ประเด็นร้อนเศรษฐกิจช่วงนี้ถ้าไม่นับเรื่องการกลับมาระบาดรุนแรงของโควิดระลอกใหม่ ที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยกลับไปถดถอยซ้ำสองแล้ว คงหนีไม่พ้นเรื่องหนี้ครัวเรือน
ตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่ล่าสุด ซึ่งเป็นตัวเลข ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2564 เท่ากับ 14.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ที่ร้อยละ 90.5 สื่อหลายสำนักลงข่าวว่าเป็นตัวเลขที่สูงสุดในรอบ 18 ปี แต่จริงๆ แล้วควรจะบอกว่าเป็นตัวเลขที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่เริ่มมีการเก็บข้อมูลเป็นทางการเมื่อ 18 ปีที่แล้วมากกว่า
ก่อนการระบาดของโควิด สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยอยู่ที่ร้อยละ 79.8 ซึ่งก็เป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ตัวเลขที่พุ่งขึ้นมาเป็นร้อยละ 90.5 ประมาณ 2 ใน 3 มาจากการหดตัวของ GDP ขณะที่อีกประมาณ 1 ใน 3 มาจากการเพิ่มขึ้นของมูลหนี้เอง
มองไปข้างหน้า ตัวเลขหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาส 2 มีแนวโน้มทรงตัว หรืออาจปรับลดลงเล็กน้อยจากตัวเลข GDP ในไตรมาส 2 ที่คาดว่าจะขยายตัวเป็นบวกสูงพอสมควร จากผลของฐานต่ำในปีที่แล้วที่เศรษฐกิจหดตัวกว่าร้อยละ 12 อย่างไรก็ดีมองไกลถึงสิ้นปี ที่ตอนนี้หลายสำนักคาดการณ์ว่า GDP ปีนี้ทั้งปีจะขยายตัวประมาณร้อยละ 1 บวกลบ หากมูลหนี้ครัวเรือนในช่วงที่เหลือของปียังขยายตัวในอัตราใกล้เคียงกับที่ผ่านมา (ปีที่แล้วทั้งปี หนี้ครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 4.1 ขณะที่ในไตรมาส 1 ปีนี้ขยายตัวร้อยละ 4.6) คาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ณ สิ้นปี มีโอกาสแตะร้อยละ 93 ได้
ทั้งนี้ ตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ผมยกมาข้างต้น ยังไม่ได้รวมหนี้กองทุนหมู่บ้าน หนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หนี้กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) และสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ซึ่งมียอดรวมกันประมาณ 5 แสนล้านบาท ไม่ได้รวมหนี้ที่สถาบันการเงินตัดหนี้สูญไปแล้ว แต่ยังเป็นหนี้ในมุมของผู้กู้ และไม่ได้รวมหนี้นอกระบบ ซึ่งไม่มีใครมีตัวเลขที่แท้จริง ซึ่งหมายความว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่แท้จริงเลวร้ายกว่าตัวเลขที่เราเห็นมาก
นอกจากนี้ เมื่อเจาะลึกลงไปที่โครงสร้างของหนี้ครัวเรือนไทย พบว่าหนี้เพื่อการบริโภค ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตซึ่งเป็นหนี้ระยะสั้นและดอกเบี้ยแพงมีสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด ต่างจากนานาประเทศที่หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งมีอายุสัญญายาวและดอกเบี้ยต่ำ ทำให้ภาระการชำระหนี้ต่อรายได้ต่อเดือนของครัวเรือนไทยสูงมาก โดยจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดพบว่า ณ สิ้นปี 2563 ประมาณ 1 ใน 4 ของครัวเรือนไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้
ในมุมมองเศรษฐกิจมหภาค ระดับของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP และสัดส่วนของครัวเรือนที่มีความเสี่ยงในการชำระหนี้ที่สูงแบบนี้ ไม่เพียงจะฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ (เพราะเมื่อมีรายได้เข้ามา ครัวเรือนต้องเอาไปชำระหนี้ก่อนเป็นลำดับแรก ที่เหลือจึงจะเอาไปจับจ่ายใช้สอย) แต่มีความสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่จะเห็นการผิดนัดชำระหนี้เป็นวงกว้างจนกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศ ที่เรายังไม่เห็นปัญหานี้ เนื่องจากที่ผ่านมามีมาตรการพักชำระหนี้และมาตรการลดค่างวดขั้นต่ำของสถาบันการเงิน ประกอบกับวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
มาตรการเร่งด่วนเฉพาะหน้าในด้านการคลังคือ การเยียวยาครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด โดยเฉพาะจากการล็อกดาวน์ เพื่อให้พวกเขาอยู่รอดได้โดยไม่ต้องก่อหนี้เพิ่ม ขณะที่ในด้านการเงินคือ การเร่งปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนที่มีภาระชำระหนี้สินเกินตัวให้สามารถไปต่อได้
จากฐานข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ และของ ธปท. ที่ครอบคลุมลูกหนี้รายย่อยของธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ธุรกิจบัตรเครดิต และธุรกิจเช่าซื้อ รวมเกือบ 15 ล้านคน พบว่า ภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจ ณ เดือนมิถุนายน ของ ธปท. ถ้าจะช่วยให้ลูกหนี้ที่มีหนี้สินเกินตัวทั้งหมดสามารถไปต่อได้ มีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างหนี้โดยวิธีที่สถาบันการเงินต้องมีส่วนสูญเสีย ได้แก่ การลดดอกเบี้ยและ/หรือการลดเงินต้นในหลักแสนล้าน (ยังไม่นับหนี้ที่อยู่นอกฐานข้อมูล โดยเฉพาะสหกรณ์) ภายในสิ้นปี 2565 ขณะที่ยอดการปรับโครงสร้างหนี้ในรูปแบบข้างต้นในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในหลักหมื่นล้าน ชี้ว่าเราต้องเร่งการปรับโครงสร้างหนี้แบบจริงจังให้มากขึ้นและเร็วขึ้น
ข่าวดีคือผลกำไรของสถาบันการเงินที่ประกาศออกมาล่าสุด ชี้ว่าสถาบันการเงินมีความสามารถที่จะช่วยลูกหนี้ได้มากกว่าที่ผ่านมาอีกพอสมควร อย่างไรก็ดีสถาบันการเงินก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดเช่นกัน หากปล่อยให้ภาระการช่วยเหลือลูกหนี้ตกกับสถาบันการเงินทั้งหมด ยังไม่ต้องพูดถึงการปรับโครงสร้างหนี้ในหลักแสนล้าน เอาแค่หยุดการเดินดอกเบี้ยระหว่างการพักหนี้ในวงกว้างตามที่เสนอกัน อาจจะกระทบความเชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงินจนนำไปสู่วิกฤตสถาบันการเงินได้ จึงจำเป็นต้องพิจารณาบทบาทของภาครัฐและ/หรือตลาดทุนในการช่วยเหลือลูกหนี้ประกอบไปด้วย
หากเราสามารถช่วยครัวเรือนที่มีหนี้สินเกินตัวให้สามารถไปต่อได้ ระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยก็จะลดลงโดยปริยาย อย่างไรก็ดีในมุมมองมหภาค การปรับลดเฉพาะหนี้ในปัจจุบันของลูกหนี้ที่มีหนี้สินเกินตัวนั้น ไม่เพียงพอที่จะกดสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ลงมาในระดับที่ปลอดภัยในระยะยาวได้ แต่จำเป็นต้องคุมกำเนิดหนี้ในอนาคต หลังจากเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวดีด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ในขณะที่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยหากมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินมีความรัดกุม สามารถปล่อยให้ขยายตัวสูงกว่า GDP ได้พอสมควร เพื่อปรับสมดุลโครงสร้างของหนี้ครัวเรือนไทยให้มีเสถียรภาพมากขึ้น
สุดท้ายที่ผมเขียนมาทั้งหมดนั้นเป็นการจัดการเฉพาะหนี้ในระบบ ถ้าไม่มีการจัดการหนี้นอกระบบไปพร้อมๆ กัน เราไม่มีทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างเบ็ดเสร็จได้ เพราะอัตราดอกเบี้ยของหนี้นอกระบบนั้นสูงมาก (เฉลี่ยร้อยละ 20 ต่อเดือน เท่าที่ผมสำรวจมา) ถ้าภาระหนี้ที่ลดลงจากการลดหนี้ในระบบไม่เพียงพอที่จะปิดหนี้ในระบบ สุดท้ายหนี้นอกระบบก็จะพอกพูนจนท่วมหัวอยู่ดี
เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้มีโอกาสคุยกับซีอีโอของบริษัท Noburo ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสวัสดิการด้านการเงิน เธอเล่าให้ฟังว่าได้ร่วมกับลูกค้าซึ่งเป็นเชนร้านอาหารใหญ่แห่งหนึ่ง ปล่อยสินเชื่อสวัสดิการดอกเบี้ยต่ำให้กับพนักงานเพื่อไปปิดหนี้นอกระบบ ซึ่งช่วยให้พนักงานจำนวนมากที่มีการพึ่งพาหนี้นอกระบบพ้นจากภาระหนี้สินเกินตัวได้
ความท้าทายคือ จะทำอย่างไรจึงจะนำวิธีของ Noburo ซึ่งเป็นเพียงแพลตฟอร์มเล็กๆ ไปใช้กับคนหมู่มากได้ สถาบันการเงินแรกที่ผมนึกถึงคือธนาคารออมสินที่ลูกค้าจำนวนไม่น้อยน่าจะมีเงินกู้นอกระบบ และมีประสบการณ์กับโครงการสินเชื่อเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบมาแล้วหลายโครงการ เพียงแต่ที่ผ่านมาวงเงินรวมไม่มากนัก และวงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอที่จะปิดหนี้นอกระบบสำหรับลูกหนี้จำนวนหนึ่ง
แน่นอนว่าการปล่อยสินเชื่อใหม่ในยามนี้มีความเสี่ยงสูง ในเบื้องต้นกลุ่มลูกหนี้ที่ออมสินอาจจะใช้นำร่องในการปิดหนี้นอกระบบได้ คือกลุ่มครูและข้าราชการ 2.8 ล้านบัญชี โดยใช้เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเป็นหลักประกัน และเงื่อนไขให้ออมสินสามารถหักเงินเดือนข้าราชการได้โดยตรง ซึ่งน่าจะทำให้โครงการนี้มีคาดการณ์ความเสียหายที่ต่ำ
โดยสรุป ภาระหนี้ครัวเรือนของไทยเปรียบเสมือนระเบิดเวลาลูกใหญ่ มาตรการพักชำระหนี้ไม่สามารถต่อไปได้เรื่อยๆ โดยไม่มีวันสิ้นสุด และดอกเบี้ยสักวันหนึ่งก็ต้องกลับสู่วัฏจักรขาขึ้น การเร่งถอดชนวนระเบิดโดยการปรับโครงสร้างหนี้และการจัดการหนี้นอกระบบ เป็นกุญแจสำคัญในการนำพาเศรษฐกิจไทยให้รอดพ้นจากวิกฤตหนี้ครัวเรือนที่แอบแฝงอยู่ใต้เงาของวิกฤตโควิด
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย