สูงขึ้น เพื่อบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้โลกสวยด้วยไลฟ์สไตล์รักษ์โลกของตนเอง
สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นความท้าท้ายที่ทุกธุรกิจต้องเผชิญ และต้องเร่งปรับกลยุทธ์การตลาด ให้เท่าทันเทรนด์รักษ์โลกของกลุ่มผู้บริโภคโลกสวยในยุคปัจจุบัน
เพื่อให้ทราบว่า พฤติกรรมผู้บริโภคต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) จึงได้จัดทำวิจัยภายใต้หัวข้อ ‘การตลาดโลกสวย Voice of Green: เพื่อโลก เพื่อเรา’ โดยแบ่งการสำรวจออกเป็น 2 กลุ่ม คือ การสำรวจความคิดเห็น (Questionnaire) ใช้แบบสอบถามออนไลน์ และ การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview)
ในส่วนแรกการสำรวจความคิดเห็น (Questionnaire) จากกลุ่มประชาชนผู้บริโภค จำนวน 1,252 คน ออกเป็น 2 ส่วน คือ
ด้านทัศนคติหรือมุมมองความคิดในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ได้แก่
- ปัญหาขยะพลาสติกเป็นเรื่องใหญ่
- ควันรถเป็นต้นเหตุของมลพิษ
- การไม่แยกขยะ นำมาซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อม
- การใช้น้ำอย่างถูกวิธี และการอนุรักษ์น้ำ ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้
- การคิดก่อนใช้ และประหยัดพลังงานไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องยาก และช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้
- การหันมาใช้ผลิตภัณฑ์อีโคแบรนด์ เป็นหนึ่งในแนวทางที่ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้
อีกด้านคือพฤติกรรมหรือการลงมือทำเพื่อช่วยรักษ์โลก ได้แก่
- มีพฤติกรรมปิดไฟเมื่อไม่ใช้งาน
- มีพฤติกรรมลดการใช้ถุงพลาสติก
- พกแก้ว พกหลอดมาเอง เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติก
- มีพฤติกรรมนำขยะมาหมุนเวียน โดยการใช้ซ้ำ
- มีพฤติกรรมการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า
- เดินทางไปด้วยกัน หากไปทางเดียวกัน เพื่อลดมลพิษจากควันรถยนต์
Baby Boomer มีแนวโน้มเป็นสายกรีนตัวแม่สูงสุด
จากผลสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมสามารถจัดกลุ่มผู้บริโภคได้ 4 สาย ประกอบด้วย
#สายโนกรีน จำนวน 26% ยังไม่พร้อมใช้จ่ายเพื่อสิ่งแวดล้อม และยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เพราะมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก
#สายสะดวกกรีน จำนวน 15.7% มีความเข้าใจเรื่องความจำเป็นในการปกป้องสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีพฤติกรรมที่เคยชินกับการบริโภคแบบเดิมๆ และยังไม่มีความกระตือรือร้นในการปรับเปลี่ยน
#สายกรีนตามกระแส จำนวน 20.8% มีพฤติกรรมตามกระแสการใช้สินค้าอีโค แต่ยังขาดทัศนคติในด้านความต้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นในระยะยาว
#สายกรีนตัวแม่ จำนวน 37.6% มีความตั้งใจทำทุกอย่างและยินดีจ่ายแพงขึ้น เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม
พิมพ์ลดา ธารินทร์ภิรมย์ Project Leader กล่าวว่า สายกรีนตัวแม่และสายกรีนตามกระแส จำนวน 58.4% เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่สายสะดวกกรีนและสายโนกรีนจำนวน 41.7% ยังเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นความท้าทายของนักการตลาดในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกันผลวิจัยยังระบุอีกว่า ผู้บริโภคที่อายุมาก โดยเฉพาะคนกลุ่ม Baby Boomer (อายุ 55-73 ปี) มีแนวโน้มเป็นสายกรีนตัวแม่สูงสุด ตามมาด้วยผู้บริโภคกลุ่ม Gen X (อายุ 39-54 ปี) Gen Y (อายุ 23-38 ปี) และ Gen Z (อายุต่ำกว่า 23 ปี) ตามลำดับ เนื่องจากยิ่งผู้บริโภคที่มีอายุมาก จะยิ่งมีความพร้อมทางด้านรายได้ และมีความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
‘ธุรกิจ’ ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ‘อย่างจริงใจ’
สำหรับผลวิจัยส่วนที่ 2 การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) กลุ่มเจ้าของธุรกิจ พนักงาน อาชีพอิสระ แม่บ้าน นักเรียน และผู้เกษียณราชการ จำนวน 105 คน พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่มองว่า ‘องค์กรธุรกิจ’ มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยผู้บริโภคมีมุมมองต่อองค์กรธุรกิจ ดังนี้
- ผู้บริโภคจำนวน 79% มองว่า องค์กรทำเพื่อภาพลักษณ์และเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นเชิง CSR หรือคล้ายๆ กิจกรรมที่ถูกบังคับจากสังคม หากไม่ทำ อาจได้รับผลกระทบในด้านลบ
- ผู้บริโภคจำนวน 18% มองว่า องค์กรทำเพื่อลดต้นทุนและสร้างกำไร เช่น ธุรกิจที่งดการใช้ถุงพลาสติกจะมีต้นทุนที่ลดลง และยังได้ประโยชน์จากการขายถุงผ้าให้ลูกค้า
- ผู้บริโภคจำนวน 3% มองว่า องค์กรต้องทำ เพราะนโยบายภาครัฐกำหนดไว้ เช่น การบำบัดน้ำเสีย หากกฎหมายไม่บังคับ องค์กรคงไม่ยอมแบกรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่สูงไว้
ดังนั้น องค์กรธุรกิจจึงควรขับเคลื่อนนโยบายการดำเนินธุรกิจ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ‘อย่างจริงใจ’
‘เอ็นไว (ENVI Strategy)’ กลยุทธ์เข้าหาผู้บริโภคโลกสวย
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่ถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีแนวโน้มปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรม เพื่อการบริโภคโลกสวยได้ ซึ่งเป็นโอกาสของนักการตลาดที่จะสร้างสรรค์สินค้า บริการ และแคมเปญ เพื่อเข้าถึงความต้องการดังกล่าว
โดยกลยุทธ์การทำการตลาดโลกสวยที่จะช่วยทำให้กลุ่มผู้บริโภคสายโนกรีนและสายสะดวกกรีน ตระหนักถึงการบริโภคที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ได้แก่ กลยุทธ์เอ็นไว (ENVI Strategy) ประกอบด้วย
- ปลูกฝังจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่ (E: Early) สำหรับผู้บริโภคกลุ่มในกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ที่ยังไม่ค่อยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ภาครัฐ และองค์กร ธุรกิจจึงควรให้ความสำคัญกับการปลูกฝังเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ผู้บริโภคในกลุ่มนี้
- ปัญหาสิ่งแวดล้อมควรแก้ไขทันที (N: Now or Never) เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติผู้บริโภคที่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมน้อย นักการตลาดจึงควรให้ความสำคัญกับการสื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ
- สื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างทั่วถึง (V: Viral) นักการตลาดควรใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อการสื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างทั่วถึงและแพร่หลาย
- ใช้นวัตกรรมในการผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อม (I: Innovative) การดึงนวัตกรรมมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เช่น การใช้วัตถุดิบสำหรับอิเล็กทรอนิกส์ที่มีคุณสมบัติอนุรักษ์มากขึ้น การใช้ระบบดิจิทัลในการผลิต เป็นต้น
นอกจากนี้องค์กรที่ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงใจ มีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคในปี 2563 ประกอบด้วยธุรกิจที่มีสินค้าหรือบริการต่อไปนี้
- สินค้าที่ใช้วัตถุดิบย่อยสลายง่ายและกลับมาใช้ซ้ำ เช่น ธุรกิจสตาร์ทอัพแบรนด์ Moreloop ที่นำเศษผ้าที่เหลือจากการตัดมารวมกัน และนำเศษเหล่านั้นมาตัดเป็นเสื้อผ้าใหม่เพื่อลดขยะ
- สินค้าหรือบริการที่ใช้พลังงานสะอาด เช่น ธุรกิจศูนย์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจร้าน Refill Store เติมเท่าไรจ่ายเท่านั้น เป็นต้น
- สินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ไบโอ และธุรกิจอาหารที่เปลี่ยนพืชให้มีรสชาติเหมือนเนื้อสัตว์ เป็นต้น
- สินค้าอีโคมีดีไซน์ตอบสนองคนรุ่นใหม่ เช่น กระเป๋าผ้าใบดีไซน์สุดติสต์ยี่ห้อ Freitag และแพ็กเกจจิ้งอาหารกินได้ เป็นต้น
ทั้งนี้ การดึงกลยุทธ์การตลาดที่น่าสนใจและเข้ากับกระแส จะทำให้แบรนด์สามารถคว้าโอกาสให้กับธุรกิจ ท่ามกลางกระแสที่ผู้บริโภคโลกสวยกำลังตื่นตัวได้อย่างแน่นอน
ภาพ: กริน วสุรัฐกร
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล