×

ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยสูง ‘สภาพัฒน์-แบงก์ชาติ’ มีทางแก้อย่างไรบ้าง

15.01.2020
  • LOADING...
หนี้ครัวเรือน

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • สภาพัฒน์ชี้แจงกรณีดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดต่อเนื่อง 10 เดือน สาเหตุมาจากหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในระดับสูง
  • หนี้ครัวเรือนไทยไตรมาส 2 ปี 2562 อยู่ที่ 78.7% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2561 โดยหนี้ครัวเรือนไทยเคยอยู่เกินระดับ 80% เมื่อปี 2556 หลังจากมีโครงการรถคันแรกและอัตราดอกเบี้ยต่ำเอื้อให้คนกู้มากขึ้น
  • ธนาคารแห่งประเทศไทยรวบ 4 เกณฑ์ควบคุมการปล่อยสินเชื่อบ้าน บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียน แนะแนวการใช้มาตรฐานกลาง DSR แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน

ก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธันวาคม 2562 ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ส่วนหนึ่งเพราะภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงที่ 78.7% ดังนั้นลองมาดูรายละเอียดกันว่าในมุมมองของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และธนาคารแห่งประเทศไทยมองหนี้ครัวเรือนไทยเป็นอย่างไร

 

สภาพัฒน์จับตาหนี้ครัวเรือนสูง เร่งติดตามคุณภาพหนี้ 3 ประเภท

ดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒน์ ในฐานะโฆษกสำนักงานฯ กล่าวว่าหนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 2 ปี 2562 อยู่ที่ 78.7% ของ GDP ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 13.08 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.8% 

 

โดย 58.8% ของหนี้ครัวเรือนไทยเป็นการกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย (24.4%) ยานยนต์ (17.1%) เพื่อประกอบธุรกิจ (17) และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล (41.5%)

 

จากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประจำเดือนธันวาคม 2562 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงที่ 78.7% ปัจจุบันทางสภาพัฒน์ติดตามสถานการณ์หนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิด เพราะมีหลายประเด็นที่ต้องติดตาม อย่างคุณภาพสินเชื่อบางประเภท เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย (สินเชื่อบ้าน) สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อบัตรเครดิต

 

ทั้งนี้ทางภาครัฐมีการออกมาตรการเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน เช่น การส่งเสริมความรู้ทางการเงินเชิงรุกแบบเน้นกลุ่มเป้าหมาย ทั้งกลุ่มอาชีวศึกษา กลุ่มวัยเริ่มทำงาน กลุ่มเด็กและเยาวชน และกลุ่มเกษตรกร, การกำกับดูแลให้เกิดการเป็นหนี้อย่างเหมาะสมทั้งในด้านผู้ก่อหนี้และผู้ปล่อยกู้โดยธนาคารแห่งประเทศไทย และการช่วยเหลือลูกหนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและปรับโครงสร้างหนี้

 

หนี้ครัวเรือน

 

หนี้ครัวเรือนไทยที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนสูงไม่ได้เกิดขึ้นกับไทยแค่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่ขยายตัวแตะระดับ 82% ของ GDP ในปี 2556 เป็นผลจากปี 2554-2555 ที่มีนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรกของภาครัฐ (โครงการรถยนต์คันแรก) และภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเอื้อให้คนก่อหนี้ ขณะที่บางส่วนต้องการกู้เงินเพื่อซ่อมแซมบ้านหลังน้ำท่วมในปี 2554 รวมถึงสถาบันการเงินหันมาปล่อยสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น 

 

ทั้งนี้ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ขยายตัวเร่งขึ้นในปี 2558 มาอยู่ที่ 80.8% และทยอยปรับลดลง ซึ่งปี 2559 อยู่ที่ 79.3% ปี 2560 อยู่ที่ 78.05% และกลับมาขยับเพิ่มขึ้นในปี 2561 อยู่ที่ 78.6% และไตรมาส 2 ปี 2562 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 78.7%

 

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยลง อาจเพราะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว และสถาบันการเงินบางส่วนเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าหนี้ครัวเรือนหมายถึงเงินที่สถาบันการเงินให้กู้ยืมกับบุคคลธรรมดาที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเก็บข้อมูลได้ จึงไม่รวมหนี้นอกระบบ 

 

หนี้ครัวเรือน

 

ธนาคารแห่งประเทศไทยออก 4 มาตรการคุมสินเชื่อแก้หนี้ครัวเรือน ขั้นต่อไปคือมาตรการ DSR ‘กู้ไม่เกินตัว’

ที่ผ่านมาจะเห็นธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการต่างๆ มาดูแลการก่อหนี้ของคนไทย เช่น 

 

ปี 2560 มีการปรับเกณฑ์สินเชื่อบัตรเครดิตอย่างการกำหนดรายได้ขั้นต่ำและวงเงินสินเชื่อตามระดับรายได้ของผู้กู้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ นอกจากจะกำหนดรายได้ขั้นต่ำและวงเงินสินเชื่อตามระดับรายได้ของผู้กู้ ยังจำกัดจำนวนผู้ให้บริการสำหรับผู้กู้ที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 30,000 บาท (เป็นกลุ่มที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่าเปราะบางกว่ากลุ่มอื่นๆ) 

 

ปี 2562 สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ถูกนำเข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย

 

สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมีการปรับเกณฑ์กำหนดอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) อีกครั้งเพื่อลดการเก็งกำไรในกลุ่มคนที่ซื้อบ้านหลังที่ 2 ขึ้นไป นอกจากนี้ยังมีนโยบายท่ีจะให้ความรู้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ตาม มีข่าวคราวมาตั้งแต่ปี 2562 ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับธนาคารพาณิชย์ ออกมาตรฐานกลาง DSR หรือการกำหนดมาตรฐานวิธีการคำนวณสัดส่วนภาระหนี้ที่ผู้กู้มีทั้งหมดต่อรายได้ หรือ Debt Service Ratio เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ลดปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ 

 

ทั้งนี้มาตรการ DSR อาจจะเรียกว่าเป็นมาตรการที่ตั้งเป้าหมายให้คนไทย ‘กู้ไม่เกินตัว’ คือธนาคารหรือสถาบันการเงินจะให้สินเชื่อในวงเงินตามความสามารถในการสร้างรายได้ ความสามารถในการชำระหน้ี และขณะเดียวกันการให้สินเชื่อต้องดูว่าลูกหนี้สามารถผ่อนชำระได้โดยยังดำรงชีพได้ด้วย เช่น ลูกหนี้จะมีค่างวดหรือมีการผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์ ผ่อนจ่ายบิลบัตรเครดิต ฯลฯ ได้ไม่เกิน 40% ของรายได้ทั้งหมด ดังนั้นในอีกทางหนึ่งธนาคารอาจปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้ได้น้อยลง 

 

สุดท้ายแล้วแม้ว่าหนี้ครัวเรือนจะอยู่ในระดับสูงต่อไป แต่ถ้าโครงสร้างของหนี้เปลี่ยนไปในทางที่ดี คือการก่อหนี้ที่สร้างหนี้รายได้ย่อมส่งผลที่ดีต่อประเทศ ดังนั้นจุดสำคัญคือภาครัฐจะสนับสนุน ‘การสร้างรายได้’ ให้สมดุลกับ ‘การก่อหนี้’ ที่สร้างการเติบโตให้ประเทศอย่างไร

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X